Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สหรัฐฯ มองปัญหาภาคใต้ของไทย

ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

สหรัฐฯ มองปัญหาภาคใต้ของไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Rand Corperation ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเสนอแนวนโยบายต่อกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ภาคใต้ของไทย เสนอต่อกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ผมเห็นว่าเป็นเอกสารสำคัญ จึงอยากจะสรุป วิเคราะห์ เอกสารดังกล่าว ในคอลัมน์โลกทรรศน์ วันนี้

ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้อนกลับไปได้หลายร้อยปี ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา ที่รัฐสยามได้ผนวกเอารัฐปัตตานีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทย ความพยายามของไทยในการที่จะทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมาเลย์ และนับถือศาสนามุสลิม เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มาจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่ง เป็นเพราะความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยในหลายยุคหลายสมัย ที่เพิกเฉยต่อการเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ การคอรัปชั่น การกดขี่ข่มเหง และการใช้กำลังเข้าปราบปราม


ช่วงปี 1960 – 1998

ในช่วงปี 1960 ถือเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ที่ใช้กำลังเข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีหลายกลุ่มด้วยกัน แต่ทุกกลุ่มมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การจัดตั้งรัฐปัตตานี เป็นอิสระจากประเทศไทย

ในรายงานของ Rand ได้ระบุ 3 กลุ่มสำคัญ กลุ่มแรกคือกลุ่ม BRN ซึ่งย่อมาจาก Barisan Revolusi Nasional กลุ่มที่ 2 คือกลุ่ม PULO ซึ่งย่อมาจาก Patani United Liberation Organization และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่ม PULO ใหม่ ที่ได้แยกตัวออกมาในปี 1995 ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ในอดีตเป็นอิสระจากกัน เพราะมีความแตกต่างในเรื่องอุดมการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1997 ได้มีความพยายามสร้างแนวร่วมทั้ง 3 กลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่า Bersatu

ช่วงปี 1998-2004
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ รัฐบาลไทยได้เริ่มตระหนักถึงความละเอียดอ่อน ในการขาดการพัฒนาเศรษฐกิจ และการบริหารใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการตั้งองค์กรที่สำคัญที่เราเรียกในภาษาไทยว่า สอบต
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้ว รัฐบาลไทยก็ล้มเหลว ในการที่จะเอาชนะจิตวิญญาณของประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่ได้มีการสานต่อนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างจริงจัง และไม่ได้มีความพยายามอย่างจริงจังที่จะให้ชาวมุสลิมมีส่วนร่วมมากขึ้นในการปกครองตนเอง นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณยังได้มีการยุบ สอบต ที่เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ

ช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ
ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2001 และมาถึงจุดระเบิดในปี 2004 โดยในเดือนมกราคม ได้มีกลุ่มก่อการร้ายเข้าบุกปล้นปืน และต่อมาในวันที่ 28 เมษายน ก็เกิดเหตุการณ์กรือเซะห์ โดยกลุ่มก่อการร้ายได้ถูกสังหารไปกว่า 100 คน 31 คนเข้าไปหลบซ่อนในมัสยิดกรือเซะห์ และถูกฆ่าหมู่ในมัสยิด ที่เป็นมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระแสความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน มีการประเมินว่า กลุ่มก่อการร้าย หรือที่ทางรัฐบาลมักใช้คำว่า กลุ่มก่อความไม่สงบนั้น มีการประเมินว่า อาจจะมีอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน
ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอย่างมากคือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ที่เน้นการใช้กำลังเข้าปราบปราม และไม่สนใจที่จะยุติปัญหาด้วยหนทางสันติวิธี

มีปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังไม่ได้ผล

ประการแรกคือ การที่รัฐบาลขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในงานข่าวกรอง
ประการที่สอง การใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างเดียว โดยไม่ได้มีการดำเนินการในการใช้ไม้อ่อนที่จะเอาชนะใจประชาชน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน รัฐบาลทักษิณไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาความยากจน และความรู้สึกแปลกแยกและเจ็บแค้น ที่มีอยู่อย่างมากในหมู่ชาวมุสลิม
ประการที่สาม การใช้กำลังเข้าปราบปรามได้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลในสายตาของชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก โดยมี 2 เหตุการณ์ที่ทำลายศรัทธาของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เหตุการณ์แรกคือ การฆ่าหมู่ในมัสยิดกรือเซะห์ และเหตุการณ์ที่ 2 คือ เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีชาวมุสลิมเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน
แนวโน้มในอนาคต

หลังจากการรัฐประหาร โค่นรัฐบาลทักษิณในปี 2006 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ โดยพลเอกสุรยุทธ์ถึงกับลงทุนประกาศขอโทษต่อความผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต และประกาศยุทธศาสตร์ระยะยาวโดยเน้น ความสมานฉันท์ และการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
นั่นคือประเด็นหลักๆ ที่ปรากฏในรายงานของ Rand ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเนื้อหาหลักๆ ของรายงานฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของรายงานของ Rand ที่มองว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปัญหาภาคใต้รุนแรงขึ้น คือ ความผิดพลาดอย่างมากของรัฐบาลทักษิณ

ผมมองว่า นโยบายของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ น่าจะเป็นนโยบายที่เดินถูกทาง อย่างไรก็ตาม ผลก็ออกมาว่า ความรุนแรงในภาคใต้ยังไม่ลดลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้ก่อให้เกิดบาดแผลลึก ที่ยากยิ่งที่จะเยียวยาให้หายได้ ในระยะเวลาอันสั้น

ปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน โดยการนำของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของพรรคไทยรักไทย และพันตำรวจโททักษิณ ผมจึงเกรงว่า รัฐบาลสมัคร ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการรื้อฟื้นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกว่า รัฐบาลปัจจุบันก็จะรื้อฟื้นนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณมาแก้ไขปัญหาภาคใต้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: