Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่1)

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 1)
ไทยโพสต์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 4433 วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2551

Barack Obama จะดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า มีการคาดหมายกันมากว่า รัฐบาล Obama จะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ และในอีกหลายๆตอนต่อไป จะได้วิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก สำหรับในตอนแรกนี้ จะเน้นนโยบายในภาพรวม หรือยุทธศาสตร์ใหญ่ที่เรียกว่า Grand strategy

ปัญหาท้าทายนโยบายต่างประเทศ Obama

Obama จะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบโลก และมีปัญหาใหญ่ๆเผชิญหน้าอยู่มากมาย ดังนั้น จากปัญหาท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จึงถือเป็นโอกาสของ Obama ที่จะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการผลักดันวิสัยทัศน์เพื่อปฏิรูประบบโลกในอนาคต

ในขณะนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐ ได้มีทั้งนักการเมืองและนักวิชาการออกมาเสนอข้อเสนอต่างๆมากมาย เกี่ยวกับแนวนโยบายต่างประเทศของสหรัฐในอนาคต เพื่อเผชิญกับปัญหาสำคัญๆ ปัญหาที่เด่นชัดก็คือ นโยบายสหรัฐต่ออิรักและอัฟกานิสถาน นโยบายของสหรัฐต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่มีลักษณะเป็นปัญหาที่คงจะต้องใช้เวลาในการแก้ในระยะยาว เช่น เรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก เรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การจัดการกับกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ ที่ดูเหมือนกับจะไม่สามารถปรับตัวให้รวดเร็วกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

แนวทางในการแก้ปัญหาแนวทางหนึ่งคือ การที่ Obama จะแก้ปัญหาเหล่านี้โดยเริ่มจากปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดก่อน แล้วค่อยๆไปแก้ปัญหาที่มีความสำคัญรองลงไป แต่การแก้ปัญหาแบบนี้ มีลักษณะเป็นการแก้แบบค่อยเป็นค่อยไป และเป็นการมองปัญหาว่าแต่ละปัญหาเป็นอิสระจากกัน ซึ่งอาจจะประสบความล้มเหลวได้

Grand strategy

ดังนั้น จึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งผมเห็นด้วย คือ การแก้ปัญหาแบบมองปัญหาแบบองค์รวม และมองปัญหาแต่ละเรื่องว่ามีการเชื่อมโยงกัน ดังนั้น Obama จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์แบบเป็นองค์รวมและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ

หัวใจของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ สหรัฐจะต้องผลักดันให้มีการเจรจาในระดับโลก ซึ่งคงไม่ใช่การเจรจาแบบครั้งเดียวจบ แต่คงจะต้องมีลักษณะการเจรจาหลายครั้ง ที่มีลักษณะ “ยื่นหมูยื่นแมว” กับประเทศหลักๆในโลก ในสมัยรัฐบาล Bush นโยบายต่างประเทศสหรัฐเน้นนโยบาย “ข้ามาคนเดียว” โดยสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาคมโลกและประเทศอื่นเท่าที่ควร

Grand strategy ของ Obama อาจจะเริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ประกาศนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ โดยฉายภาพให้เห็นถึงสิ่งท้าทายประชาคมโลก และเน้นถึงความจริงใจของสหรัฐที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังจากนั้น ก็จะมีการเจรจาหารือกันแบบไม่เป็นทางการกับประเทศที่สำคัญๆ โดยเฉพาะพันธมิตรยุโรป สหภาพยุโรป พันธมิตรในเอเชีย รวมทั้งประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่คือ จีน อินเดีย และบราซิล

การเจรจาในระดับโลก จะเป็นการผสมผสานกันทั้งมาตรการที่เป็นสนธิสัญญาข้อตกลงระหว่างประเทศ และมาตรการอื่นๆที่มีลักษณะไม่ผูกพันมากนัก

หัวใจของการเจรจาระดับโลกคือ การแลกเปลี่ยนในลักษณะ “ยื่นหมูยื่นแมว” ซึ่งจะเป็นในลักษณะ สหรัฐยอมในบางเรื่อง และประเทศอื่นๆยอมในบางเรื่อง ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาล Bush ท่าทีของสหรัฐมีลักษณะแข็งกร้าวและไม่มีความยืดหยุ่น ทำให้ประชาคมโลกไม่สามารถหาข้อยุติใดๆได้ และล้มเหลวในการเจรจาหาทางแก้ไขปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจารอบ Doha การปฏิรูปองค์กรโลก เช่น UN IMF และธนาคารโลก รวมทั้งความล้มเหลวในการเจรจาแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

ตัวอย่างของการเจรจาในระดับโลกที่มีลักษณะที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า grand bargain มีดังนี้

· ในด้านการค้า: สหรัฐและยุโรป อาจจะเสนอข้อเสนอใหม่ๆในการเจรจา WTO รอบ Doha โดยเฉพาะข้อเสนอในการเปิดเสรีสินค้าเกษตร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยการนำของบราซิลและอินเดีย อาจจะปรับเปลี่ยนท่าทีในการประนีประนอมการเปิดเสรีในด้านการค้าบริการและสินค้าอุตสาหกรรม

· ในประเด็นปัญหาด้านภาวะโลกร้อน: สหรัฐและ EU ควรจะตกลงที่จะให้มีการกำหนดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากสหรัฐแสดงจุดยืนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการประนีประนอมแล้ว (ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush) ทางฝ่ายประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและอินเดีย ก็อาจจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น และอาจจะยอมที่จะตกลงที่จะมีการกำหนดระดับของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนลงด้วย

· ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปองค์กรโลก: การมองประเด็นปัญหาโลกในลักษณะองค์รวม จะทำให้สหรัฐเห็นว่า ปัญหาการเจรจาเรื่องภาวะโลกร้อนนั้น เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาเรื่องอื่นๆด้วย โดยเฉพาะท่าทางของจีนและอินเดีย จะเชื่อมโยงกับประเด็นของการปฏิรูปองค์กรเศรษฐกิจโลกด้วย หมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่า จีนและอินเดียจะมีท่าทีประนีประนอมมากขึ้น หากทั้งสองประเทศเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก และระบบการเงินโลก มีความเป็นธรรมาภิบาลมากขึ้น คือ หากสหรัฐและยุโรปจะผลักดันให้มีการปฏิรูป IMF และธนาคารโลกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการยกเลิกการผูกขาดตำแหน่งผู้อำนวยการ IMF ให้กับคนยุโรป และการผูกขาดประธานธนาคารโลกให้กับคนอเมริกัน

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ grand bargain ของสหรัฐ นอกจากจะลดการผูกขาดองค์การสหประชาชาติ IMF และธนาคารโลกแล้ว สหรัฐควรที่จะยกระดับการเจรจา G20 มาแทนที่การเจรจา G8 อย่างถาวร ซึ่งหากสหรัฐแสดงถึงความใจกว้างเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐมากขึ้น ทั้งในด้านการค้า การเงิน พลังงาน และการเจรจาสิ่งแวดล้อมโลก

การปฏิรูประบบโลกในลักษณะ grand bargain ได้ส่อเค้าให้เห็นบ้างแล้ว โดยเฉพาะข้อเรียกร้องของยุโรปที่จะให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกใหม่ โดยได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบการเงินโลกใหม่ที่เรียกว่า Bretton Woods II ในช่วงระหว่างการประชุมสุดยอด G20 ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

รัฐบาล Obama จึงควรจะเข้ามาสานต่อและผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบโลกอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่สหรัฐจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป แต่ประชาคมโลกโดยรวม ก็จะได้รับประโยชน์จากการสร้างระเบียบโลกใหม่ของ Obama ด้วย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ