Bush กับยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชีย
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์
ในวันพฤหัสที่ 7 สิงหาคม ประธานาธิบดี Bush ได้เยือนทางมาเยือนไทย และได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่อเอเชียที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ Bush ยังไม่ได้กล่าวสุนทรพจน์ แต่คงคาดได้ว่า คงเป็นการตอกย้ำจุดยืนเดิมๆของสหรัฐฯ และคงจะมีลักษณะภาษาดอกไม้และภาษาทางการทูตอยู่มาก ซึ่งเป็นแทคติคของ Bush ในขณะนี้ ที่ต้องการพูดจาภาษาดอกไม้ เพื่อลดกระแสต่อต้านรัฐบาล Bush ทั้งในประเทศสหรัฐฯและในประชาคมโลก ขณะนี้ สิ่งที่ Bush ต้องการทำคือ พยายามจะประคองเพื่อรักษาฐานเสียงไว้ เพื่อเป็นการช่วย John McCain ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พรรคเดียวกับ Bush ในการลงชิงชัยประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่
แต่สำหรับผมแล้ว สุนทรพจน์ของ Bush ที่กรุงเทพฯ เป็นนโยบายที่ประกาศ ซึ่งมักเป็นภาษาดอกไม้ แต่ที่สำคัญที่สุดในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศคือ นโยบายที่ไม่ได้ประกาศ นอกจากนี้ นโยบายที่ Bush ประกาศที่กรุงเทพฯ ก็คงไม่มีความสำคัญ เพราะ Bush คงจะไม่มีเวลาที่ จะเอานโยบายนี้ไปสานต่อให้เกิดผลได้ เพราะเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน Bush ก็จะลงจากตำแหน่งแล้ว
คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ถึงนโยบายต่อเอเชียที่ Bush ไม่ได้ประกาศ ซึ่งเป็น hidden agenda หรือวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯต่อเอเชีย
ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ 3 ประการต่อภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้าย
สำหรับยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้านั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด โดยสหรัฐฯจะพยายามทุกวิถีทางที่จะครองความเป็นเจ้า ทั้งในระดับโลก และในระดับภูมิภาคต่อไป ให้ได้ยาวนานที่สุด และยุทธศาสตร์นี้ ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ Bush ไม่มีทางกล้าที่จะประกาศ
ระบบโลกขณะนี้ เป็นระบบ 1 ขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ถ้าเปรียบระบบโลกเป็นปิระมิด อเมริกาก็อยู่บนยอดปิระมิดเพียงผู้เดียว และทุกประเทศก็ต้องยอมสยบให้อเมริกา ต้องร่วมมือกับอเมริกา
ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน
สิ่งที่อเมริกากลัวที่สุดคือ การที่จะมีประเทศที่ผงาดขึ้นมาท้าทายความเป็นเจ้าของอเมริกา และมาแย่งตำแหน่งอันดับ 1 ของโลกไปจากอเมริกา
ในปี 2025 มีการคาดการว่า เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับอเมริกา อเมริกาเริ่มกลัวว่าจีนจะผงาดขึ้นมาท้าทายและเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ อิทธิพลของจีนจะขยายออกไป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยาวจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีน สหรัฐฯจึงพยายามสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในจุดต่างๆ ในคาบสมุทรเกาหลี การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ไต้หวัน ความพยายามที่จะแข่งกับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพยายามดึงเอาประเทศต่าง ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ไทย สิงค์โปร์ เวียดนาม ให้มาเป็นพันธมิตรกับอเมริกา ส่วนทางเอเชียใต้ อินเดียก็ไม่อยากให้จีนใหญ่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น อินเดียจึงเป็นอีกประเทศหนึ่งที่จะแข่งกับจีนในระยะยาว ทางตะวันตกของจีนในขณะนี้ อเมริกาก็เข้าไปแล้ว ในอิรัก อัฟกานิสถาน และเอเชียกลาง
แต่ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของสหรัฐฯปัจจุบันนั้น จะไม่เหมือนกับยุทธศาสตร์การปิดล้อมคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น ทั้งนี้เพราะ อเมริกายังหวังผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากจีน โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน การปิดล้อมจีนจึงเน้นทางด้านการทหาร แต่ทางด้านเศรษฐกิจยังคงเปิดช่องปฏิสัมพันธ์กัน ดังนั้น ยุทธศาสตร์จึงมีลักษณะกึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ หรือปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย
หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรม (Clash of Civilizations) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯจึงดำเนินยุทธศาสตร์สงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยสหรัฐฯมองว่า การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ ขณะนี้ กำลังถูกท้าทายอย่างมากจากขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
อเมริกาได้ฉวยโอกาสจากการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในการเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาค โดยส่งทหารเข้าไปในฟิลิปปินส์ และกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาจกล่าวได้ว่า อเมริกาใช้กระสุนนัดเดียว ยิงได้นก 3 ตัว นกตัวแรกคือ อเมริกาจะได้เข้ามาทำลายเครือข่ายการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นกตัวที่ 2 คือ อเมริกาจะได้ใช้โอกาสดังกล่าวขยายบทบาททางทหารในภูมิภาค และครองความเป็นเจ้าต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่นกตัวที่ 3 คือ การปิดล้อมจีนไปด้วย
ยุทธศาสตร์ Hub & Spoke
จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น สหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าว
โดยผ่านช่องทาง 2 ช่องทาง
ช่องทางแรกคือ ความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยในช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางด้านการทหารทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะกับพันธมิตรทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทยและออสเตรเลีย ยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า Hub and Spoke หรือ ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯเป็นดุมล้อ และความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นซี่ล้อ
นอกจากนี้ อเมริกาได้พยายามเพิ่มบทบาททางทหารกับประเทศที่ไม่ได้เป็น 5 พันธมิตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และเอเชียกลาง อาทิ อินเดีย ปากีสถาน อุซเบกิสถาน สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม กำลังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ในเอเชียเกือบทั้งหมด เป็นพันธมิตรหรือมีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯและความสัมพันธ์เกือบทั้งหมด ก็ดูเหมือนจะรอบล้อมจีน หรือปิดล้อมจีน
เพราะฉะนั้น ในเอเชียมีไม่กี่ประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐฯ คือ มีเกาหลีเหนือ ลาว จีน พม่า และเนปาล นอกนั้นเป็นพวกอเมริกาหมด จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์ Hub & Spoke ทำให้อเมริกาครองความเป็นเจ้าอย่างชัดเจน
ยุทธศาสตร์พหุภาคี
อีกช่องทางหนึ่งในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯคือ ช่องทางพหุภาคี ซึ่งมีความสำคัญรองลงมาจากช่องทางทวิภาคี ในระยะหลัง ๆ สหรัฐฯพยายามใช้ประโยชน์จากเอเปค อย่างไรก็ตาม สำหรับความสัมพันธ์กับอาเซียนนั้น ยังไม่แนบแน่นเท่าที่ควร ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งได้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น ถึงแม้สหรัฐฯจะยังคงครองความเป็นเจ้าในมิติทางด้านการทหาร แต่ในมิติทางด้านการเมือง การทูต และเศรษฐกิจนั้น จีนได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุก และอิทธิพลของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเห็นได้จากการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน และการจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน
นอกจากนี้ ยังมีพัฒนาการในกรอบใหญ่คือ กรอบอาเซียน+3 ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งเป้าหมายระยะยาว จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก ซึ่งแนวโน้มนี้ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐฯลดลง และจะทำให้สหรัฐฯถูกกีดกันออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประชาคมเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ และสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะมีท่าทีคัดค้าน และต่อต้านการรวมกลุ่มดังกล่าวในอนาคต
จากแนวโน้มข้างต้น สหรัฐฯจึงคงจะได้ข้อสรุปแล้วว่า หากสหรัฐฯอยู่เฉย ๆ อิทธิพลของจีนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯจะลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯ คือ การครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ดังนั้น ในช่วงไม่กี่ปีนี้ เราจึงได้เห็นสหรัฐฯเริ่มเคลื่อนไหว จากในอดีต ที่สหรัฐฯไม่เคยให้ความสำคัญต่ออาเซียน แต่ในปัจจุบัน นโยบายก็เปลี่ยนแปลงไป และเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯได้กลับมาให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ เพื่อที่จะบรรลุยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนั่นเอง
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความที่นำมาแบ่งปันให้กัน
แสดงความคิดเห็น