Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ประชาคมโลก กับวิกฤตพายุ Nagis

ประชาคมโลก กับวิกฤตพายุ Nagis

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


สถานการณ์ปัจจุบัน

หลังจากที่พายุไซโคลน Nagis ได้พัดถล่มพม่ามาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ขณะนี้ทางการพม่าได้ประกาศว่า มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 80,000 คน และมีผู้สูญหายอีกประมาณ 55,000 คน รวมแล้วคงมีผู้เสียชีวิตกว่าแสนคน โดยทางสหประชาชาติได้ประเมินว่า คงจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 130,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ประสบความยากลำบาก ขาดทั้งอาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัย อีกประมาณ 2,500,000 คน แต่เวลาได้ล่วงเลยไป 3 อาทิตย์แล้ว รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่คนเหล่านี้ได้
ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความช่วยเหลือจากนานาชาติก็ถูกกีดกัน โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากตะวันตก ที่รัฐบาลทหารพม่ากลัวว่า จะเป็นช่องทางในการเข้ามาแทรกแซง และกระทบต่อระบอบเผด็จการของตน ขณะนี้ ความช่วยเหลือจึงมีอยู่น้อยมาก ขาดทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย ขาดทั้งการลำเลียงขนส่ง ขาดทั้งผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยทาง UN ประเมินว่า ความช่วยเหลือขณะนี้เข้าถึงได้เพียง 10% เท่านั้น ของจำนวนคน 2.5 ล้านคน

World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการให้ความช่วยเหลือทางอาหาร ขณะนี้ มีอาหารที่จะต้องแจกจ่ายประมาณ 375 ตันต่อวัน แต่ขณะนี้ ลำเลียงและแจกจ่ายได้เพียง 10-20% เท่านั้น
บทบาทของตะวันตก

ในช่วงที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้พยายามที่จะเข้าไปช่วยเหลือพม่า โดยประเทศร่ำรวยน่าจะมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือได้มาก

สหรัฐฯได้พยายามที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไป แต่รัฐบาลทหารพม่าซึ่งมองสหรัฐฯเป็นศัตรู ก็ไม่ยอมรับความช่วยเหลือ จนมาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมนี้เอง หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากประชาคมโลก รัฐบาลพม่าจึงยอมให้เครื่องบินสหรัฐฯ C130 ลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในพม่าได้เป็นลำแรก ในเครื่องบินลำดังกล่าว มีนายพล Keating ผู้บัญชาการกองกำลังของสหรัฐฯในภาคพื้นแปซิฟิก อยู่ด้วย และนายพล Keating ได้พบปะกับผู้นำทหารพม่าที่สนามบินย่างกุ้งด้วย ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่มีการพบปะกันระหว่างทหารสหรัฐฯกับทหารพม่า อย่างไรก็ตาม การเจรจาก็ล้มเหลว และ Keating ก็ต้องบินกลับ เพราะทางฝ่ายทหารพม่าไม่ยอมรับ การที่สหรัฐฯจะส่งทหารเข้าไปช่วย

สหรัฐฯนั้น มีศักยภาพอย่างมากในการจัดการกับภัยพิบัติ เมื่อตอนคลื่นยักษ์ซึนามิ ปี 2004 สหรัฐฯได้มีบทบาทสำคัญ โดยในขณะนี้ มีทหารประมาณ 4,000 คน เครื่องบิน C130 อยู่ 6 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์กว่า 10 ลำ จอดรออยู่ในประเทศไทย และมีเรือรบอีก 3 ลำ ลอยลำอยู่ใกล้ชายฝั่งของพม่า พร้อมจะให้ความช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมง แต่พม่าก็ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

ประธานาธิบดี Bush ถึงกับออกมากล่าวว่า ความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือ แสดงให้เห็นถึงการเมินเฉยของรัฐบาลพม่า และกล่าวหารัฐบาลทหารพม่าว่า ความล่าช้าในการช่วยเหลือทำให้คนต้องเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

สำหรับสหภาพยุโรป ได้มีการประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ และได้มีมติที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือต่อชาวพม่า EU ได้ส่งผู้แทนพิเศษชื่อ Louise Michel เดินทางไปกรุงย่างกุ้ง และได้พบปะเจรจากับรัฐมนตรีพม่าที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไร้ผล

รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส คือ Bernard Kouchner จึงเสนอให้คณะมนตรีความมั่นคงมีมติแทรกแซงด้วยหลักการมนุษยธรรม ภายใต้หลักการที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบในการปกป้อง” (responsibility to protect) โดยหลักการดังกล่าว ได้ตกลงกันในการประชุมสุดยอดของ UN เมื่อปี 2005 โดยมองว่า หากรัฐบาลล้มเหลวและปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือรัฐบาลกลายเป็นกลไกในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติแล้ว ประชาคมโลกก็มีสิทธิจะเข้าไปแทรกแซง โดยทางฝรั่งเศสได้บอกว่า พฤติกรรมของรัฐบาลทหารพม่าในขณะนี้ เข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับพม่าก็ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะจีน รัสเซีย และเวียดนาม โดยบอกว่า การแทรกแซงจะทำได้ ต้องเป็นกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเท่านั้น ซึ่งในกรณีของพม่าในขณะนี้ไม่เข้าข่าย

นอกจากนี้ หลายๆฝ่ายใน UN ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฝรั่งเศส เพราะมองว่า จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก จะก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากับรัฐบาลทหารพม่า และจะเป็นการตัดช่องทางในการติดต่อเจรจากับรัฐบาลทหารพม่า สหรัฐฯและอังกฤษซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส แต่ในกรณีนี้ ก็ไม่ประกาศสนับสนุนข้อเสนอของฝรั่งเศส

บทบาทของ UN

สำหรับ UN นั้น ได้พยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะเลขาธิการ UN คือ Ban Ki Moon ได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์กับผู้นำพม่าคือ นายพล ตัน ฉ่วย แต่ก็ไร้ผล นาย Ban จึงได้แสดงความห่วงใยและบอกว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ต่อการเฉื่อยชาของรัฐบาลพม่า
ต่อมา นาย Ban ได้ส่งรองเลขาฯUN รับผิดชอบด้านมนุษยธรรม คือ Sir John Holmes เดินทางไปพม่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อเจรจากับทางฝ่ายพม่า

และล่าสุด นาย Ban ได้ตัดสินใจที่จะเดินทางไปพม่า และพบปะกับทางฝ่ายพม่า ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ นาย Ban กำลังจะพบปะเจรจากับทางฝ่ายทหารพม่า และ UN กับอาเซียนกำลังจะจัดให้มีการประชุมระหว่างประเทศที่เรียกว่า high level pledging conference ที่กรุงย่างกุ้งในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้

บทบาทของอาเซียน

เป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ตลอดเวลา 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาเซียนแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ทั้งๆ ที่พม่าเป็นสมาชิกของอาเซียนแท้ๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ประเทศตะวันตกและ UN กลายเป็นตัวแสดงสำคัญที่กดดันและเสนอความช่วยเหลือ ตลอดเวลาที่ผ่านมา อาเซียนกลับไม่ได้ทำอะไรเลย มีเพียง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาฯอาเซียนที่ออกมาเรียกร้อง และมีการให้ความช่วยเหลือในระดับทวิภาคีเท่านั้น โดยเฉพาะ ความช่วยเหลือจากประเทศไทย

จนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาเซียนถึงได้จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนสมัยพิเศษ ที่สิงค์โปร์

อาเซียนนั้น จริงๆ แล้ว มีปฏิญญาที่จะจัดการกับภัยพิบัติมาตั้งแต่ปี 1976 และต่อมาก็มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการกับภัยพิบัติ แต่เป็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ที่ข้อตกลงเหล่านี้ เป็นเพียงแค่กระดาษ เพราะเมื่อถึงภาวะวิกฤตจริงๆ อาเซียนก็ไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือใด ๆได้
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก็ถือเป็นความคืบหน้าของอาเซียนในการที่จะมีบทบาทในเรื่องนี้ ถึงแม้จะช้ามาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
โดยที่ประชุมได้ตกลงที่จะจัดตั้งกลไกประสานงานของอาเซียนขึ้นมา โดยจะใช้ตัวอย่างจากในกรณีของซึนามิเมื่อปี 2004 กลไกดังกล่าวจะช่วยในเรื่องของการประสานความช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่ขณะนี้ ก็ยังไม่ได้กำหนดรูปร่างหน้าตาว่า กลไกดังกล่าวจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้จัดตั้ง คณะทำงานพิเศษ โดยมีเลขาธิการอาเซียน คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณเป็นหัวหน้า และกำหนดที่จะส่งดร.สุรินทร์ ไปพม่า อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า อาเซียนนั้นเชื่องช้าเป็นอย่างมาก เพราะกว่าที่เราจะส่งผู้แทนอาเซียนเข้าไป คือเลขาฯอาเซียน ทาง EU ก็ได้ส่งผู้แทนเข้าไปแล้ว และเลขาฯUN ก็ได้เข้าไปแล้ว อาเซียนเข้าไปช้ากว่าเพื่อน

เราคงจะต้องจับตามอง การประชุมที่อาเซียนกับ UN จะร่วมกันจัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้งในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ผมหวังว่า อาเซียน UN และประเทศที่น่าจะเข้าร่วมด้วยคือ จีน อินเดีย สหรัฐฯ คงจะสามารถหว่านล้อมให้พม่าเปิดประตูให้แก่ความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือชาวพม่ากว่า 2 ล้านคนได้ทัน

ไม่มีความคิดเห็น: