Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ไทย กับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (ตอนจบ)

ไทย กับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึงปัญหาเกี่ยวกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของหลักการนี้ และวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันที่ความหมายของหลักการนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะที่มาเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน และเรื่องอำนาจอธิปไตย โดยได้กล่าวถึงหลักการที่เปลี่ยนไปในระดับโลกไปแล้ว สำหรับคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาดูในบริบทของอาเซียน และจะวิเคราะห์ถึงจุดยืนและท่าทีของไทย ต่อหลักการดังกล่าว

อาเซียน


นอกจาก UN แล้ว องค์กรระดับภูมิภาค เช่น EU หรือ OSCE ก็มีกฎเกณฑ์ว่า ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ ถ้าละเมิดสิทธิมนุษยชน EU หรือ OSCE จะเข้าไปแทรกแซงได้ นี่กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในองค์กรระดับภูมิภาค

สำหรับอาเซียนนั้น ประเทศที่กลัวเรื่องการแทรกแซงกิจการภายใน คือประเทศเผด็จการ ซึ่งรู้ว่าตัวเองทำผิด เป็นเผด็จการ เป็นแกะดำในสังคมโลก และสิ่งที่ตัวเองกลัวที่สุดคือ กลัวว่าจะมีการแทรกแซง ที่จะมาล้มล้างระบอบเผด็จการของตน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประเทศเผด็จการจะป่าวประกาศออกมาตลอดเวลาก็คือ ต้องยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพื่อทำให้ระบอบของตนเองอยู่รอด

จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ประเทศเผด็จการจะพูดออกมาแนวนี้เหมือนกันหมด คือต้องยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน จีนเป็นเผด็จการ จีนก็เน้นประเด็นนี้ ขณะเดียวกัน ประเทศประชาธิปไตยก็จะไม่เน้นประเด็นนี้ เพราะไม่กลัวอยู่แล้วว่า ตนจะถูกแทรกแซง เพราะไม่ได้มีความผิดอะไร ตนเองเป็นประชาธิปไตย ตนเองจะกลัวอะไร

แต่ตอนนี้ ในอาเซียน ยังมีประเทศเผด็จการอยู่หลายประเทศ ตั้งแต่พม่า ลาว เวียดนาม เขมรก็ไม่ค่อยดีนัก ไทยเราก็เพิ่งมีปฏิวัติรัฐประหารไป ประชาธิปไตยก็ไม่เต็มใบ มาเลเซีย สิงคโปร์ ประชาธิปไตยก็ไม่เต็มใบ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียก็ดีหน่อย บรูไนก็ยังเผด็จการ โดยภาพรวม อาเซียนยังมีประเทศเผด็จการอยู่หลายประเทศ ส่วนใหญ่คือเผด็จการ จุดนี้นี่เอง ทำให้อาเซียนยังคงยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพราะเสียงส่วนใหญ่เป็นเผด็จการ

แต่อาเซียนก็ถูกกระแสโลก กระแสสากลบีบมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกระแสสากลระดับโลกเปลี่ยนไปแล้ว กติการะดับโลกเปลี่ยนไปแล้ว ในภูมิภาคอื่นเปลี่ยนไปแล้ว เริ่มมีกติกาใหม่ว่า อำนาจอธิปไตยมีเงื่อนไข เพราะฉะนั้น ในระยะหลังๆ อาเซียนแม้ว่าจะยังตอกย้ำประเด็นนี้อยู่ในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัย อาเซียนก็ได้มีการผ่อนปรน ในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายใน

โดยเฉพาะในกรณีพม่า ถ้าเรายึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในแบบ 100% ก็จะต้องไม่มีใครเข้าไปยุ่งเรื่องพม่าเลย แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาเซียนก็ออกมาพูด ออกมายุ่ง แม้จะเป็นการยุ่งแบบเล็กน้อย ก็เป็นการเข้าไปแทรกแซง อาเซียนเวลามีประชุมกับพม่า ก็ให้พม่ามาพูดว่า ประชาธิปไตยไปถึงไหนแล้ว ล่าสุดก็เรียกร้องให้พม่าเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี นี่เป็นการแทรกแซงโดยพฤตินัย แต่อาเซียนก็ยังสับสนอยู่ คือกลัวๆกล้าๆ

สำหรับความเป็นไปได้ ที่กฎบัตรอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ก็น่าผิดหวัง เพราะตอนแรก เราหวังว่า กฎบัตรอาเซียนจะเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดของอาเซียน จะเป็นเอกสารที่มองไปข้างหน้า จะเป็น roadmap จะเป็น blue print สำหรับอาเซียน แต่ในที่สุด เมื่อมีการร่างกัน ก็ปรากฏว่า ประเทศเผด็จการ ประเทศน้องใหม่ กลัวนั่นกลัวนี่ กลัวว่าเดี๋ยวอาเซียนจะมีอำนาจมากไป เดี๋ยวจะมาแทรกแซง ก็ตัดตรงนั้นตรงนี้ทิ้ง

บางประเทศกลัวเรื่องข้อเสนอให้มีการโหวต ที่ผ่านมาอาเซียนใช้ระบบ consensus หรือฉันทามติ บางประเทศก็กลัวว่า ถ้ามีการโหวต ประเทศของตัวเองอาจมีปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น อาจจะมี 9 ประเทศต้องการแบบนี้ แต่ว่าพม่าไม่เอา ถ้าโหวต พม่าก็แพ้ 9 ต่อ 1 แต่ทีนี้ ถ้าเป็นระบบ consensus ถ้าพม่าไม่เอา พม่าวีโต้ ก็จบ

นอกจากนี้ มีข้อเสนอว่า น่าจะมีกลไกควบคุมตรวจสอบ การละเมิดข้อตกลงอาเซียน ละเมิดกฎบัตร ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในที่สุด กลไกนี้ถูกตัดไปหมด แต่ว่าก็ยังดี ที่มีมาตราในกฎบัตรอาเซียนระบุว่า จะมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แต่ก็เป็นการพูดกว้างๆ ว่า จะมีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนขึ้นมา แต่ว่า รูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร ต้องไปคุยกันต่อ ผมเดาว่า การไปคุยกันต่อน่าจะเปิดทางให้พม่าเข้ามามีบทบาท บอกว่าตรงนี้ไม่ได้ ตรงนั้นไม่ได้ กลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในที่สุดก็จะไม่มีน้ำยา ก็จะเป็นได้แค่เสือกระดาษ

ในการร่างกฎบัตรอาเซียน ประเด็นเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก น่าจะเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งควรมีการยืดหยุ่น หลักการยืดหยุ่นได้ถูกเสนอโดย ดร.สุรินทร์ใน ปี 1998 คือ ข้อเสนอ flexible engagement แต่ก็ปรากฏว่า ในที่สุด กฎบัตรอาเซียนก็ยืนตามเดิม คือยึดมั่นในหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ก็กลับไปแบบเดิม เป็นการ “ถอยหลังลงคลอง”

ในอนาคต อาเซียนก็อาจเข้าไปแทรกแซงโดยพฤตินัย แบบไม่เป็นทางการ แต่คงยากที่จะเห็นเป็นกฎหมาย เพราะว่า ต้องไปแก้กฎบัตร แล้วใครจะไปแก้หลักการตรงนี้ สมมุติว่ามีคนเสนอว่า ต่อไปเราจะไม่เอาหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน หลักการนี้ต้องเปลี่ยน แน่นอนที่พม่า ลาว เวียดนาม ต้องออกมาวีโต้แน่ มันก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าการแก้กฎบัตรระบุชัดเจนว่า ถ้าจะแก้ ต้องแก้โดย consensus คือทุกประเทศต้องเห็นด้วย มันก็จะวนอยู่อย่างเดิม


จุดยืนของไทยกับหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน”

สำหรับจุดยืนของไทย ก็ต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่า ไทยจะมองผลประโยชน์ของตนเองอยู่ตรงไหน เรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้ามาเทียบกับผลประโยชน์ด้านการเมือง ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ด้านการทหาร ผลประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์ ก็เป็นเรื่องรอง

ในกรณีไทย ชัดเจนที่ไทยมีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจกับพม่ามหาศาล เราซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่านับเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก๊าซธรรมชาติมาไทยจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของพม่า เท่ากับ 40% ของการส่งออกทั้งหมดของพม่า ไทยจึงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของพม่า เพราะเรื่องก๊าซธรรมชาติ ทำให้ไทยตกอยู่ในสภาวะลำบาก คือถ้าเราไปโจมตีพม่าเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็อาจไปกระเทือนผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของเรา เรื่องก๊าซธรรมชาติ นอกจากนั้นเรายังมีการค้าด้านอื่นๆ ยังเข้าไปลงทุนในพม่าอีก รัฐบาลก็กลัวว่าจะกระทบ

แต่การที่คุณนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศ ออกมากล่าวว่า ไทยจะยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน สำหรับกรณีพม่า ผมว่า จุดยืนของเราที่ดีคือ เราควรจะเงียบๆ คือมีท่าทีแบบกำกวมไว้ ดีที่สุด ไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเอายังไง ผมว่าน่าจะ safe ที่สุด แต่ว่าการที่คุณนพดลออกมาพูดอย่างนี้ ผมว่าไม่ค่อยถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องประกาศว่า เราจะยึดมั่นหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ไม่จำเป็นต้องฟันธง และเนื่องจากขณะนี้กระแสโลกเปลี่ยนไปมาก การที่ไทยออกมาเน้นประเด็นนี้ จึงดูเหมือนว่า กลายเป็นประเทศที่ตามโลกไม่ทัน เหมือนเป็นประเทศอนุรักษ์นิยม ไม่ก้าวหน้า

ถ้าเราเป็นประเทศเผด็จการ ผมจะไม่แปลกใจเลยว่า เราจะประกาศตรงนี้ออกมา เหมือนอย่างจีน ถ้าจีนประกาศว่าเราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของเพื่อนบ้าน ผมจะไม่แปลกใจ เพราะจีนเป็นเผด็จการ แต่ว่าตอนนี้ไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ว่าเรายังไปประกาศจุดยืนนี้อีก มันดูขัดกับกระแสสากล อย่างที่บอกตอนต้นว่า เผด็จการก็จะบอกอย่างนี้ ประชาธิปไตยก็จะบอกอีกอย่าง แต่เราเป็นประชาธิปไตย แต่เราไปเหมือนกับเผด็จการ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ถูกต้อง

ภาพลักษณ์ไทยในสายตาประชาคมโลก ก็คงจะเสีย ไทยทำไมไปประกาศแบบนี้ มันทวนกระแสสากล
ในสมัยรัฐบาลชวน สมัย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ไทยเล่นบทบาทอีกแบบหนึ่ง ตอนนั้นเราชูธงประชาธิปไตย เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน และเราก็กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า รัฐบาลในตอนนั้น อาจมองในเรื่องน้ำหนักว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนก็สำคัญ เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญ แต่ว่า รัฐบาลสมัยชวนอาจจะมองว่า เราน่าจะกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์พม่าได้ แต่พอมาสมัยรัฐบาลทักษิณ ถึงปัจจุบัน ก็มองผลประโยชน์ด้านธุรกิจ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นตัวนำมากเกินไป จนกลายเป็นว่า เราไม่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย กลายเป็นประเทศที่ดูแล้วอนุรักษ์นิยมจัด ขวาจัด

อันนี้ ผมว่าบทบาทไทยในอาเซียนและประชาคมโลกก็เสียหาย เพราะว่าการที่เราจะเป็นผู้นำอาเซียนได้ ต้องมี moral authority คือ เราต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ทั่วโลกยอมรับ ต้องทำตัวในลักษณะเป็นพลเมืองที่ดีของโลก แต่ตอนนี้ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ มาถึงรัฐบาลสมัคร เราทำตัวเป็นพลเมืองที่ไม่ดีของโลก คือไปสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการพม่า จนออกนอกหน้า ดังนั้น ตรงนี้ ทำให้บทบาทการเป็นผู้นำของไทยในอาเซียนก็กระเทือน ขณะที่เมื่อก่อน เรามีบทบาทนำในเรื่องนี้ เคยชูธงประชาธิปไตย สมัยดร.สุรินทร์ ไทยก็ดูดี ดูเด่น ในสายตาโลก แต่มาในปัจจุบัน กลายเป็นว่า เราถอยหลังลงคลอง กลายเป็นว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ประเทศที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่า กลายเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งมันกลับตาลปัตรหมด และกลายเป็นว่าไทยกลายเป็น ประเทศที่มาเข้าข้างประเทศเผด็จการ
สิงคโปร์ก็มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีการลงทุน ค้าขายกับพม่า แต่เขารู้จักเล่น รู้จักพูด เล่นตีสองหน้า จริงๆไทยเราก็เก่งเรื่องตีสองหน้า จริงๆการทูตเราเก่งอยู่แล้ว แต่ประเด็นนี้ เรากลับเล่นไม่เป็น ประเด็นนี้เราระมัดระวังเกินไป กลัวพม่าเกินไป


ไม่มีความคิดเห็น: