Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ ปี 2008

ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ ปี 2008

ตีพิมพ์ใน สยามรับสัปดาหวิจารณ์

ในช่วงวันที่ 17-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมใหญ่ประจำปีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่สิงค์โปร์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุม ดังนี้

กฎบัตรอาเซียน
เรื่องแรกที่รัฐมนตรีอาเซียนหารือกัน คือเรื่องกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเพิ่งได้ลงนามกันไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังรอให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน เพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการ มีสมาชิกที่ให้สัตยาบันไปแล้ว 7 ประเทศ แต่ยังเหลือไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน


ผมขอเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฝ่ายไทยซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดในเดือนธันวาคมปีนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไฮไลต์ของการประชุม จะเป็นการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียน โดยมีแผนว่าจะไปเฉลิมฉลองกันที่วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่เกิดของอาเซียนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว โดยในปี 1967รัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศ ได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ จัดตั้งอาเซียนขึ้นมา ห้องที่ใช้ลงนามคือ ห้องบัวแก้ว วังสราญรมย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงต่างประเทศเก่า

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า กฎบัตรอาเซียนยังมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง
· ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ยังคลุมเครือ ในเรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
· การถอยหลังลงคลอง ในการตอกย้ำหลักการไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศสมาชิก
· ไม่มีกลไกในการลงโทษสมาชิกที่ละเมิดกฎบัตร
· กลไกสิทธิมนุษยชนที่จะตั้งขึ้นใหม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจน
· ช่องทางหรือเวทีสำหรับจะให้ภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียน ก็ไม่มีปรากฏอยู่ในกฎบัตร
ถึงแม้ว่าในการประชุมคราวนี้ จะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่างบทบาทหน้าที่ของกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่ผมเกรงว่า ในที่สุดแล้ว ประเทศสมาชิกบางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นเผด็จการ อาทิ พม่า ก็จะหวาดระแวงบทบาทหน้าที่ของกลไกนี้ และคงจะพยายามตัดแขนตัดขากลไกนี้ จนในที่สุด ก็จะไม่มีเขี้ยวเล็บอะไรเหลือ เข้าทำนองเป็นเสือกระดาษ



ประชาคมการเมืองความมั่นคง
ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน กำลังให้ความสำคัญกับการร่างพิมพ์เขียว หรือ blueprint ของประชาคมความมั่นคงอาเซียน โดยตั้งเป้าหมายว่า blueprint จะเสร็จทันการประชุมสุดยอดที่กรุงเทพฯ
สำหรับเรื่องอื่นๆ ทางด้านการเมืองความมั่นคง ก็เป็นเรื่องที่ได้มีการหารือกันทุกปี ไม่มีอะไรใหม่
โดยมีเรื่องการให้ประเทศนอกภูมิภาค ให้การรับรองกับสนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความพยายามให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ให้การรับรองสนธิสัญญาที่จะทำให้ภูมิภาคนี้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์

ความพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะแสปรตลีย์
สำหรับการประชุมในกรอบ ASEAN Regional Forum หรือ ARF นั้น ก็ไม่มีเรื่องอะไรเด่น ยกเว้นมีการทำปฏิญญา ARF ขึ้นมา แต่เนื้อหาในปฏิญญาก็ไม่มีเรื่องสำคัญอะไร

ปัญหาพม่า
ปัญหาพม่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาเซียนเสียชื่อในประชาคมโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบอบเผด็จการทหารของพม่า การปราบปรามประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความวุ่นวายภายหลังวิกฤตพายุไซโคลน Nagis

ในเอกสารแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียน ได้กล่าวชมตัวเองว่า อาเซียนประสบความสำเร็จในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยพายุ Nagis แต่ผมกลับมองเห็นตรงกันข้าม ผมมองว่า อาเซียนประสบความล้มเหลวในกรณีการให้ความช่วยเหลือ เพราะหลังจากเกิดภัยพิบัติ อาเซียนก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ขณะที่ประชาคมโลกพยายามส่งความช่วยเหลือเข้าไปในพม่า แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่ยอมรับ เพราะกลัวว่าจะเป็นการเปิดช่องให้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน และอาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบเผด็จการของตน จนถึงขั้นว่า ในที่สุด สหประชาชาติก็ทนไม่ไหว Ban Ki Moon เลขาฯ UN ถึงกับลงทุนเดินทางไปพบผู้นำพม่าเพื่อแก้วิกฤต Nagis ในขณะที่อาเซียน กลับไม่ได้ทำอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน จนเมื่อ UN เข้าไปแล้ว อาเซียน ถึงเข้าไปร่วมกับ UN ในการให้ความช่วยเหลือพม่า

ส่วนในกรณีพัฒนาการประชาธิปไตยในพม่า ท่าที่ของอาเซียนก็ถอยหลังลงคลอง โดยนับตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง อาเซียนก็กลับไม่ได้ทำอะไรเลย กลายเป็นว่าทาง UN ต้องส่งผู้แทนพิเศษเข้าไปคือ Ibrahim Gambari ในแถลงการณ์ร่วมการประชุมคราวนี้ อาเซียนกลับให้ท้ายพม่า ด้วยการชื่นชมในการที่พม่าได้มีรัฐธรรมนูญและได้มีการทำประชามติ ซึ่งเราก็รู้ๆ กันว่าเป็นประชามติจอมปลอม และยังมองในแง่ดีอีกว่า คงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010

ปัญหาไทย-กัมพูชา
ส่วนปัญหากรณีพิพาทไทยกับกัมพูชานั้น ในตอนแรก ฝ่ายเขมรพยายามผลักดันให้อาเซียนพิจารณาเรื่องนี้ แต่ทางฝ่ายไทยคัดค้านเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏอยู่ในวาระการประชุมและผลการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียน อย่างไรก็ตาม มีการประชุมนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องนี้ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทั้งไทยและกัมพูชาแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยการเจรจา และอาเซียนก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า หลายประเทศในอาเซียนไม่พอใจที่ทางฝ่ายเขมรเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เพราะมองว่าไม่เหมาะสม และน่าจะเจรจาทวิภาคีกันก่อน และหลังจากนั้น ค่อยมาคุยกันในอาเซียน ก่อนที่จะเสนอ UN แต่นี่เป็นการข้ามหัวอาเซียน
แต่ถึงแม้เรื่องไทย-เขมร จะไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียน แต่ผมเช็คดูแล้วปรากฏว่า ในเอกสารผลการประชุม ARF มีการหารือกันในเรื่องนี้ และที่ประชุมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เช่นเดียวกับผลการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบ EAS (East Asia Summit) ซึ่งเป็นกรอบการประชุมอาเซียน+6 ก็มีการหารือกันในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ
ในช่วงวันแรกๆ เป็นการประชุมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และสำหรับในช่วงวันหลัง ๆ เป็นการประชุมกันระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งสำหรับในปีนี้ก็ไม่มีเรื่องอะไรที่เด่นเป็นพิเศษ ที่เป็นไฮไลต์ก็น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง

เรื่องแรก คือความพยายามของอาเซียนที่ต้องการผลักดันการเจรจา FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ EU และอินเดียต่อให้เสร็จ ก่อนหน้านี้ อาเซียนได้เจรจา FTA กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว
เรื่องที่ 2 เป็น ความพยายามของสหรัฐฯที่จะมีบทบาทกับอาเซียนมากขึ้น ที่ผ่านมา สหรัฐฯดูด้อยกว่ามหาอำนาจอื่นๆ ในความสัมพันธ์กับอาเซียน มหาอำนาจอื่นๆ มีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ มหาอำนาจอื่นๆ เจรจา FTA กับอาเซียนหมดแล้ว ยกเว้นสหรัฐฯ ในครั้งนี้ สหรัฐฯจึงได้เสนอกรอบความร่วมมือใหม่ที่มีชื่อย่อว่า ADVANCE ซึ่งย่อมาจาก ASEAN Development Vision to Advance National Cooperation and Economic Integration โดยจะเป็นการผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของ ASEAN-US Cooperation Plan, ASEAN-US Enhanced Partnership และข้อตกลง TIFA ระหว่าง อาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นขั้นแรกที่อาจนำไปสู่การเจรจา FTA อาเซียนกับสหรัฐฯในอนาคต

สำหรับเรื่องที่ 3 คือ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบ EAS เป็นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ EAS ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องจับตามอง เบื้องหลังของเรื่องนี้คือ ก่อนหน้านี้ อาเซียนได้มีกรอบความร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เรียกว่ากรอบอาเซียน+3 แต่ในระยะหลังๆ เริ่มมีการหวาดระแวงว่า จีนจะครอบงำอาเซียน+3 การประชุม EAS จึงเกิดขึ้น โดยเป็นการดึงเอาอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามา กลายเป็นอาเซียน+6 เพื่อมาช่วยกันถ่วงดุลจีน

ไทยเป็นประธานอาเซียน
ในตอนสิ้นสุดการประชุม เป็นการหมดวาระของสิงค์โปร์ในการเป็นประธานอาเซียน และไทยรับช่วงต่อจากสิงค์โปร์ในการเป็นประธานอาเซียน โดยพอดีเป็นจังหวะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดในปลายปีนี้ด้วย และถ้าหากมีการประกาศใช้กฎบัตรอาเซียนใหม่ ก็จะมีการประชุมสุดยอดปีละ 2 ครั้ง จึงกลายเป็นว่า ไทยจะได้จัดประชุมสุดยอด 2 ครั้ง คือ ในปลายปีนี้และปีหน้า รวมทั้งจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในเดือนกรกฎาคมปีหน้าด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: