ประธานาธิบดี Obama
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 23 - วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2552
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ เป็นเย็นวันที่ 20 มกราคม ซึ่งในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า Barack Obama ก็จะเข้าสู่พิธีสาบานตน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กว่า 2 ล้านคน และคงจะมีคนอีกหลายพันล้านคนทั่วโลกเฝ้าดูพิธีดังกล่าวทางโทรทัศน์ด้วย
การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ Obama ถูกมองว่า เป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของการเมืองสหรัฐฯ และต่อโลก ผมคิดว่าน่าจะเป็นการสาบานตนที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่ John F. Kennedy เข้ารับตำแหน่งเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว
เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง ต่อการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Obama นั้น ก็เพราะ Obama จะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่อย่างเหลือเชื่อของการเมืองสหรัฐฯ สำหรับตัว Obama เองก็เป็นลูกครึ่ง บิดาเป็นชาวเคนยา มารดาเป็นชาวอเมริกัน ดังนั้นในตัว Obama เอง ก็เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของการแบ่งแยกสีผิวในอเมริกา Obama เป็นคนหนุ่มไฟแรง ในช่วงระหว่างการหาเสียง คำที่ Obama ใช้มากที่สุดก็คือคำว่า “change” โดย Obama ได้ประกาศที่จะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง จะปฏิรูปการเมืองสหรัฐฯ จะปฏิรูปสังคมสหรัฐฯ และจะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ดังนั้น Obama จึงได้จุดประกายขายฝัน ให้กับคนอเมริกันและคนทั้งโลกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama ได้รับความนิยมอย่างมากคือบุคลิกภาพของเขา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงอเมริกาไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนอเมริกันในขณะนี้ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง การนำเสนอนโยบายของโอบามาในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง ก็โดนใจคนอเมริกัน เป็นนโยบายที่จะนำคนอเมริกาให้ผ่านพ้นวิกฤต นโยบายสังคมที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจน และคนชั้นกลาง และนโยบายต่างประเทศ ที่เน้นการกอบกู้ศักดิ์ศรีของสหรัฐฯ กลับคืนมา ในสายตาประชาคมโลก
ดังนั้น ชาวอเมริกันและชาวโลกจึงมีความคาดหวังต่อประธานาธิบดีคนใหม่คนนี้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ประธานาธิบดี Obama กำลังประสบกับการบ้านและภารกิจที่หนักอึ้ง ทั้งนี้เพราะปัญหาใหญ่ๆ กำลังรอให้ Obama แก้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาวิกฤตสหรัฐฯ และวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งหนักหนาสาหัสและรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาวิกฤตการณ์ในภูมิภาคต่างๆ ตะวันออกกลางยังคงลุกเป็นไฟอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อิรัก อิหร่าน และอัฟกานิสถาน รวมทั้งการผงาดขึ้นมาของรัสเซียและจีน Obama คงจะลำบากใจเป็นอย่างมากที่จะจัดสรรเวลาให้กับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาภายในประเทศและปัญหาภายนอกประเทศ ปัญหาต่างๆ ที่จะรุมเร้าเข้ามา ผมคิดว่าจะหนักหนาสาหัสทีเดียว
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดที่ Obama จะต้องรีบทำคือ การกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ Obama ไม่ได้รีรอ ได้รีบตั้งจัดทีมเศรษฐกิจเรียบร้อยไปแล้ว โดยตำแหน่งที่สำคัญคือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่ง Obama ได้เลือก Tim Geithner ให้มาเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลของเขา ปัจจุบัน Geithner เป็นหัวหน้าธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก Geithner มีประสบการณ์การทำงานมายาวนาน ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝีมือดีที่สุดคนหนึ่ง และได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเจรจาเพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่คือ AIG
สำหรับตำแหน่งที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการ National Economic Council ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการประสานนโยบายเศรษฐกิจ คนที่ Obama เลือกให้มาคุมคือ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังในสมัย Clinton
นอกจากเรื่องการจัดทีมเศรษฐกิจแล้ว Obama ได้เดินหน้าประกาศนโยบายเศรษฐกิจ โดยมาตรการสำคัญที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่า จะมีการอัดฉีดเงิน เพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ อีกอย่างน้อย 5 แสนล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Obama จะเดินเครื่องเต็มที่ในการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจตอนนี้ อยู่ในอาการทรุดหนัก และรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930
สำหรับในเรื่องนโยบายต่างประเทศนั้น Obama มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยม มีแนวนโยบายสายพิราบ Obama ได้เน้นว่านโยบายต่างประเทศ จะต้องมีการยกเครื่องใหม่ และมองโลกในแง่ดี และพยายามย้ำเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐฯ ดังนั้น หาก Obama บรรลุการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศได้จริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อโลก โดยน่าจะทำให้โลกมีเสถียรภาพและสันติภาพมากขึ้น
แต่มีโจทย์ใหญ่สำหรับ Obama หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่อตะวันออกกลาง อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน และสงครามต่อต้านการก่อการร้าย Obama เน้นการกลับไปฟื้นฟูพันธมิตร หุ้นส่วนและสถาบันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ สำหรับในเอเชีย Obama น่าจะให้ความสำคัญกับเวทีอาเซียนมากขึ้น และสำหรับนโยบายต่อมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะกับจีนและรัสเซียนั้น Obama ก็มีแนวโน้มว่า จะลดความตึงเครียดและมีนโยบายปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมมองว่า ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ที่ Obama จะประสบความสำเร็จ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ขายฝันให้ชาวอเมริกันและชาวโลก และก็ขายฝันสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง
ดังนั้น ในช่วงอีก 4 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเป็น 8 ปีก็ได้ เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Obama ในที่สุดแล้ว จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโลก ที่ได้ปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงโลกไปสู่ระเบียบโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือ Obama จะเป็นเพียงประธานาธิบดีที่มีผลงานแค่พอใช้ได้ คือ ประสบความสำเร็จในบางเรื่องและล้มเหลวในบางเรื่อง หรือ Obama จะกลายเป็นประธานาธิบดีที่ประสบความล้มเหลว เหมือนอย่างที่อดีตประธานาธิบดี Bush ได้ถูกตราหน้า ก็ยังไม่มีใครจะรู้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น