ปักกิ่งเกมส์ : การประกาศศักดาความเป็นอภิมหาอำนาจของจีน
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์
ปักกิ่งเกมส์
การเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิค ที่กรุงปักกิ่งในปี 2008 นี้ ถือเป็นโอกาสทองของจีนในการที่จะประกาศศักดาการเป็นอภิมหาอำนาจ แน่นอนว่า จีนคงจะใช้โอกาสนี้ โชว์ความยิ่งใหญ่ของจีนอย่างเต็มที่ และผมคิดว่า จีนคงจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ไม่ว่าจะในฐานะการเป็นเจ้าภาพ และในฐานะการเป็นเจ้าเหรียญทอง ซึ่งในขณะที่คู่แข่งในระดับโลกของจีนคือ สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในสถานะความเสื่อมและความตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤต subprime และปัญหาการบุกยึดครองอิรักที่ทำให้สหรัฐฯเสียชื่อมาก
การใช้การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคในการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของประเทศนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ในอดีต ได้มีความพยายามบ่อยครั้ง ที่จะใช้กีฬาโอลิมปิคในการประกาศความยิ่งใหญ่ของชาติ การเมืองและโอลิมปิคไม่เคยแยกออกจากกัน ในตอนที่นาซีเยอรมันจัดกีฬาโอลิมปิคที่เบอร์ลิน ในปี 1936 Hitler ก็ได้ใช้โอลิมปิคในการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของเยอรมัน รัสเซียก็ได้ทำเช่นนั้นในปี 1980 ที่กรุงมอสโค และสหรัฐฯก็ทำเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จีนจะจัดโอลิมปิคในครั้งนี้ได้ ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมายหลายประการ โดยจีนพยายามที่จะจัดโอลิมปิคมาตั้งแต่ปี 2000 แต่ก็ถูกสหรัฐฯกันท่า และในที่สุดกลายเป็นออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพ จีนต้องรอมาถึง 8 ปีจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนการแข่งขัน ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวในมณฑลเสฉวน การที่จีนถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการซูดานและพม่า รวมทั้งเหตุการณ์ความวุ่นวายในทิเบต และล่าสุดก็มีการก่อวินาศกรรมของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคว้นซินเจียงของจีน
ในปี 1896 มีการจัดโอลิมปิคเป็นครั้งแรก มี 14 ประเทศเข้าร่วม แต่ไม่มีประเทศจากเอเชียเลย แต่ในวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดแล้วว่า เอเชียในขณะนี้ กำลังผงาดขึ้นมา เอเชียเคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิค 2 ครั้ง ครั้งแรกที่กรุงโตเกียวในปี 1964 และครั้งที่ 2 ที่กรุงโซล ในปี 1988 แต่ครั้งนี้ที่กรุงปักกิ่ง สะท้อนถึงคนจีนที่มีอยู่ถึง 1,300 ล้านคนหรือ 1 ส่วน 5 ของประชากรโลก
สำหรับเจ้าเหรียญทองนั้น ผมคิดว่า จีนมีโอกาสอย่างมากที่จะแซงหน้าสหรัฐฯเป็นเจ้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนในกีฬาโอลิมปิคนั้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผงาดขึ้นมาของจีนทางด้านเศรษฐกิจ ในปี 1984 จีนได้เหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิค แต่พอมาถึงปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ถึงแม้จีนจะไม่ได้เป็นเจ้าเหรียญทอง แต่ก็ได้เหรียญน้อยกว่าสหรัฐฯเพียง 4 เหรียญเท่านั้น
อำนาจทางด้านการทหาร
การผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจทางกีฬาของจีนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจของจีน ซึ่งมี 3 ด้านหลักๆ ด้วยกันได้แก่ อำนาจทางด้านทหาร อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ และอำนาจทางด้านวัฒนธรรม
สำหรับอำนาจทางด้านการทหารนั้น ในปีนี้จีนประกาศงบประมาณทหารล่าสุดคิดเป็น 45,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 18% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เพิ่มมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ถ้าคำนวณตัวเลขโดยใช้หลัก purchasing power parity (PPP) คือ การเอาอำนาจการซื้อมาคำนวณด้วย จะทำให้เห็นว่า ตัวเลขงบทหารของจีนอาจสูงถึง 450,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเกือบจะเท่ากับงบทหารของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ
อำนาจทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับอำนาจทางด้านเศรษฐกิจนั้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เฉลี่ย 10% มาตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก ถ้าคำนวณโดยเอาหลัก PPP มาใช้ จะทำให้ GDP ของจีนขณะนี้ มีมูลค่า 5 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน สูงกว่าสหรัฐฯมาก ดังนั้น ในอนาคต เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด จะใหญ่เท่ากับสหรัฐฯ อาจจะภายในปี 2025 และหลังจากนั้น ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯไป กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
การผงาดขึ้นมาของจีนนั้น เป็นเรื่องปกติ เพราะในประวัติศาสตร์ จีนก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยโบราณ จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่แล้ว ในปี 1600 เศรษฐกิจจีนใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็น 30% ของเศรษฐกิจโลก
ในปัจจุบัน อำนาจทางเศรษฐกิจของจีนกำลังขยายตัวออกไปในทุกๆ ด้าน ในด้านการค้า จีนได้แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ในการเป็นประเทศส่งออกอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯและเยอรมนี สำหรับการลงทุนในต่างชาติของจีน ก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน จีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในโลก
อำนาจทางด้านวัฒนธรรม
จีนกำลังต้องการขยายอำนาจทางวัฒนธรรมของตน โดยพยายามแข่งกับวัฒนธรรมของตะวันตกและสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน ในระยะยาว จีนกำลังก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำทางความคิดของโลก
ในอดีต นโยบายเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา มักจะเดินตามนโยบายของสหรัฐฯที่เรียกว่า Washington Consensus หรือฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นระบบทุนนิยม กลไกตลาด การค้าเสรี และประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ ได้เริ่มมีประเทศกำลังพัฒนาพูดถึง Beijing Consensus หรือฉันทามติปักกิ่ง ซึ่งเน้นตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ไม่จำเป็นต้องมีพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตย
ความสำเร็จของการจัดกีฬาโอลิมปิค และการเป็นเจ้าเหรียญทองของจีน ก็เป็นส่วนหนึ่งของการผงาดขึ้นมาทางด้านวัฒนธรรมของจีน โดยในขณะที่สหรัฐฯกำลังสูญเสียอำนาจวัฒนธรรม ที่เราเรียกกันว่า soft power โดยเฉพาะการเสียชื่อและประสบวิกฤตศรัทธาอย่างหนัก หลังจากการบุกยึดครองอิรัก และกำลังนำไปสู่การเสื่อมถอยของอิทธิพลสหรัฐฯทั่วโลก แต่ในขณะที่จีนกำลังเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ว่า จีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในระดับโลกแล้ว ดัชนีบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดในการแปรเปลี่ยนของดุลแห่งอำนาจทางวัฒนธรรมคือ การที่จีนกำลังจะเป็นเจ้าเหรียญทอง แซงหน้าสหรัฐฯซึ่งเคยเป็นเจ้าเหรียญทองมาตลอด
นอกจากนี้ ความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ในการผงาดขึ้นมาของจีน ในช่วงการจัดกีฬาโอลิมปิคอีกเรื่องหนึ่งคือ การเดินทางมาร่วมพิธีเปิดของผู้นำ และประมุขจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประธานาธิบดี Bush ผู้นำรัสเซีย Putin และผู้นำฝรั่งเศส Sarkozy การเดินทางมาร่วมพิธีเปิดจากผู้นำประเทศทั่วโลกมากมายขนาดนี้ ทำให้นึกย้อนกลับไปในอดีต ที่อาณาจักรจีนคือศูนย์กลางของโลก ที่จีนเรียกว่า middle kingdom ในสมัยนั้น ก็มีคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการต่อจักรพรรดิจีน และยอมรับในอำนาจอันยิ่งใหญ่ของจีน กีฬาโอลิมปิคในขณะนี้ กำลังสะท้อนภาพความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น