ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน 2555
เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายทหารสหรัฐต่อเอเชียล่าสุดในระหว่างการประชุม
Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้
จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว และยุทธศาสตร์ทหารสหรัฐต่อภูมิภาคล่าสุด ดังนี้
ภาพรวม
สหรัฐตระหนักดีว่า ความมั่นคงและความมั่งคั่งของสหรัฐขึ้นอยู่กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นเรื่อยๆ
ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในโลก มีประชากรมากที่สุดในโลก
และมีกองกำลังทหารมากที่สุดในโลกด้วย ด้วยแนวโน้มดังกล่าว เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า
สหรัฐจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ในลำดับสูงสุด
โดยนโยบายทางทหารก็จะให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากที่สุด
พันธมิตร
สำหรับยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐที่สำคัญที่สุด
คือ การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยสหรัฐมีพันธมิตรหลักอยู่ 5 ประเทศ
ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย
ญี่ปุ่น: พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น จะยังคงเป็นเสาหลักของความมั่นคงในภูมิภาค
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้มีการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร และได้มีการถ่ายโอนทหารบางส่วน
จากโอกินาวาไปที่เกาะกวม สหรัฐมีนโยบายที่จะพัฒนาเกาะกวมให้เป็นศูนย์กลางและเป็นฐานทัพทางทหารในภูมิภาค
เกาหลีใต้: เสาหลักของความมั่นคงในภูมิภาคอีกเสา
คือ พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้
โดยสหรัฐจะยังคงกองกำลังทหารในเกาหลีใต้ต่อไป
ออสเตรเลีย: ยุทธศาสตร์สหรัฐขณะนี้ จะมีการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น
โดยส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ การส่งกองกำลังทหารมาประจำการทางตอนเหนือของออสเตรเลียที่เมือง Darwin ซึ่งจะทำให้ทหารสหรัฐมีความคล่องตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรอินเดีย
ไทย: สำหรับประเทศไทยซึ่งสหรัฐถือเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่
จะมีการกระชับความร่วมมือทางการทหารมากขึ้น โดยที่ผ่านมา มีการซ้อมรบระหว่างไทยกับสหรัฐทุกปีภายใต้ชื่อ “COBRA GOLD” ซึ่งถือเป็นการซ้อมรบทางทหารที่มีความสำคัญในระดับโลก
ฟิลิปปินส์: เมื่อเดือนที่แล้ว ได้มีการจัดประชุมเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของฟิลิปปินส์กับรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐ
ซึ่งเรียกการประชุมว่า “2+2” สหรัฐจะให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของฟิลิปปินส์
โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์
สิงคโปร์: อีกประเทศที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐในภูมิภาค
คือ สิงคโปร์ ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐกับสิงคโปร์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต
โดยเฉพาะการที่สิงคโปร์จะเป็นท่าเรือสำคัญของเรือรบสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ ที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารด้วย
อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และนิวซีแลนด์ โดย Leon Panetta รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่สิงคโปร์
ก็ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามและอินเดียด้วย โดยเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกัน
สถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
อีกยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐในภูมิภาค
คือ ยุทธศาสตร์ต่อเวทีพหุภาคี โดยเฉพาะต่ออาเซียน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว Panetta ได้พบปะกับรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่บาหลี
ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการหารือระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ
สหรัฐสนับสนุนให้การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา หรือที่เรียกย่อว่า
ADMM+ กระชับความร่วมมือทางทหารในระดับพหุภาคีมากขึ้น
และสหรัฐก็สนับสนุนให้มีการประชุม ADMM+ บ่อยครั้งขึ้น
สหรัฐเห็นว่าสถาบันในภูมิภาค ควรจะพัฒนาบรรทัดฐานที่ปกป้องสิทธิของทุกประเทศในเรื่องของเสรีภาพในการเดินเรือ
ด้วยเหตุนี้ สหรัฐจึงสนับสนุนอาเซียนกับจีนในการจัดทำ Code of Conduct เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สำหรับปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
สหรัฐก็ติดตามอย่างใกล้ชิด จุดยืนของสหรัฐชัดเจน คือต้องการให้แก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต
หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง
โดยเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีและเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
การเพิ่มสมรรถนะภาพทางทหารของสหรัฐ
สหรัฐมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารในภูมิภาค
โดยมีแผนในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่จะสร้างเรือรบรุ่นใหม่ 40 ลำ ในอนาคตจะมีการเพิ่มจำนวนและขนาดของการซ้อมรบในภูมิภาค
และจะมีการเพิ่มการเยือนท่าเรือต่างๆของเรือรบสหรัฐ โดยภายในปี 2020 จะมีการปรับสัดส่วนกองทัพเรือของสหรัฐครั้งใหญ่
ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วน 50/50
เปอร์เซ็นต์ระหว่างกองกำลังในมหาสมุทรแปซิฟิกกับในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ในอนาคต สัดส่วนจะกลายเป็น
60% ในแปซิฟิก และ40% ในแอตแลนติก
บทวิเคราะห์
·
ภาพรวม
โดยรวมแล้ว ผมมองว่า
การประกาศยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ที่น่าตื่นเต้น
ส่วนใหญ่เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์เดิมๆของสหรัฐ แต่ที่สำคัญคือ แนวโน้มที่สหรัฐจะเพิ่มบทบาททางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ
ผมมองว่า สหรัฐมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงซึ่งเป็นวาระซ้อนเร้นที่ Panetta ไม่ได้ประกาศอยู่ 3 ยุทธศาสตร์หลักด้วยกัน
ยุทธศาสตร์แรก คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้าทางทหาร ยุทธศาสตร์ที่สองคือ
ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร และยุทธศาสตร์ที่สามคือ การทำให้สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมความมั่นคงในภูมิภาค
·
ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน
สำหรับยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของสหรัฐคือ
ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน แม้ว่า Panetta จะไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ขณะนี้
China Factor กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนบทบาททางทหารของสหรัฐในภูมิภาค
·
พันธมิตรใหม่
แนวโน้มอีกประการของยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐล่าสุด
คือ การขยายพันธมิตรและประเทศหุ้นส่วนออกไปจากเดิมที่มีแค่ 5
ประเทศโดยสหรัฐต้องการใกล้ชิดกับหลายประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะ เวียดนาม อินเดีย
และอินโดนีเซีย
·
ไทย
ซึ่งแนวโน้มการขยายพันธมิตรออกไป
จะกระทบต่อสถานะการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยสหรัฐจะมีตัวเลือกมากขึ้น
ไทยมีแนวโน้มจะมีความสำคัญต่อสหรัฐลดลง ไทยอาจตกชั้นจากพันธมิตรชั้น 1
และประเทศที่กำลังจะแทรกหน้าไทยในความใกล้ชิดกับสหรัฐ คือ สิงคโปร์ เวียดนาม
และอินโดนีเซีย
และด้วยบริบทที่สหรัฐกำลังต้องการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค
ประเด็นเรื่องที่สหรัฐจะมาใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติ
รวมทั้งการที่องค์การ NASA จะขอมาใช้สนามบินอู่ตะเภาทำการศึกษาสำรวจภาวะอากาศนั้น
จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค
ประเด็นเรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา
โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาโจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า การที่ให้ NASA มาใช้สนามบินอู่ตะเภา จะกระทบต่อความมั่นคงของไทยและจะกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและจีน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ออกมายืนยันว่า การใช้สนามบินอู่ตะเภาของ NASAจะไม่กระทบต่อความมั่นคงและอำนาจอธิปไตยของไทย
ผมมองว่าในปัญหาเรื่องการใช้สนามบินอู่ตะเภาของสหรัฐในครั้งนี้
เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึง dilemma ของไทยในความสัมพันธ์กับสหรัฐ
โดยไทยกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก คือ หากเราไม่ร่วมมือทางทหารกับสหรัฐ
สหรัฐก็จะไม่พอใจไทยมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐมีแนวโน้มลดความสำคัญไทยอยู่แล้ว ไทยจึงอาจจะถูกลดชั้นจากพันธมิตรชั้น
1 ได้ แต่หากไทยไปร่วมมือทางทหารกับสหรัฐมากเกินไป ก็อาจจะทำให้จีนไม่พอใจ
จุดยืนทางการทูตของไทยที่ดำเนินมาตลอดคือ ดำเนินนโยบายสายกลางหรือนโยบาย “ ตีสองหน้า” ที่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับจีนและสหรัฐ ไทยไม่ต้องการเลือกข้าง
แต่แนวโน้มในอนาคต คือไทยจะถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะต้องเลือกข้าง ซึ่งก็จะเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของการทูตไทยในอนาคตว่า
เราจะดำเนินการทูตแบบ “ ตีสองหน้า”ไปได้นานสักเพียงใด
1 ความคิดเห็น:
ทางการญี่ปุ่นเปิดตัวเรือรบอิซูโม (Izumo) เรือรบรุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นต่อเองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กองทัพญี่ปุ่นจัดให้เรือดังกล่าวอยู่ในชั้นเรือพิฆาต แต่สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 9-14 ลำ และอาจบรรทุกเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-35 จึงมีข้อวิพากษ์ว่าญี่ปุ่นกำลังเสริมกำลังรบขนาดใหญ่หรือไม่ จะกระทบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไร
http://www.chanchaivision.com/2013/08/Asia-Pacific-Security-130815.html
แสดงความคิดเห็น