Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นโยบายต่างประเทศของ Obama: ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่3)

นโยบายต่างประเทศของ Obama : ผลกระทบต่อโลก (ตอนที่ 3)
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2552 หน้า 4

ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ภายหลังการสาบานตน ซึ่งนับเป็นสุนทรพจน์แรกของ Obama และนับเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์

ในด้านนโยบายต่างประเทศ ในสุนทรพจน์ดังกล่าว Obama ได้ประกาศต่อประชาคมโลกว่า สำหรับประชาชนทุกคนและทุกรัฐบาล ที่เฝ้าดูการกล่าวสุนทรพจน์ ควรจะรู้ว่า อเมริกาจะเป็นมิตรกับทุกประเทศและกับทุกคน โดยเฉพาะทุกคนที่แสวงหาอนาคตสำหรับสันติภาพและเกียรติภูมิ และอเมริกาก็พร้อมที่จะเป็นผู้นำของประชาคมโลกอีกครั้งหนึ่ง

Obama กล่าวว่า ชัยชนะของอเมริกาต่อลัทธิ Fascism และ Communism นั้น ไม่ได้มาจากการใช้อาวุธ แต่มาจากอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น และพันธมิตรที่เหนียวแน่น ชาวอเมริกันในยุคนั้น เข้าใจดีว่า อำนาจอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องสหรัฐได้ อเมริกาไม่มีสิทธิ์จะใช้อำนาจตามอำเภอใจ อำนาจต้องมีความชอบธรรม ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐจะเกิดขึ้น จากเป้าหมายที่มีความชอบธรรม

Obama จึงได้กล่าวว่า หากเราใช้หลักการข้างต้นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มานำทาง เราก็จะสามารถเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ๆได้ ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศและความเข้าใจระหว่างประเทศ สหรัฐก็จะปลดปล่อยประเทศอิรักกลับไปสู่ชาวอิรัก ผลักดันสันติภาพให้เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน ลดภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ และแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

Obama พยายามฉายภาพให้เห็นว่า สหรัฐจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอารยธรรมได้ โดยเชื่อว่า ความขัดแย้งในรูปแบบเก่า กำลังจะหมดไป โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติศาสนา และเมื่อโลกกำลังจะเล็กลงเรื่อยๆ ความเป็นมนุษยชาติร่วมกันก็จะชัดเจนขึ้น Obama จึงได้กล่าวกับโลกมุสลิมว่า อเมริกาหวังว่า จะแสวงหาหนทางที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และความเคารพซึ่งกันและกัน ในตอนท้าย Obama ได้กล่าวถึงประชาชนในประเทศยากจนว่า อเมริกามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลก

นั่นคือ การขายฝันให้กับชาวอเมริกันและชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันคือการสานฝันให้เป็นจริง

ในโลกแห่งคววามเป็นจริง มันคงเป็นสิ่งไม่ใช่ง่ายเลย ที่ Obama จะสานฝันให้เป็นจริง ยุคสมัยที่อเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก กำลังจะหมดไป ระบบหนึ่งขั้วอำนาจกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ดังนั้น Obama จึงจะประสบความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆในการจะผลักดันนโยบายของเขาให้เป็นจริง ยุคสมัยที่อเมริกาจะผูกขาดอำนาจและทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกำลังจะหมดไป

การบ้านชิ้นใหญ่ที่สุดของ Obama คือ การกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะในขณะนี้ วิกฤติการเงินโลก ยังไม่หยุดแต่กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกครั้งใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มของกระแสการปกป้องทางการค้าและการลงทุน การเสื่อมลงของสถาบันการเงินโลก บทบาทที่ตกต่ำลงของเงินดอลลาร์ และความยากลำบากในการปฏิรูประบบการเงินโลก

การบ้านชิ้นใหญ่อีกอันหนึ่งของ Obama คือ นโยบายต่อตะวันออกกลาง ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ประกาศจะถอนทหารออกจากอิรัก และเราคงจะเริ่มเห็น Obama ค่อยๆถอนทหารออกจากอิรัก แต่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่มากว่า หลังจากนั้น สถานการณ์ของอิรักจะเป็นอย่างไร

ที่หนักไปกว่านั้นคือ สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเป็นบททดสอบครั้งใหญ่ต่อ Obama เหมือนกับ Obama กำลังเดิมพันความสำเร็จและความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศของเขา ด้วยการประกาศว่า อัฟกานิสถานคือแนวรบที่สำคัญที่สุดในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย สงครามในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งท้าทาย ต่อสหรัฐและ NATO เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ถึงแม้ Obama จะพยายามส่งสัญญาณต่อโลกมุสลิมว่า สหรัฐจะปรับเปลี่ยนท่าทีใหม่ แต่สำหรับชาวมุสลิมจำนวนมาก บททดสอบของนโยบาย Obama คงจะมีหลายเรื่องทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ก็เข้าข้างอิสราเอลอย่างออกนอกหน้า แต่สำหรับ Obama น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้อิสราเอลประนีประนอมกับปาเลสไตน์มากขึ้น แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่า Obama จะประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง

บททดสอบอีกเรื่องหนึ่งสำหรับโลกมุสลิมคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ซึ่งตามที่ Obama ประกาศ ก็คงจะเป็นความพยายามใช้การเจรจาทางการทูตและปฏิสัมพันธ์กับอิหร่าน เพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สำหรับเอเชียนั้น คงจะไม่ค่อยมีความสำคัญนักในสายตาของ Obama ที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่คือความสัมพันธ์กับจีน โดยเฉพาะขณะนี้ จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจและอิทธิพลของจีนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน จึงถือเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล Obama

ดังนั้น ความคาดหวังของชาวโลกต่อรัฐบาล Obama ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้นนั้น จึงอาจจะเป็นการคาดหวังที่เกินเลยจากความเป็นจริง เพราะมันเป็นสิ่งยากเหลือเกิน หรือในบางเรื่องอาจจะเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้ความคาดหวังของชาวโลกเป็นจริง เราคงต้องยอมรับโลกแห่งความเป็นจริงว่า สันติภาพในตะวันออกกลาง คงจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ การเจรจาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ก็จะยังคงหาข้อยุติไม่ได้ เช่นเดียวกับการเจรจา WTO รอบ Doha ก็ยังจะหาข้อยุติไม่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็คงจะยังมีอยู่อีกต่อไป

ข้อจำกัดที่สำคัญยิ่งต่อ Obama ในการเดินหน้าสานฝันนโยบายต่างประเทศคือ วิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐ ซึ่งคงจะทำให้ Obama ใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และ Obama คงจะไม่มีเวลาเหลือในการที่จะแก้ปัญหาสำคัญของชาวโลก

ข้อจำกัดประการที่ 2 ของ Obama คือปัญหาต่างๆ วิกฤติต่างๆที่จะประดังเข้ามา ทำให้ตั้งตัวไม่ติด โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิรัก อิหร่าน ซึ่งในกรณีของอิหร่าน Obama อาจจะต้องเลือกระหว่างการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน หรือเลือกอยู่กับอิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ สงครามในอัฟกานิสถานก็ทรุดหนักลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และอาจจะกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว นำไปสู่การจลาจลวุ่นวายทางการเมือง

ข้อจำกัดที่ 3 ที่ Obama ต้องเผชิญคือ แนวโน้มในระบบโลก ยุคสมัยแห่งโลกหนึ่งขั้วอำนาจกำลังเปลี่ยนไป อำนาจทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ กำลังมีการกระจายตัวมากขึ้น นำไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งหมายความว่า จะมีประเทศต่างๆที่จะเป็นอิสระจากสหรัฐ และต่อต้านสหรัฐ และนโยบายของสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญยิ่งที่ Obama จะผลักดันนโยบายต่างประเทศให้บรรลุเป้าหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น: