Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (ตอนที่ 1)

สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สงคราม
สงครามรัสเซีย-จอร์เจียเปิดฉากขึ้น เมื่อจอร์เจียได้ใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในเขต South Ossetia เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา และกองทหารของจอร์เจียได้เข้าควบคุมเมืองหลวงของ South Ossetia คือเมือง Tskhinvali ได้ แต่หลังจากนั้น ในวันที่ 8 สิงหาคม รัสเซียได้ตอบโต้ด้วยการส่งกองกำลังทหารหลายพันคนเข้าไปใน South Ossetia และโจมตีที่มั่นทางทหารหลายแห่งในจอร์เจียและในเวลาเพียงไม่กี่วัน รัสเซียก็สามารถยึดเมือง Tskhinvali คืนจากจอร์เจียได้

ต่อมา ความขัดแย้งได้ลุกลามบานปลายออกไปยังเขต Abkhazia ทางตะวันตกของจอร์เจีย ซึ่งต้องการแบ่งแยกดินแดนออกจากจอร์เจียเหมือนกับ South Ossetia ผู้นำของ Abkhazia คือ Sergei Bagapsh ได้ประกาศกร้าวว่า จะขับไล่กองกำลังทหารของจอร์เจียออกไปให้หมด และรัสเซียก็ได้ส่งกองกำลังทหารหลายพันคนเข้าไปช่วย Abkhazia

สาเหตุ
สำหรับสาเหตุของสงครามในครั้งนี้ มีหลายประการด้วยกัน ซึ่งผมจะขอแยกแยะเป็นข้อๆ ดังนี้

· South Ossetia
รากเหง้าของความขัดแย้งและสงคราม เกิดมาจากปัญหาในเรื่องความขัดแย้งทางด้านเชื้อ
ชาติและเผ่าพันธุ์ ซึ่งกลายเป็นต้นตอของความขัดแย้ง และสงครามทั่วโลกในขณะนี้ สำหรับในกรณีนี้ เกิดมาจากการที่ South Ossetia พยายามที่จะแบ่งแยกดินแดนออกมาเป็นเอกราชจากจอร์เจีย มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม South Ossetia ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจอร์เจียอยู่ แต่ South Ossetia ก็อยากเป็นเอกราชเป็นอย่างมาก โดยได้มีการประกาศเอกราชไปแล้ว แต่ยังไม่มีประเทศใดให้การรับรอง ประธานาธิบดีของจอร์เจียคือ Mikhail Saakashvili ประกาศกร้าวว่า จะต้องนำเอา South Ossetia และ Abkhazia ซึ่งต้องการประกาศเอกราชเหมือนกัน ให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของจอร์เจียให้ได้

รากเหง้าของชาว Ossetia นั้น มีชาติพันธุ์ที่มีที่ตั้งดั้งเดิมอยู่ในเขตรัสเซีย และมีความ
ใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับรัสเซีย แต่ในศตวรรษที่ 13 ได้ถูกการรุกรานจากอาณาจักรมองโกล ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในบริเวณเทือกเขาคอเคซัสในปัจจุบัน

ชาว Ossetia ใต้ ต้องการจะไปรวมกับชาติพันธุ์เดียวกัน คือ Ossetia เหนือ ซึ่งเป็นเขต
ปกครองตนเองภายใต้สาธารณรัฐรัสเซีย แต่จอร์เจียก็ปฏิเสธ และไม่ยอมรับ ชื่อคำว่า South Ossetia โดยเรียกดินแดนดังกล่าวในชื่อดั้งเดิมว่า Samachablo หรือบางทีก็เรียกชื่อว่า Tskhinvali ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงของ South Ossetia

แต่ความตึงเครียดก็เกิดขึ้น เมื่อประธานาธิบดี Saakashvili ได้รับเลือกตั้งในปี 2004 และเสนอที่จะให้มีการเจรจากับ South Ossetia แต่ในที่สุด การเจรจาก็ล้มเหลว ในปี 2006 South Ossetia ก็มีการทำประชามติ เพื่อประกาศเอกราชอย่างสมบูรณ์

และนี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญ นำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม ระหว่างจอร์เจียกับ South Ossetia

· การประกาศเอกราชของโคโซโว

สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัสเซียตัดสินใจเข้าทำสงครามโจมตีจอร์เจียนั้น สาเหตุหนึ่ง
เป็นผลมาจาก การประกาศเอกราชของโคโซโว โดยทางตะวันตก ผลักดันให้โคโซโวเป็นเอกราชจากเซอร์เบีย แต่รัสเซียก็คัดค้านอย่างเต็มที่ ผู้นำรัสเซียคือ Valademir Putin ได้ออกมาเตือน ถึงอันตรายในการรับรองการประกาศเอกราชของโคโซโว ทั้ง ๆ ที่ เซอร์เบียและรัสเซียคัดค้าน แต่ภายหลังจากที่โคโซโวประกาศเอกราช รัสเซียก็ตอบโต้ ด้วยการให้การรับรองเอกราชของ South Ossetia และ Abkhazia บ้าง

ลึกๆแล้ว รัสเซียมีความเชื่อว่า ตะวันตกและสหรัฐฯ กำลังมีแผนการปิดล้อมรัสเซีย และจากในกรณีของโคโซโว ก็ทำให้รัสเซียได้ข้อสรุปว่า ตะวันตกไม่สนใจเสียงคัดค้านของรัสเซีย นั่นคือจุดแตกหัก และรัสเซียมองว่า ขณะนี้ รัสเซียกับตะวันตกกำลังอยู่ในสภาวะของความขัดแย้ง สำหรับรัสเซียแล้ว คำถามคือ จะตอบโต้กับตะวันตกอย่างไร และในที่สุดรัสเซียก็ได้ตัดสินใจตอบโต้การปิดล้อมของตะวันตก ด้วยการเปิดฉากสงครามในครั้งนี้

· NATO
สาเหตุสำคัญประการที่ 2 ที่ทำให้รัสเซีย ทำสงครามกับจอร์เจียในครั้งนี้ เพราะการ
ตัดสินใจของการประชุมสุดยอด NATO ที่บูคาเรสต์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีความพยายามจะเอาจอร์เจียกับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกของ NATO ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก
ในอดีต ในสมัยของประธานาธิบดี George Bush ผู้พ่อ และในสมัยของ Bill Clinton
สหรัฐฯ เคยให้สัญญากับรัสเซียว่า NATO จะไม่ขยายเข้าไปในเขตที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเก่า อย่างไรก็ตาม ในปี 1998 สหรัฐฯก็ผิดสัญญา ด้วยการขยาย NATO เข้าไปในเขตยุโรปตะวันออก โดยดึงโปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็คฯ เข้ามาเป็นสมาชิก และต่อมาในปี 2004 มีการขยายสมาชิก NATO ออกไปอีก โดยขยายออกไปครอบคลุมประเทศยุโรปตะวันออกเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศในแถบทะเลบอลติกด้วย
แต่สำหรับความพยายามล่าสุดของ NATO ที่จะเอายูเครนมาเป็นสมาชิกนั้น รัสเซียมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสหรัฐฯผลักดันที่จะให้จอร์เจียเข้ามาเป็นสมาชิก NATO ด้วย ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่า NATO กำลังต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในแถบคอเคซัส ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย และยิ่งทำให้รัสเซียมั่นใจว่า ตะวันตกและสหรัฐฯ กำลังมีแผนการที่จะปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซีย
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ภายหลัง NATO ประกาศจะดึงเอายูเครน จอร์เจียเป็นสมาชิก รัสเซียก็ตอบโต้ทันที ด้วยการตัดสินใจเพิ่ม และกระชับความสัมพันธ์กับ South Ossetia และ Abkhazia รัสเซียคงจะรู้สึกถูกปิดล้อมหนักขึ้นเรื่อย ๆ และถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จากตะวันตก แต่ขณะนี้พลังอำนาจของรัสเซียก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งทางด้านทางทหารและเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้รัสเซียเชื่อมั่นว่า จะสามารถป้องกันการปิดล้อมของตะวันตกได้

แต่สำหรับจอร์เจีย ประธานาธิบดี Saakashvili มีนโยบายสำคัญที่จะเอาจอร์เจียไปเป็นสมาชิก NATO ให้ได้ ทั้งนี้คงจะเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของจอร์เจีย จอร์เจียพยายามที่จะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ โดยได้ส่งทหารเข้าร่วมกับกองกำลังทหารของสหรัฐฯในอิรักด้วย

· การกลับสู่สถานภาพอภิมหาอำนาจของรัสเซีย
และอีกสาเหตุหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจียนั้น คือ ความพยายามของรัสเซียที่จะกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจในโลกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต Putin ได้เคยพูดไว้ว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตถือเป็นความหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย ทำให้ความมั่นคงของรัสเซียถูกคุกคามโดยตะวันตก และทำให้รัสเซียถูกห้อมล้อมด้วยประเทศที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย และเป็นพันธมิตร และอยู่ภายใต้อิทธิพลของตะวันตก

Putin จึงมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่ โดย Putin ได้พยายามที่จะสร้างเครดิตให้กับกองทัพรัสเซีย และพยายามที่จะทำให้เพื่อนบ้านรัสเซียเห็นว่า การเป็นพันธมิตร NATO และการใกล้ชิดกับตะวันตกนั้น ไม่มีความหมาย
ในการบุกโจมตีจอร์เจีย Putin ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กองทัพรัสเซียกลับมามีเครดิตอีกครั้ง และการใกล้ชิดกับสหรัฐฯของจอร์เจีย ก็ไม่สามารถช่วยจอร์เจียได้ Putin คงต้องการให้สงครามครั้งนี้ เป็นบทเรียนแก่ประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน และเทือกเขาคอเคซัส ที่กำลังตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

สงครามกับจอร์เจียในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ ของการกลับมาสู่สถานภาพการเป็นอภิมหาอำนาจในโลกของรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง

ปักกิ่งเกมส์ : การประกาศศักดาความเป็นอภิมหาอำนาจของจีน

ปักกิ่งเกมส์ : การประกาศศักดาความเป็นอภิมหาอำนาจของจีน

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์

ปักกิ่งเกมส์
การเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิค ที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 นี้ ถือเป็นโอกาสทองของจีนในการที่จะประกาศศักดาการเป็นอภิมหาอำนาจ แน่นอนว่า จีนคงจะใช้โอกาสนี้ โชว์ความยิ่งใหญ่ของจีนอย่างเต็มที่ และผมคิดว่า จีนคงจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ไม่ว่าจะในฐานะการเป็นเจ้าภาพ และในฐานะการเป็นเจ้าเหรียญทอง ซึ่งในขณะที่คู่แข่งในระดับโลกของจีนคือ สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในสถานะความเสื่อมและความตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤต subprime และปัญหาการบุกยึดครองอิรักที่ทำให้สหรัฐฯเสียชื่อมาก


การใช้การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของประเทศนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ในอดีต ได้มีความพยายามบ่อยครั้ง ที่จะใช้กีฬาโอลิมปิคในการประกาศความยิ่งใหญ่ของชาติ การเมืองและโอลิมปิคไม่เคยแยกออกจากกัน ในตอนที่นาซีเยอรมันจัดกีฬาโอลิมปิคที่เบอร์ลิน ในปี 1936 Hitler ก็ได้ใช้โอลิมปิคในการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของเยอรมัน รัสเซียก็ได้ทำเช่นนั้นในปี 1980 ที่กรุงมอสโค และสหรัฐฯก็ทำเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จีนจะจัดโอลิมปิคในครั้งนี้ได้ ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมายหลายประการ โดยจีนพยายามที่จะจัดโอลิมปิคมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ถูกสหรัฐฯกันท่า และในที่สุดกลายเป็นออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพ จีนต้องรอมาถึง 8 ปีจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการแข่งขัน ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน การที่จีนถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการซูดานและพม่า รวมทั้งเหตุการณ์ความวุ่นวายในทิเบต และล่าสุดก็มีการก่อวินาศกรรมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้นซินเจียงของจีน

ในปี 1896 มีการจัดโอลิมปิคเป็นครั้งแรก มี 14 ประเทศเข้าร่วม แต่ไม่มีประเทศจากเอเชียเลย แต่ในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดแล้วว่า เอเชียในขณะนี้ กำลังผงาดขึ้นมา เอเชียเคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิค 2 ครั้ง ครั้งแรกที่กรุงโตเกียวในปี 1964 และครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล ในปี 1988 แต่ครั้งนี้ที่กรุงปักกิ่ง สะท้อนถึงคนจีนที่มีอยู่ถึง 1,300 ล้านคนหรือ 1 ส่วน 5 ของประชากรโลก

สำหรับเจ้าเหรียญทองนั้น ผมคิดว่า จีนมีโอกาสอย่างมากที่จะแซงหน้าสหรัฐฯเป็นเจ้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนในกีฬาโอลิมปิคนั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ ในปี 1984 จีนได้เหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิค แต่พอมาถึงปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ถึงแม้จีนจะไม่ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง แต่ก็ได้เหรียญน้อยกว่าสหรัฐฯเพียง 4 เหรียญเท่านั้น

อำนาจทางด้านการทหาร
การผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางกีฬาของจีนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจของจีน ซึ่งมี 3 ด้านหลักๆ ด้วยกันได้แก่ อำนาจทางด้านทหาร อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ และอำนาจทางด้านวัฒนธรรม

สำหรับอำนาจทางด้านการทหารนั้น ในปีนี้จีนประกาศงบประมาณทหารล่าสุดคิดเป็น 45,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 18% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เพิ่มมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าคำนวณตัวเลขโดยใช้หลัก purchasing power parity (PPP) คือ การเอาอำนาจการซื้อมาคำนวณด้วย จะทำให้เห็นว่า ตัวเลขงบทหารของจีนอาจสูงถึง 450,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเกือบจะเท่ากับงบทหารของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ

อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับอำนาจทางด้านเศรษฐกิจนั้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เฉลี่ย 10% มาตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ถ้าคำนวณโดยเอาหลัก PPP มาใช้ จะทำให้ GDP ของจีนขณะนี้ มีมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน สูงกว่าสหรัฐฯมาก ดังนั้น ในอนาคต เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะใหญ่เท่ากับสหรัฐฯ อาจจะภายในปี 2025 และหลังจากนั้น ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯไป กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

การผงาดขึ้นมาของจีนนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะในประวัติศาสตร์ จีนก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยโบราณ จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้ว ในปี 1600 เศรษฐกิจจีนใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก

ในปัจจุบัน อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนกำลังขยายตัวออกไปในทุกๆ ด้าน ในด้านการค้า จีนได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ในการเป็นประเทศส่งออกอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯและเยอรมนี สำหรับการลงทุนในต่างชาติของจีน ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในโลก

อำนาจทางด้านวัฒนธรรม
จีนกำลังต้องการขยายอำนาจทางวัฒนธรรมของตน โดยพยายามแข่งกับวัฒนธรรมของตะวันตกและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ในระยะยาว จีนกำลังก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำทางความคิดของโลก

ในอดีต นโยบายเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา มักจะเดินตามนโยบายของสหรัฐฯที่เรียกว่า Washington Consensus หรือฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นระบบทุนนิยม กลไกตลาด การค้าเสรี และประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ ได้เริ่มมีประเทศกำลังพัฒนาพูดถึง Beijing Consensus หรือฉันทามติปักกิ่ง ซึ่งเน้นตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่จำเป็นต้องมีพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตย

ความสำเร็จของการจัดกีฬาโอลิมปิค และการเป็นเจ้าเหรียญทองของจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาทางด้านวัฒนธรรมของจีน โดยในขณะที่สหรัฐฯกำลังสูญเสียอำนาจวัฒนธรรม ที่เราเรียกกันว่า soft power โดยเฉพาะการเสียชื่อและประสบวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก หลังจากการบุกยึดครองอิรัก และกำลังนำไปสู่การเสื่อมถอยของอิทธิพลสหรัฐฯทั่วโลก แต่ในขณะที่จีนกำลังเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ว่า จีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในระดับโลกแล้ว ดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดในการแปรเปลี่ยนของดุลแห่งอำนาจทางวัฒนธรรมคือ การที่จีนกำลังจะเป็นเจ้าเหรียญทอง แซงหน้าสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นเจ้าเหรียญทองมาตลอด

นอกจากนี้ ความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ในการผงาดขึ้นมาของจีน ในช่วงการจัดกีฬาโอลิมปิคอีกเรื่องหนึ่งคือ การเดินทางมาร่วมพิธีเปิดของผู้นำ และประมุขจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดี Bush ผู้นำรัสเซีย Putin และผู้นำฝรั่งเศส Sarkozy การเดินทางมาร่วมพิธีเปิดจากผู้นำประเทศทั่วโลกมากมายขนาดนี้ ทำให้นึกย้อนกลับไปในอดีต ที่อาณาจักรจีนคือศูนย์กลางของโลก ที่จีนเรียกว่า middle kingdom ในสมัยนั้น ก็มีคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการต่อจักรพรรดิจีน และยอมรับในอำนาจอันยิ่งใหญ่ของจีน กีฬาโอลิมปิคในขณะนี้ กำลังสะท้อนภาพความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต

Bush กับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย

Bush กับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์

ในวันพฤหัสที่ 7 สิงหาคม ประธานาธิบดี Bush ได้เยือนทางมาเยือนไทย และได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ Bush ยังไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ แต่คงคาดได้ว่า คงเป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมๆของสหรัฐฯ และคงจะมีลักษณะภาษาดอกไม้และภาษาทางการทูตอยู่มาก ซึ่งเป็นแทคติคของ Bush ในขณะนี้ ที่ต้องการพูดจาภาษาดอกไม้ เพื่อลดกระแสต่อต้านรัฐบาล Bush ทั้งในประเทศสหรัฐฯและในประชาคมโลก ขณะนี้ สิ่งที่ Bush ต้องการทำคือ พยายามจะประคองเพื่อรักษาฐานเสียงไว้ เพื่อเป็นการช่วย John McCain ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พรรคเดียวกับ Bush ในการลงชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่

แต่สำหรับผมแล้ว สุนทรพจน์ของ Bush ที่กรุงเทพฯ เป็นนโยบายที่ประกาศ ซึ่งมักเป็นภาษาดอกไม้ แต่ที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศคือ นโยบายที่ไม่ได้ประกาศ นอกจากนี้ นโยบายที่ Bush ประกาศที่กรุงเทพฯ ก็คงไม่มีความสำคัญ เพราะ Bush คงจะไม่มีเวลาที่ จะเอานโยบายนี้ไปสานต่อให้เกิดผลได้ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน Bush ก็จะลงจากตำแหน่งแล้ว


คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ถึงนโยบายต่อเอเชียที่ Bush ไม่ได้ประกาศ ซึ่งเป็น hidden agenda หรือวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ 3 ประการต่อภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย

สำหรับยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้านั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด โดยสหรัฐฯจะพยายามทุกวิถีทางที่จะครองความเป็นเจ้า ทั้งในระดับโลก และในระดับภูมิภาคต่อไป ให้ได้ยาวนานที่สุด และยุทธศาสตร์นี้ ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ Bush ไม่มีทางกล้าที่จะประกาศ

ระบบโลกขณะนี้ เป็นระบบ 1 ขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ถ้าเปรียบระบบโลกเป็นปิระมิด อเมริกาก็อยู่บนยอดปิระมิดเพียงผู้เดียว และทุกประเทศก็ต้องยอมสยบให้อเมริกา ต้องร่วมมือกับอเมริกา

ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
สิ่งที่อเมริกากลัวที่สุดคือ การที่จะมีประเทศที่ผงาดขึ้นมาท้าทายความเป็นเจ้าของอเมริกา และมาแย่งตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกไปจากอเมริกา

ในปี 2025 มีการคาดการว่า เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับอเมริกา อเมริกาเริ่มกลัวว่าจีนจะผงาดขึ้นมาท้าทายและเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ อิทธิพลของจีนจะขยายออกไป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยาวจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน สหรัฐฯจึงพยายามสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในจุดต่างๆ ในคาบสมุทรเกาหลี การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ไต้หวัน ความพยายามที่จะแข่งกับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพยายามดึงเอาประเทศต่าง ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ไทย สิงค์โปร์ เวียดนาม ให้มาเป็นพันธมิตรกับอเมริกา ส่วนทางเอเชียใต้ อินเดียก็ไม่อยากให้จีนใหญ่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น อินเดียจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะแข่งกับจีนในระยะยาว ทางตะวันตกของจีนในขณะนี้ อเมริกาก็เข้าไปแล้ว ในอิรัก อัฟกานิสถาน และเอเชียกลาง

แต่ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของสหรัฐฯปัจจุบันนั้น จะไม่เหมือนกับยุทธศาสตร์การปิดล้อมคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น ทั้งนี้เพราะ อเมริกายังหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากจีน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน การปิดล้อมจีนจึงเน้นทางด้านการทหาร แต่ทางด้านเศรษฐกิจยังคงเปิดช่องปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์จึงมีลักษณะกึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ หรือปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรม (Clash of Civilizations) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯจึงดำเนินยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยสหรัฐฯมองว่า การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ขณะนี้ กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง

อเมริกาได้ฉวยโอกาสจากการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค โดยส่งทหารเข้าไปในฟิลิปปินส์ และกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่า อเมริกาใช้กระสุนนัดเดียว ยิงได้นก 3 ตัว นกตัวแรกคือ อเมริกาจะได้เข้ามาทำลายเครือข่ายการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกตัวที่ 2 คือ อเมริกาจะได้ใช้โอกาสดังกล่าวขยายบทบาททางทหารในภูมิภาค และครองความเป็นเจ้าต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่นกตัวที่ 3 คือ การปิดล้อมจีนไปด้วย

ยุทธศาสตร์ Hub & Spoke
จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าว
โดยผ่านช่องทาง 2 ช่องทาง

ช่องทางแรกคือ ความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางด้านการทหารทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะกับพันธมิตรทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทยและออสเตรเลีย ยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า Hub and Spoke หรือ ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯเป็นดุมล้อ และความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นซี่ล้อ

นอกจากนี้ อเมริกาได้พยายามเพิ่มบทบาททางทหารกับประเทศที่ไม่ได้เป็น 5 พันธมิตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และเอเชียกลาง อาทิ อินเดีย ปากีสถาน อุซเบกิสถาน สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม กำลังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ในเอเชียเกือบทั้งหมด เป็นพันธมิตรหรือมีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯและความสัมพันธ์เกือบทั้งหมด ก็ดูเหมือนจะรอบล้อมจีน หรือปิดล้อมจีน

เพราะฉะนั้น ในเอเชียมีไม่กี่ประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ คือ มีเกาหลีเหนือ ลาว จีน พม่า และเนปาล นอกนั้นเป็นพวกอเมริกาหมด จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ Hub & Spoke ทำให้อเมริกาครองความเป็นเจ้าอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์พหุภาคี
อีกช่องทางหนึ่งในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯคือ ช่องทางพหุภาคี ซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจากช่องทางทวิภาคี ในระยะหลัง ๆ สหรัฐฯพยายามใช้ประโยชน์จากเอเปค อย่างไรก็ตาม สำหรับความสัมพันธ์กับอาเซียนนั้น ยังไม่แนบแน่นเท่าที่ควร ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งได้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ถึงแม้สหรัฐฯจะยังคงครองความเป็นเจ้าในมิติทางด้านการทหาร แต่ในมิติทางด้านการเมือง การทูต และเศรษฐกิจนั้น จีนได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุก และอิทธิพลของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเห็นได้จากการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน

นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการในกรอบใหญ่คือ กรอบอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป้าหมายระยะยาว จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งแนวโน้มนี้ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง และจะทำให้สหรัฐฯถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประชาคมเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ และสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะมีท่าทีคัดค้าน และต่อต้านการรวมกลุ่มดังกล่าวในอนาคต

จากแนวโน้มข้างต้น สหรัฐฯจึงคงจะได้ข้อสรุปแล้วว่า หากสหรัฐฯอยู่เฉย ๆ อิทธิพลของจีนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯจะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีนี้ เราจึงได้เห็นสหรัฐฯเริ่มเคลื่อนไหว จากในอดีต ที่สหรัฐฯไม่เคยให้ความสำคัญต่ออาเซียน แต่ในปัจจุบัน นโยบายก็เปลี่ยนแปลงไป และเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯได้กลับมาให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ เพื่อที่จะบรรลุยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนั่นเอง


ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ ปี 2008

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ ปี 2008

ตีพิมพ์ใน สยามรับสัปดาหวิจารณ์

ในช่วงวันที่ 17-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมใหญ่ประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุม ดังนี้

กฎบัตรอาเซียน
เรื่องแรกที่รัฐมนตรีอาเซียนหารือกัน คือเรื่องกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเพิ่งได้ลงนามกันไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังรอให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ มีสมาชิกที่ให้สัตยาบันไปแล้ว 7 ประเทศ แต่ยังเหลือไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน


ผมขอเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมปีนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไฮไลต์ของการประชุม จะเป็นการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน โดยมีแผนว่าจะไปเฉลิมฉลองกันที่วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่เกิดของอาเซียนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยในปี 1967รัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศ ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ จัดตั้งอาเซียนขึ้นมา ห้องที่ใช้ลงนามคือ ห้องบัวแก้ว วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงต่างประเทศเก่า

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า กฎบัตรอาเซียนยังมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง
· ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ยังคลุมเครือ ในเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
· การถอยหลังลงคลอง ในการตอกย้ำหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิก
· ไม่มีกลไกในการลงโทษสมาชิกที่ละเมิดกฎบัตร
· กลไกสิทธิมนุษยชนที่จะตั้งขึ้นใหม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจน
· ช่องทางหรือเวทีสำหรับจะให้ภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียน ก็ไม่มีปรากฏอยู่ในกฎบัตร
ถึงแม้ว่าในการประชุมคราวนี้ จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่างบทบาทหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่ผมเกรงว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเผด็จการ อาทิ พม่า ก็จะหวาดระแวงบทบาทหน้าที่ของกลไกนี้ และคงจะพยายามตัดแขนตัดขากลไกนี้ จนในที่สุด ก็จะไม่มีเขี้ยวเล็บอะไรเหลือ เข้าทำนองเป็นเสือกระดาษ



ประชาคมการเมืองความมั่นคง
ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน กำลังให้ความสำคัญกับการร่างพิมพ์เขียว หรือ blueprint ของประชาคมความมั่นคงอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายว่า blueprint จะเสร็จทันการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ
สำหรับเรื่องอื่นๆ ทางด้านการเมืองความมั่นคง ก็เป็นเรื่องที่ได้มีการหารือกันทุกปี ไม่มีอะไรใหม่
โดยมีเรื่องการให้ประเทศนอกภูมิภาค ให้การรับรองกับสนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความพยายามให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ให้การรับรองสนธิสัญญาที่จะทำให้ภูมิภาคนี้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์

ความพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะแสปรตลีย์
สำหรับการประชุมในกรอบ ASEAN Regional Forum หรือ ARF นั้น ก็ไม่มีเรื่องอะไรเด่น ยกเว้นมีการทำปฏิญญา ARF ขึ้นมา แต่เนื้อหาในปฏิญญาก็ไม่มีเรื่องสำคัญอะไร

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาเซียนเสียชื่อในประชาคมโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการทหารของพม่า การปราบปรามประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความวุ่นวายภายหลังวิกฤตพายุไซโคลน Nagis

ในเอกสารแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียน ได้กล่าวชมตัวเองว่า อาเซียนประสบความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยพายุ Nagis แต่ผมกลับมองเห็นตรงกันข้าม ผมมองว่า อาเซียนประสบความล้มเหลวในกรณีการให้ความช่วยเหลือ เพราะหลังจากเกิดภัยพิบัติ อาเซียนก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ขณะที่ประชาคมโลกพยายามส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพม่า แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ยอมรับ เพราะกลัวว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบเผด็จการของตน จนถึงขั้นว่า ในที่สุด สหประชาชาติก็ทนไม่ไหว Ban Ki Moon เลขาฯ UN ถึงกับลงทุนเดินทางไปพบผู้นำพม่าเพื่อแก้วิกฤต Nagis ในขณะที่อาเซียน กลับไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จนเมื่อ UN เข้าไปแล้ว อาเซียน ถึงเข้าไปร่วมกับ UN ในการให้ความช่วยเหลือพม่า

ส่วนในกรณีพัฒนาการประชาธิปไตยในพม่า ท่าที่ของอาเซียนก็ถอยหลังลงคลอง โดยนับตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง อาเซียนก็กลับไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นว่าทาง UN ต้องส่งผู้แทนพิเศษเข้าไปคือ Ibrahim Gambari ในแถลงการณ์ร่วมการประชุมคราวนี้ อาเซียนกลับให้ท้ายพม่า ด้วยการชื่นชมในการที่พม่าได้มีรัฐธรรมนูญและได้มีการทำประชามติ ซึ่งเราก็รู้ๆ กันว่าเป็นประชามติจอมปลอม และยังมองในแง่ดีอีกว่า คงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010

ปัญหาไทย-กัมพูชา
ส่วนปัญหากรณีพิพาทไทยกับกัมพูชานั้น ในตอนแรก ฝ่ายเขมรพยายามผลักดันให้อาเซียนพิจารณาเรื่องนี้ แต่ทางฝ่ายไทยคัดค้านเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏอยู่ในวาระการประชุมและผลการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียน อย่างไรก็ตาม มีการประชุมนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งไทยและกัมพูชาแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยการเจรจา และอาเซียนก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า หลายประเทศในอาเซียนไม่พอใจที่ทางฝ่ายเขมรเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เพราะมองว่าไม่เหมาะสม และน่าจะเจรจาทวิภาคีกันก่อน และหลังจากนั้น ค่อยมาคุยกันในอาเซียน ก่อนที่จะเสนอ UN แต่นี่เป็นการข้ามหัวอาเซียน
แต่ถึงแม้เรื่องไทย-เขมร จะไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียน แต่ผมเช็คดูแล้วปรากฏว่า ในเอกสารผลการประชุม ARF มีการหารือกันในเรื่องนี้ และที่ประชุมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เช่นเดียวกับผลการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบ EAS (East Asia Summit) ซึ่งเป็นกรอบการประชุมอาเซียน+6 ก็มีการหารือกันในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ
ในช่วงวันแรกๆ เป็นการประชุมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และสำหรับในช่วงวันหลัง ๆ เป็นการประชุมกันระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งสำหรับในปีนี้ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่เด่นเป็นพิเศษ ที่เป็นไฮไลต์ก็น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง

เรื่องแรก คือความพยายามของอาเซียนที่ต้องการผลักดันการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ EU และอินเดียต่อให้เสร็จ ก่อนหน้านี้ อาเซียนได้เจรจา FTA กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว
เรื่องที่ 2 เป็น ความพยายามของสหรัฐฯที่จะมีบทบาทกับอาเซียนมากขึ้น ที่ผ่านมา สหรัฐฯดูด้อยกว่ามหาอำนาจอื่นๆ ในความสัมพันธ์กับอาเซียน มหาอำนาจอื่นๆ มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ มหาอำนาจอื่นๆ เจรจา FTA กับอาเซียนหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สหรัฐฯจึงได้เสนอกรอบความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อย่อว่า ADVANCE ซึ่งย่อมาจาก ASEAN Development Vision to Advance National Cooperation and Economic Integration โดยจะเป็นการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของ ASEAN-US Cooperation Plan, ASEAN-US Enhanced Partnership และข้อตกลง TIFA ระหว่าง อาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นขั้นแรกที่อาจนำไปสู่การเจรจา FTA อาเซียนกับสหรัฐฯในอนาคต

สำหรับเรื่องที่ 3 คือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบ EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ EAS ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องจับตามอง เบื้องหลังของเรื่องนี้คือ ก่อนหน้านี้ อาเซียนได้มีกรอบความร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เรียกว่ากรอบอาเซียน+3 แต่ในระยะหลังๆ เริ่มมีการหวาดระแวงว่า จีนจะครอบงำอาเซียน+3 การประชุม EAS จึงเกิดขึ้น โดยเป็นการดึงเอาอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามา กลายเป็นอาเซียน+6 เพื่อมาช่วยกันถ่วงดุลจีน

ไทยเป็นประธานอาเซียน
ในตอนสิ้นสุดการประชุม เป็นการหมดวาระของสิงค์โปร์ในการเป็นประธานอาเซียน และไทยรับช่วงต่อจากสิงค์โปร์ในการเป็นประธานอาเซียน โดยพอดีเป็นจังหวะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดในปลายปีนี้ด้วย และถ้าหากมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนใหม่ ก็จะมีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้ง จึงกลายเป็นว่า ไทยจะได้จัดประชุมสุดยอด 2 ครั้ง คือ ในปลายปีนี้และปีหน้า รวมทั้งจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในเดือนกรกฎาคมปีหน้าด้วย

สหรัฐฯ มองปัญหาภาคใต้ของไทย

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สหรัฐฯ มองปัญหาภาคใต้ของไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Rand Corperation ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเสนอแนวนโยบายต่อกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ของไทย เสนอต่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผมเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญ จึงอยากจะสรุป วิเคราะห์ เอกสารดังกล่าว ในคอลัมน์โลกทรรศน์ วันนี้

ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ที่รัฐสยามได้ผนวกเอารัฐปัตตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย ความพยายามของไทยในการที่จะทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ และนับถือศาสนามุสลิม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มาจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยในหลายยุคหลายสมัย ที่เพิกเฉยต่อการเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ การคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง และการใช้กำลังเข้าปราบปราม


ช่วงปี 1960 – 1998

ในช่วงปี 1960 ถือเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีหลายกลุ่มด้วยกัน แต่ทุกกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การจัดตั้งรัฐปัตตานี เป็นอิสระจากประเทศไทย

ในรายงานของ Rand ได้ระบุ 3 กลุ่มสำคัญ กลุ่มแรกคือกลุ่ม BRN ซึ่งย่อมาจาก Barisan Revolusi Nasional กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม PULO ซึ่งย่อมาจาก Patani United Liberation Organization และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่ม PULO ใหม่ ที่ได้แยกตัวออกมาในปี 1995 ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ในอดีตเป็นอิสระจากกัน เพราะมีความแตกต่างในเรื่องอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1997 ได้มีความพยายามสร้างแนวร่วมทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่า Bersatu

ช่วงปี 1998-2004
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ รัฐบาลไทยได้เริ่มตระหนักถึงความละเอียดอ่อน ในการขาดการพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการตั้งองค์กรที่สำคัญที่เราเรียกในภาษาไทยว่า สอบต
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยก็ล้มเหลว ในการที่จะเอาชนะจิตวิญญาณของประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ได้มีการสานต่อนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างจริงจัง และไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะให้ชาวมุสลิมมีส่วนร่วมมากขึ้นในการปกครองตนเอง นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณยังได้มีการยุบ สอบต ที่เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ

ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ
ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2001 และมาถึงจุดระเบิดในปี 2004 โดยในเดือนมกราคม ได้มีกลุ่มก่อการร้ายเข้าบุกปล้นปืน และต่อมาในวันที่ 28 เมษายน ก็เกิดเหตุการณ์กรือเซะห์ โดยกลุ่มก่อการร้ายได้ถูกสังหารไปกว่า 100 คน 31 คนเข้าไปหลบซ่อนในมัสยิดกรือเซะห์ และถูกฆ่าหมู่ในมัสยิด ที่เป็นมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระแสความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน มีการประเมินว่า กลุ่มก่อการร้าย หรือที่ทางรัฐบาลมักใช้คำว่า กลุ่มก่อความไม่สงบนั้น มีการประเมินว่า อาจจะมีอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน
ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอย่างมากคือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ที่เน้นการใช้กำลังเข้าปราบปราม และไม่สนใจที่จะยุติปัญหาด้วยหนทางสันติวิธี

มีปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังไม่ได้ผล

ประการแรกคือ การที่รัฐบาลขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในงานข่าวกรอง
ประการที่สอง การใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการดำเนินการในการใช้ไม้อ่อนที่จะเอาชนะใจประชาชน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน รัฐบาลทักษิณไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความรู้สึกแปลกแยกและเจ็บแค้น ที่มีอยู่อย่างมากในหมู่ชาวมุสลิม
ประการที่สาม การใช้กำลังเข้าปราบปรามได้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาของชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก โดยมี 2 เหตุการณ์ที่ทำลายศรัทธาของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เหตุการณ์แรกคือ การฆ่าหมู่ในมัสยิดกรือเซะห์ และเหตุการณ์ที่ 2 คือ เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีชาวมุสลิมเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน
แนวโน้มในอนาคต

หลังจากการรัฐประหาร โค่นรัฐบาลทักษิณในปี 2006 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ โดยพลเอกสุรยุทธ์ถึงกับลงทุนประกาศขอโทษต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต และประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยเน้น ความสมานฉันท์ และการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
นั่นคือประเด็นหลักๆ ที่ปรากฏในรายงานของ Rand ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเนื้อหาหลักๆ ของรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของรายงานของ Rand ที่มองว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปัญหาภาคใต้รุนแรงขึ้น คือ ความผิดพลาดอย่างมากของรัฐบาลทักษิณ

ผมมองว่า นโยบายของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ น่าจะเป็นนโยบายที่เดินถูกทาง อย่างไรก็ตาม ผลก็ออกมาว่า ความรุนแรงในภาคใต้ยังไม่ลดลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้ก่อให้เกิดบาดแผลลึก ที่ยากยิ่งที่จะเยียวยาให้หายได้ ในระยะเวลาอันสั้น

ปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยการนำของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของพรรคไทยรักไทย และพันตำรวจโททักษิณ ผมจึงเกรงว่า รัฐบาลสมัคร ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการรื้อฟื้นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกว่า รัฐบาลปัจจุบันก็จะรื้อฟื้นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณมาแก้ไขปัญหาภาคใต้ต่อไป

ผลการประชุมสุดยอด G 8 ที่ Hokkaido

ตีพิมพ์ในสยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์

ผลการประชุมสุดยอด G 8 ที่ Hokkaido

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G 8 ครั้งล่าสุดที่ Hokkaido คอลัมน์โลกทรรศน์วันนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้


เศรษฐกิจโลก
เรื่องแรกที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ ปัญหาเศรษฐกิจโลด โดยเน้นเรื่องปัญหาวิกฤตราคาน้ำมัน วิกฤตราคาอาหาร แนวโน้มภาวะเงินเฟ้อ เสถียรภาพของตลาดการเงิน และแนวโน้มนโยบายปกป้องทางการค้า
สำหรับเรื่องระบบการเงินโลกนั้น G 8 ให้ความสำคัญกับบทบาทของ IMF และแสดงความยินดีที่ได้มีความคืบหน้าในการปฏิรูป IMF แต่ผมมองว่า ท่าทีของ G 8 ยังคงเป็นท่าทีเดิมๆ ที่เป็นท่าทีของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ซึ่งเน้นบทบาทของ IMF ในขณะที่โลกได้เปลี่ยนไปมากแล้ว และบทบาทของ IMF กำลังลดลงเรื่อย ๆ

เรื่องต่อมาที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ การเจรจา WTO รอบ Doha ซึ่งเอกสารผลการประชุมเน้นว่า G 8 ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะผลักดันให้การเจรจารอบ Doha ประสบความสำเร็จ ซึ่งประเด็นนี้ ผมมองว่า G 8 ได้แต่แสดงจุดยืนกว้าง ๆ และคงไม่มีผลเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพราะ การเจรจารอบ Doha นั้น เราเห็นได้ชัดว่ากำลังจะล่ม

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ G 8 ให้ความสำคัญคือ วิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่ง G 8 เน้นที่จะปรับสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ โดยพยายามที่จะให้มีการหารือกันระหว่างประเทศผู้ผลิต และประเทศผู้บริโภค สำหรับในด้านอุปทานหรือด้าน supply นั้น G 8 เน้นความจำเป็นที่จะต้องมีการเพิ่มการผลิต โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ส่วนในด้านอุปสงค์หรือ demand นั้น G 8 เน้นความสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ

ภาวะโลกร้อน
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจโลกแล้ว ในการประชุม G 8 ครั้งนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพพยายามผลักดันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลการประชุมถือว่า มีความคืบหน้าบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในแง่ท่าทีของสหรัฐฯที่ดูอ่อนลง จากในอดีตซึ่งสหรัฐฯจะไม่ยอมที่จะกำหนดเป็นตัวเลขในเรื่องของการลดก๊าซเรื่อนกระจก แต่ในระยะหลังๆ สหรัฐฯดูมีท่าทีอ่อนลง

ในการประชุมครั้งนี้ G 8 กำลัง “พิจารณา” ถึงเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 50% ภายในปี 2050 แต่ keyword คือ แค่กำลัง “พิจารณา” ยังไม่ได้ตกลง ซึ่งยังคงเป็นท่าทีของสหรัฐฯที่ยังไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยที่ประชุม G 8 ได้ตอกย้ำว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีการมีส่วนร่วมจากประเทศสำคัญ ๆ ทุกประเทศ ซึ่งถึงแม้ในเอกสารผลการประชุมจะไม่ได้ระบุ แต่เราก็รู้ว่า สหรัฐฯหมายถึง จีน และอินเดีย โดยสหรัฐฯพยายามผลักดันให้ทั้ง 2 ประเทศมีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ดูเหมือนเป็นการขัดกันในตัวเอง เพราะผลการประชุม G 8 ในเรื่องนี้คงจะไม่มีความหมาย ทั้งนี้เพราะ G 8 ไม่มี อินเดีย และจีน รวมอยู่ด้วย

G 8 ยังได้กล่าวถึง กฎเกณฑ์ในเรื่องการจัดการภาวะโลกร้อนในยุคหลังพิธีศาลเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2012 ขณะนี้ กำลังมีการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่หลังปี 2012 G 8 ได้กล่าวว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ๆ ทุกประเทศ จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนในการรับผิดชอบในสนธิสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งควรจะเจรจาให้เสร็จในปี 2009

การให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน
ทุกครั้งที่มีการประชุมสุดยอด G 8 ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มประเทศร่ำรวย 8 ประเทศ กลุ่มประเทศร่ำรวยเหล่านี้ ก็จะพยายามแสดงให้โลกเห็นว่า ตนมีความเมตตาที่จะช่วยเหลือประเทศยากจน

ในการประชุมครั้งนี้ ก็เช่นเดียวกับทุกครั้ง ได้มีการพูดที่สวยหรูว่า G 8 จะช่วยเหลือประเทศยากจนให้บรรลุเป้าหมาย Millennium Development Goals หรือ MDG ซึ่งเป็นเป้าหมายของสหประชาชาติซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งจะแก้ไขปัญหาความยากจนในด้านต่าง ๆ แต่ผมมองเรื่องนี้ว่า ประเทศร่ำรวยคงไม่มีความจริงใจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ผมจำได้ดีว่า ในตอนประชุมสุดยอดของสหประชาชาติเมื่อปี 2005 สหรัฐฯเป็นประเทศที่คัดค้านเต็มที่ ที่จะให้มีการใส่เป้าหมาย MDG ในเอกสารผลการประชุม

สำหรับเรื่องที่กำลังเป็นเรื่องร้อนอยู่ในขณะนี้คือ เรื่องวิกฤตราคาอาหารโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนเป็นอย่างมาก G 8 ก็ตามเคย ออกมาพูดอย่างสวยหรูว่า จะผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ โดยบอกว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีนี้ กลุ่ม G 8 ได้ลงขันเงินช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์อาหารโลกไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ

โดย G 8 ได้คุยอ้างว่า ได้มีการหารือถึงมาตรการทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว โดยจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน โดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนอาหาร พัฒนาระบบการค้าและตลาดโลกในด้านเกษตรและอาหาร ส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารมากขึ้น และให้มีการเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร
นอกจากนี้ G 8 ยังบอกว่า จะต้องส่งเสริมให้มีเงินให้ความช่วยเหลือและการลงทุนในสาขาเกษตรในประเทศยากจนมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่า จะผลักดันให้มีการเพิ่มขึ้นของผลผลิตด้านเกษตรอีกเท่าตัว โดยเฉพาะในประเทศในทวีปแอฟริกา ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า รากเหง้าของปัญหาวิกฤตอาหารโลก ที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ที่ G 8 ละเลยไม่ยอมพูดถึง ซึ่งถ้าพูดก็จะเข้าตัวเอง นั่นคือ นโยบายปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศร่ำรวยทั้งหลาย ในประเทศร่ำรวยได้มีการบิดเบือนกลไกตลาดเป็นอย่างมาก มีการให้เงินอุดหนุน (subsidy) มีมาตรการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทำให้การค้าสินค้าเกษตรไม่ได้เป็นไปโดยเสรี ถึงแม้ว่าในการเจรจา WTO รอบ Doha จะได้มีความพยายามเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร แต่ในที่สุดก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะประเทศร่ำรวยไม่ยอมเปิดเสรีสินค้าเกษตรของตน

ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ
สำหรับในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ก็มี 2-3 เรื่องที่เป็นเรื่องร้อน เรื่องแรกคือ ปัญหาเกาหลีเหนือ G 8 ตอกย้ำท่าทีของสหรัฐฯที่ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และกระตุ้นให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยสนับสนุนให้มีการเจรจา 6 ฝ่ายต่อไป แต่ผมมองว่า สิ่งที่ G 8 ประกาศ ก็เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว คือเป็นการประกาศกว้างๆ ใช้คำพูดสวยหรู แต่คงไม่มีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งในกรณีเกาหลีเหนือนั้น เป้าหมายของ G 8 ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะให้เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนทั้งหมด

เช่นเดียวกับในกรณีอิหร่าน ซึ่ง G 8 ก็ตอกย้ำท่าทีของสหรัฐฯ โดยแสดงความห่วงใยต่อความล้มเหลวของอิหร่าน ที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการยุติการพัฒนาโครงการพลังงานนิวเคลียร์ แต่ผมมองว่า ในที่สุดแล้ว ก็คงเหมือนในกรณีของเกาหลีเหนือ คือ อิหร่านก็คงไม่มีทางยอมที่จะยุติโครงการนิวเคลียร์ของตนได้ง่ายๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่ G 8 ให้ความสำคัญคือเรื่องพม่า ซึ่ง G 8 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่า ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ สำหรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยจากพายุ Nagis นอกจากนี้ G 8 ยังแสดงความห่วงใยต่อปัญหาการเมืองภายในของพม่า โดยเรียกร้องให้พม่าเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว และเรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมทั้ง นางอองซาน ซูจี

ประเมินผลการประชุม
· กล่าวโดยสรุป ผลการประชุมดูแล้ว ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมาย แต่ก็
ไม่ถึงกับล้มเหลว เรื่องสำคัญที่เป็นตัวชูโรงคือ เรื่องมาตรการวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน เรื่องภาวะโลกร้อน เรื่องวิกฤตการณ์อาหารโลก เป็นต้น

· อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการประชุมจะมีการใช้ภาษาที่สวยหรู ตั้งเป้าหมายที่ดูดี แต่
โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ไม่มีมาตรการและแผนการรองรับที่เป็นรูปธรรม การประชุมจึงเป็นลักษณะการ PR เสียมากกว่า โดยพยายามทำให้ชาวโลกรู้สึกว่า ประเทศร่ำรวยยังเอาจริงเอาจังที่จะแก้ไขปัญหาของโลก

· แต่ผลการประชุม G 8 กำลังมีความสำคัญน้อยลงทุกที ทั้งนี้เพราะกลุ่ม G 8 ไม่ได้
สะท้อนถึงโครงสร้างอำนาจโลกในปัจจุบัน มีประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม G 8 โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จึงทำให้ G 8 ขาดความชอบธรรมในการเป็นกลุ่มประเทศผู้นำของโลก