Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การประชุม World Economic Forum ปี 2009

การประชุม World Economic Forum ปี 2009
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 20 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552

ตามปกติแล้ว ในปีที่ผ่านๆมา การประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมือง Davos ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จะเป็นการประชุมประจำปี เป็นที่รวมของนักธุรกิจบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ซึ่งมักจะเน้นในเรื่องของความสำเร็จของระบบทุนนิยมโลก แต่การประชุมในปีนี้ แตกต่างจากที่ผ่านมา เพราะโลกกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ระบบทุนนิยมโลกกำลังประสบกับวิกฤติครั้งใหญ่ เรื่องที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องการพูดจากันเกี่ยวกับทางออกของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่น่าสังเกตคือ ประธานธนาคารใหญ่ๆของตะวันตกแทบจะไม่ได้มาประชุม รวมทั้งทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ ก็แทบจะไม่ได้ส่งใครมาเลย อเมริกาคงจะรู้ตัวดีว่า ถ้ามา ก็คงจะถูกรุมโจมตีว่า อเมริกาคือต้นเหตุของวิกฤติคราวนี้

นาย Klaus Schwab ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานการประชุม WEF ได้กล่าวเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยมองโลกในแง่ดีว่า สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่กับวิกฤติการเงินโลกนั้น กำลังเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ วิกฤติได้เป็นนาฬิกาปลุกให้เราต้องปฏิรูปสถาบันการเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปแนวความคิดของเรา โดยวิกฤตินั้น น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่าน นำไปสู่การวางรากฐานใหม่ สำหรับโลกที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะมีความมั่งคั่งมากขึ้นในยุคหลังวิกฤติ โดยนาย Schwab ได้เสนอให้การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ 5 ประการ

ประการแรกคือ ต้องสนับสนุนรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของกลุ่ม G 20 ในการสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติ

วัตถุประสงค์ประการที่ 2 คือ จะต้องแน่ใจว่า เรามองโลกในลักษณะที่เป็นองค์รวมและเป็นระบบ

วัตถุประสงค์ประการที่ 3 จะต้องเริ่มกระบวนการในการปฏิรูปสถาบันการเงินโลกใหม่ ขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับความสลับซับซ้อนและแรงกดดันมากกว่าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ถูกสร้างขึ้น และเราจะต้องตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างอำนาจโลก จากตะวันตกไปตะวันออก และจากเหนือไปใต้

วัตถุประสงค์ประการที่ 4 จะต้องมีการปรับปรุงรากฐานทางจริยธรรมสำหรับธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจเป็นตัวแสดงทางสังคมที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ บทบาทของ WEF ตั้งแต่ 1971 ก็เน้นที่การที่ภาคธุรกิจจะต้องตอบสนองไม่ใช่แต่ผู้ถือหุ้น แต่ต้องตอบสนองต่อสังคมโดยรวม ในคำพูดของ Schwab คือ เราจะต้องเปลี่ยนจาก “ego capitalism” ไปสู่ “eco capitalism”

และวัตถุประสงค์ประการสุดท้ายคือ จะต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจโลกใหม่ กลไกตลาดจะต้องอยู่ในกรอบของการควบคุมตรวจสอบ

และนั่นก็คือสุนทรพจน์กล่าวเปิดการประชุมของประธาน WEF ซึ่งก็คงเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะหลังจากนั้น ตัวแทนของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมหาอำนาจใหม่ก็ได้กล่าวโจมตีสหรัฐอย่างหนัก

นายกรัฐมนตรีของจีน Wen Jiabao ซึ่งเดินทางมาประชุม WEF เป็นครั้งแรก ได้กล่าวโจมตีสหรัฐอย่างหนัก โดยได้กล่าวว่าสาเหตุของวิกฤติได้เกิดมาจาก นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ไม่เหมาะสม จากบางประเทศ และตัวแบบการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนคงหมายถึงสหรัฐนั่นเอง คงหมายถึงการออมที่ต่ำและการบริโภคที่สูงสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ และความล้มเหลวของการควบคุมตรวจสอบทางการเงิน

สำหรับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย Vladimir Putin ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า การควบคุมตรวจสอบที่ไร้ประสิทธิภาพ นำไปสู่การล่มสลายของระบบการเงินปัจจุบัน นอกจากนั้น Putin ยังโจมตีการที่โลกพึ่งพาเงินดอลลาร์มากเกินไป โดยกล่าวว่าการพึ่งพามากเกินไป ในการที่ดอลลาร์เป็นเงินสำรองเพียงสกุลเดียว ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่ทางผู้นำยุโรปก็ได้ผลักดันที่จะให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี นาง Angela Merkel ได้กล่าวในระหว่างการประชุม WEF เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่ ให้มีลักษณะคล้ายๆกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และจะต้องมีการปฏิรูปหลักการทางด้านเศรษฐกิจใหม่ที่ Merkel เรียกว่า “กฎบัตรใหม่สำหรับระเบียบเศรษฐกิจโลก” ( a new charter for a global economic order) โดย Merkel ได้เสนอว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างองค์กรเศรษฐกิจโลกใหม่นั้น อาจจะเริ่มจากการประชุมสุดยอดของ G 20 ซึ่งจะมีขึ้นที่กรุง London ในช่วงเดือนเมษายนนี้ และหลังจากนั้น ก็น่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของสหประชาชาติ ซึ่งในที่สุด จะมีการจัดตั้งสิ่งที่ Merkel เรียกว่า UN Economic Council หรือคณะมนตรีเศรษฐกิจของสหประชาชาติ ซึ่งจะมีบทบาทเหมือนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินั่นเอง

ส่วน Angel Gurria เลขาธิการของ OECD ได้กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินและธุรกิจโลกใหม่ เราต้องการการควบคุมสอดส่องที่ดีขึ้น บรรษัทภิบาลและการประสานงานที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องการการกระชับความร่วมมือในระดับพหุภาคี โดยจะต้องมีการหาหนทางในการสร้างดุลยภาพระหว่างรัฐบาลและกลไกตลาด โดยมองว่า พลังอำนาจของกลไกตลาดจะมีบทบาทสำคัญในการขยายความมั่งคั่ง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สถาบันพหุภาคีต่างๆ อาทิ OECD IMF WTO และธนาคารโลก ต่างก็มีบทบาทสำคัญ และหวังว่า การประชุม WEF ในครั้งนี้ จะสามารถพัฒนาแผนการการกระชับความร่วมมือกันได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายต่างๆจะได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่สหรัฐก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะต่อต้านการปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน รัฐมนตรีคลังคนใหม่คือนาย Geithner ก็ไม่ยอมเดินทางไปร่วมประชุม WEF โดยบอกว่าจะเน้นการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ โดยกำลังพยายามผลักดันเงินอัดฉีดก้อนใหม่มูลค่า 8 แสนล้านเหรียญ และเราก็คงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน ที่จะเห็นประธานาธิบดี Obama เข้าร่วมการประชุม G 20 และตอนนั้นถึงอาจจะค่อยเห็นแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ

กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ว่าการประชุม World Economic Forum ในครั้งนี้ จะมีความพยายามอย่างยิ่งจากหลายฝ่ายในการที่จะปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ในที่สุด คงจะขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐจะเอาหรือไม่ เพราะถึงแม้สหรัฐอาจจะแผ่วลงไปจากการเกิดวิกฤติ แต่สหรัฐก็ยังคงเป็นประเทศที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุดในโลก สหรัฐยังคงควบคุมสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะ IMF และธนาคารโลก

แต่โดยภาพรวมแล้ว สหรัฐมีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยในสมัยประธานาธิบดี Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลก จะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาด และการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน ดังนั้น สหรัฐคงจะคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อข้อเสนอการปฏิรูปที่จะเป็นการทำลายทุนนิยมแบบอเมริกัน

ไม่มีความคิดเห็น: