Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่2)

นโยบายต่างประเทศของ Obama : ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 2)
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2552 หน้า 4

Obama กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ คาดกันว่า รัฐบาล Obama จะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกโดยรวม คอลัมน์กระบวนทรรศน์ได้วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศของ Obama ในตอนที่ 1 ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อในตอนที่ 2 ซึ่งจะเน้นนโยบายต่างประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีเรื่องใหญ่ๆดังนี้

นโยบายการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ขณะนี้ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือ วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ปีที่แล้ว วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก รัฐบาล Bush ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G 20 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่ผลการประชุมก็เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะไม่ได้มีลักษณะเป็นการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง คาดว่าในปีนี้ วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยังคงลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ความล้มเหลวของการประชุม G 20 สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาล Bush ซึ่งบริหารประเทศได้ในอีกไม่กี่วัน ในขณะที่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่คือ Obama กลับไม่ได้มีบทบาทในการประชุม จึงมีการคาดหวังกันมากว่า รัฐบาล Obama คงจะมีท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล Bush แต่เราคงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน จึงจะเห็นท่าทีของรัฐบาล Obama อย่างชัดเจน ในการประชุมสุดยอด G 20 ครั้งหน้าว่า จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูประบบการเงินโลกได้มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น การบ้านใหญ่ที่สุดสำหรับรัฐบาล Obama คือ การผลักดันนโยบายการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก และโดยเหตุที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ จุดกำเนิดมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐ ดังนั้น รัฐบาล Obama จึงมีพันธกรณีอย่างสำคัญยิ่ง ที่จะต้องเล่นบทบาทการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ โดย Obama คงจะต้องร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการแสวงหามาตรการร่วมกัน ในการจัดการกับการไหลเวียนของเงินทุน พัฒนากฎเกณฑ์เพื่อความโปร่งใสในระบบการเงิน และปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างจริงจัง

มาตรการที่สำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกคือ จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง อย่างถอนรากถอนโคน ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการตรวจสอบระบบการเงินโลก การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการปฏิรูปสถาบันการเงินโลก

Obama คงจะต้องเผชิญกับโจทย์ที่ยากในการปฏิรูปสถาบันการเงินโลก โดยเฉพาะการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก ที่ผ่านมา IMF มีปัญหามากในเรื่องของระบบธรรมาภิบาล IMF ไม่มีธรรมาภิบาลในกลไกบริหารจัดการ เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป และสหรัฐเป็นประเทศเดียวที่มี veto power ผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดโดยคนยุโรป ในขณะที่ ประธานธนาคารโลก ก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด

ที่ผ่านมา สหรัฐต่อต้านการปฏิรูประบบการเงินโลกมาโดยตลอด เราก็ได้แต่หวังว่า รัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเปิดกว้าง อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจังในอนาคตได้

นโยบายการค้า

วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกโดยรวม โดยจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าในปีนี้ ปริมาณการค้าจะหดตัวซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982

ในสหรัฐ ก็มีแนวโน้มที่น่ากลัวของกระแสปกป้องทางการค้า ขณะนี้สภาคองเกรส ซึ่งมีพรรค Democrat ครองเสียงข้างมาก และรัฐบาลใหม่คือรัฐบาล Obama ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรค Democrat ที่มีชื่อเสียงในแนวนโยบายปกป้องทางการค้า มีแนวโน้มว่ารัฐบาล Obama จะมาช่วยอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐ และจะมีมาตรการในการให้เงินอุดหนุน ซึ่งจะเป็นนโยบายปกป้องทางการค้าทางอ้อม นอกจากนี้ การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ก็อาจจะเป็นประเด็นสำคัญนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้

พรรค Democrat มักมีนโยบายปกป้องทางการค้า ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ชนชั้นแรงงานมักจะได้รับผลกระทบตกงานจากการเปิดเสรีทางการค้า

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศจุดยืนหลายครั้ง ในเรื่องนโยบายการค้า โดยถึงแม้ในภาพรวมจะบอกว่าสนับสนุนการค้าเสรี แต่ก็ได้กล่าวเป็นห่วงต่อแนวโน้มที่ FTA จะส่งผลกระทบในทางลบ ต่อการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม Obama ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับเขตการค้าเสรีอเมริกากลาง (Central American Free Trade Area: CAFTA) นอกจากนี้ Obama ยังมองว่า เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเป็น FTA ระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อคนงานอเมริกัน Obama ถึงกับประกาศกร้าวในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะพบปะกับผู้นำของแคนาดาและเม็กซิโก เพื่อที่จะหารือถึงการแก้ไขข้อตกลง NAFTA

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า นโยบายการค้าภายใต้รัฐบาล Obama คงจะชะลอการเจรจา FTA และจะมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

นโยบายต่อมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังมีการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่เรียกย่อว่า BRIC ซึ่งย่อมาจาก Brazil, Russia, India, China ในอดีต กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกหรือกลุ่ม G 7 มีสัดส่วนเศรษฐกิจคิดเป็น 65%ของเศรษฐกิจโลก แต่ในอนาคต อาจจะภายในปี 2030 กลุ่มประเทศ BRIC จะผงาดขึ้นมา และมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับกลุ่ม G 7

ดังนั้น โจทย์ใหญ่อีกอันหนึ่งของรัฐบาล Obama ก็คือ จะมีนโยบายอย่างไรต่อมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ หากมองโลกในแง่ร้าย อาจจะมองว่า นโยบายของสหรัฐต่อมหาอำนาจใหม่ อาจจะมีลักษณะของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมองโลกในแง่ดี ซึ่งน่าจะเป็นมุมมองของรัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเสรีนิยมที่มองโลกในแง่ดี ก็น่าจะมองว่า อเมริกา คงจะต้องมีความร่วมมือกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น จึงเป็นที่คาดว่า นโยบายของรัฐบาล Obama ต่อจีน ซึ่งกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง คงจะมีแนวนโยบาย ที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับจีนมากขึ้น โดยคงจะมีความพยายามทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ที่จะดึงจีนให้มาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลกของอเมริกา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาความขัดแย้งกันหลายเรื่องที่รัฐบาล Obama คงจะต้องหาทางแก้ไข โดยเฉพาะจุดยืนที่แตกต่างกันในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เรื่องการเจรจา WTO รอบ Doha และเรื่องค่าเงินหยวน

สำหรับนโยบายต่อรัสเซียนั้น คาดว่ารัฐบาล Obama คงจะต้องพยายามลดกระแสความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย และคงจะพยายามเพิ่มการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับรัสเซีย และพยายามที่จะให้รัสเซียร่วมมือกับสหรัฐในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงาน การค้า และการเงิน

สำหรับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งก็คือ อินเดีย ผมมองว่า รัฐบาล Obama คงจะเดินหน้าปฏิสัมพันธ์กับอินเดียในเชิงบวกมากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะสหรัฐคงจะได้รับผลประโยชน์มากมาย หากดึงอินเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: