Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ปัญหาการค้าไทย-สหรัฐฯ ปี 2008

ปัญหาการค้าไทย-สหรัฐฯ ปี 2008

ตีพิมพ์ใน : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานผู้แทนการค้าหรือ USTR ของสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานประจำปี 2008 เสนอต่อสภาคองเกรส เกี่ยวกับปัญหาทางการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์รายงานดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับไทย ดังนี้

ภาพรวม

รายงานระบุว่า ตัวเลขในปี 2007 สหรัฐฯขาดดุลการค้าต่อไทยคิดเป็น 14,300 ล้านเหรียญ โดยสหรัฐฯส่งออกมาไทยมูลค่า 8,400 ล้านเหรียญ ในขณะที่นำเข้าจากไทยมูลค่า 22,800 ล้านเหรียญ ไทยถือเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 27 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯในไทยคิดเป็น 8,200 ล้านเหรียญในปี 2006

สำหรับการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯนั้น รายงานระบุว่า การเจรจาเริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2004 และมีการเจรจาไปแล้ว 7 รอบจนถึงปี 2006 แต่การเจรจาก็ต้องยุติลงภายหลังรัฐประหารในเดือนกันยายนปี 2006 ท่าทีของสหรัฐฯที่ปรากฏในรายงานระบุว่า สหรัฐฯยังไม่เปิดเผยท่าทีว่าอยากจะเจรจา FTA กับไทย ซึ่งผิดกับรายงานของเมื่อปีที่แล้ว ที่ท่าทีของสหรัฐฯคือจะเจรจาต่อหลังจากไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับในรายงานปีนี้ ท่าทีกลับเปลี่ยนเป็นว่า สหรัฐฯจะติดตามและประเมินพัฒนาการของไทย ภายหลังมีรัฐบาลใหม่ และจะได้กำหนดขั้นตอนที่เหมาะสมต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองต่อไป

ปัญหาภาษีศุลกากร

ปัญหาแรกที่รายงานของ USTR หยิบยกขึ้นมาคือ การที่ไทยมีภาษีศุลกากรที่สูง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของสินค้าสหรัฐฯมายังไทย ภาษาที่สูงครอบคลุมสินค้าเกษตร ยานยนตร์ เครื่องดื่ม สิ่งทอและสินค้ากระดาษ

สำหรับสินค้าเกษตรนั้น รายงานระบุว่า ไทยมีภาษีที่สูงนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออก โดยในปี 2007 การส่งออกสินค้าเกษตรของสหรัฐฯมายังไทย คิดเป็นมูลค่า 870 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม รายงานประเมินว่า หากไทยลดภาษีและลดมาตรการบิดเบือนทางการค้าลง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทยเพิ่มขึ้นได้ถึง 1,500 ล้านเหรียญต่อปี

ภาษีของไทยที่เกี่ยวกับสินค้าอาหารนั้น อยู่ระหว่าง 30-40 % ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน บางรายการสูงถึง 90% ภาษีเกี่ยวกับเนื้อ ผลไม้สด และผักสด ก็มีอัตราสูง และที่หนักที่สุดคือ ภาษีการนำเข้าไวน์จากสหรัฐฯซึ่งโดนภาษีเกือบ 400%

สำหรับภาษีที่เกี่ยวข้องกับสินค้ายานยนตร์นั้น ก็ถือว่าสูงที่สุดในอาเซียน โดยภาษีสำหรับรถยนต์โดยสารสูงถึง 80%

นอกจากนี้ ภาษีเกี่ยวกับสินค้าสิ่งทอของสหรัฐฯก็สูงประมาณ 20-30%

ทรัพย์สินทางปัญญา

ในรายงานของ USTR ได้โจมตีไทยว่า ได้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมากในไทย และขาดการบังคับใช้กฎหมาย ขาดการลงโทษผู้กระทำผิด ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ สูญเสียรายได้ในปี 2006 ถึง 308 ล้านเหรียญ

ในปี 2007 ไทยได้ถูกยกระดับในรายงาน special 301 เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากระดับ watch list หรือประเทศที่ต้องจับตามอง ซึ่งไทยอยู่ในระดับนี้มาตั้งแต่ปี 1994 แต่ในปี 2007 ไทยถูกยกระดับขึ้นเป็น priority watch list หรือประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามองเป็นพิเศษ ซึ่งในปี 2007 ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ถูกยกระดับ ซึ่งในสายตาของสหรัฐฯสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมลงของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในไทย

ในด้านสิทธิบัตรนั้น รายงานได้ระบุว่า หน่วยงานสิทธิบัตรของไทยไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ทำให้การยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรล่าช้า ต้องใช้เวลา 5-10 ปีหรือมากกว่านั้น โดยเฉพาะในกรณีสิทธิบัตรยา ในขณะที่การเสนอขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นแต่จำนวนสิทธิบัตรกลับลดลง ในเดือนมกราคม ปี 2008 สภาได้อนุมัติแผนการของไทยที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก Paris Convention และ Patent Cooperation Treaty แต่ในขณะนี้รัฐบาลไทยก็ยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะภาคยานุวัติ

สำหรับในเรื่องสิทธิบัตรยานั้น เราคงจำกันได้ว่า เมื่อปีที่แล้วก็มีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่อง CL ซึ่งถูกมองว่า อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ไทยถูกยกระดับ เป็น PWL สำหรับรายงานของ USTR ในปีนี้ก็ยังคงตอกย้ำเรื่อง CL โดยท่าทีของสหรัฐฯคือ ยอมรับว่าไทยมีสิทธิที่จะทำ CL เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุข แต่สหรัฐฯก็ไม่พอใจไทยโดยมองว่า ไม่มีความโปร่งใสในกระบวนการทำ CL และมีแนวโน้มว่า ฝ่ายไทยจะขยายจำนวนยาที่จะทำ CL มากขึ้น

ในกรณีของลิขสิทธิ์นั้น ในรายงานระบุว่า ถึงแม้ว่าไทยจะมีกฎหมายใหม่ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับ ซีดี หรือดีวีดี แต่รายงานก็ระบุว่า กฎหมายดังกล่าวยังมีช่องโหว่หลายเรื่อง ฝ่ายสหรัฐฯจะเดินหน้าต่อไปในการบีบไทยเพื่อให้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้โจมตีไทยว่า ไทยยังไม่ยอมที่จะภาคยานุวัติสนธิสัญญาต่างๆที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์

เช่นเดียวกับในกรณีของเครื่องหมายการค้า รายงานระบุว่า ไทยยังไม่ยอมเข้าร่วมกับ Madrid Protocol
รายงาน USTR โจมตีไทยอย่างมากในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และบอกว่า หน่วยงานของไทยไร้ประสิทธิภาพในเรื่องนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ถูกโจมตีว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนศาลทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมักจะเป็นการลงโทษที่เบาเกินไปที่จะป้องปรามพฤติกรรมการละเมิดได้

อุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯได้แสดงความห่วงใยต่อการเพิ่มขึ้นของการละเมิดลิขสิทธิ์ของซีดีและดีวีดีในไทย กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพ การลงโทษก็อ่อนเกินไปที่จะป้องปรามการละเมิด และหน่วยงานรัฐบาลไทยก็ไม่มีประสิทธิภาพ

การค้าภาคบริการ

สำหรับในด้านการค้าภาคบริการนั้น รายงานของ USTR ได้โจมตีไทยในหลายสาขา โดยในด้านโทรคมนาคมนั้น ถึงแม้ว่ารายงานจะระบุว่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูปกฎระเบียบด้านโทรคมนาคม แต่ก็ยังมีอุปสรรคอย่างมากต่อการลงทุนจากต่างชาติในสาขานี้

สำหรับในด้านการเงินนั้น รายงานระบุว่า ยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการทำธุรกิจของต่างชาติในสาขานี้ สถาบันการเงินต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือหุ้นเพียง 49% ในสถาบันการเงินของไทย โดยจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป

นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายเกี่ยวกับธนาคารของไทย ปี 1962 อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้เพียง 25% ในธนาคารของไทย อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันการเงินฉบับใหม่ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 49% แต่ธนาคารต่างชาติที่ทำธุรกิจในไทยก็ยังประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ ฝ่ายไทยอนุญาตให้มีสาขาได้เพียง 1 สาขา

สำหรับในสาขาด้านการขนส่งนั้น รายงานของ USTR ระบุว่า กฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจการขนส่งได้เพียง 49% ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนโดยเฉพาะในธุรกิจการให้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ

สำหรับในสาขาด้านโรงพยาบาลนั้น รายงานระบุว่า นโยบายของรัฐบาลไทยสร้างข้อจำกัดอย่างมากต่อการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะการไม่มีความโปร่งใสในเรื่องหลักเกณฑ์การถือหุ้นและการบริหารโรงพยาบาล
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า รายงานของ USTR ในปี 2008 นี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้มองว่าไทยมีอุปสรรคทางการค้าต่อผลประโยชน์ด้านการค้าของสหรัฐฯอยู่มากมายหลายเรื่อง ซึ่งหากในอนาคต ถ้ามีการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ขึ้นมา ผมก็แน่ใจว่า ประเด็นเหล่านี้ทางฝ่ายสหรัฐฯคงจะหยิบยกขึ้นมาเจรจา และกดดันไทยอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: