Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของ "สถาปัตยกรรม" ในภูมิภาคเอเชีย (ตอนที่1)

ข้อเสนอการทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของ “สถาปัตยกรรม” ในภูมิภาคเอเชีย (ตอนที่ 1)
ปีที่ 56 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ที่ 20 - พฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2552

การประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่จะมีขึ้นในประเทศไทยในช่วงประมาณวันที่ 10-12 เมษายนนี้ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจของอาเซียนคือ จะทำอย่างไรให้อาเซียนเป็นแกนกลางของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และบทบาทของอาเซียนในการที่จะเป็นแกนกลางของระบบดังกล่าว

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย

ในปัจจุบัน ลักษณะเด่นของระบบการเมืองความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียคือ ระบบที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า hub and spoke เป็นระบบดุมล้อและซี่ล้อ เป็นระบบที่สหรัฐเป็นผู้นำ ครองความเป็นเจ้า และเป็น hubโดยมีพันธมิตร 5 ประเทศหลักเป็นซี่ล้อ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ อเมริกาได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศที่ไม่ได้เป็น 5 พันธมิตรด้วย ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้และเอเชียกลาง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามที่มีความสัมพันธ์ทางทหารที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น

ในเอเชียเกือบทั้งหมดเป็นพันธมิตรและมีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐ ในเอเชียมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านการทหารกับสหรัฐ ซึ่งประเทศเหล่านั้นได้แก่ เกาหลีเหนือ จีน ลาว พม่า และเนปาล นอกนั้น เป็นพวกอเมริกาหมด จะใกล้ชิดมากหรือน้อยก็แล้วแต่ แต่ก็ร่วมมือกับอเมริกาทั้งสิ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย เป็นระบบที่อเมริกาครองความเป็นเจ้าอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เริ่มมีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้น ที่จะทำให้ระบบหนึ่งขั้วอำนาจของอเมริกาเสื่อมลง นั่นก็คือการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย และการเกิดขึ้นของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คำว่าสถาปัตยกรรมอาจจะดูไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเป็นภาษาทางการทูต ถ้าพูดง่ายๆก็คือ สถาบันระหว่างประเทศนั่นเอง นั่นคือ การเพิ่มบทบาทมากขึ้นของอาเซียนและเวทีพหุภาคีอื่นๆ

สำหรับในอนาคต ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชีย จะพัฒนาไปอย่างไรนั้น ก็มีความเป็นไปได้หลายทาง

scenario ที่ 1 คือระบบหนึ่งขั้วอำนาจ คือมองว่า ระบบ hub and spoke จะยังคงอยู่ ในอนาคต จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในระยะสั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นข้อจำกัด ในการที่อาเซียนจะพัฒนาไปเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

แต่ในระยะยาว การผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย อาจจะทำให้ระบบหนึ่งขั้วอำนาจเสื่อมลงไปเรื่อยๆ และถูกแทนที่ด้วยระบบหลายขั้วอำนาจ ซึ่งจะมีมหาอำนาจหลักๆได้แก่ สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เล่นเกมถ่วงดุลอำนาจกัน และหากในอนาคต เป็นระบบหลายขั้วอำนาจที่มีมหาอำนาจเป็นตัวแสดงหลัก ก็จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการที่อาเซียนจะพัฒนาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมี scenario อีกอันหนึ่ง ที่ได้รับความสนใจคือ Concert of Asia ในศตวรรษที่ 19 ในยุโรปมี Congress of Vienna เกิดเป็น Concert of Europe มหาอำนาจหลายๆประเทศมาร่วมมือกัน และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น สำหรับเอเชีย จะสามารถเกิด Concert of Asia ได้หรือไม่ คำตอบคือ คงยาก ถ้าจะหมายความว่า มหาอำนาจหลายๆประเทศ อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐ จะมาร่วมมือกัน คงเป็นไปได้ยาก

แต่นักวิชาการชื่อดังของอินโดนีเซีย ชื่อ Jusuf Wanandi ก็ได้เสนอแนวคิด Concert of Asia ขึ้นมา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า แนวคิดของ Jusuf จะเป็นการสะท้อน ท่าทีของรัฐบาลของอินโดนีเซียหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ว่า น่าจะสะท้อนแนวคิดของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดย Jusuf วิพากษ์วิจารณ์อาเซียนอย่างรุนแรง และบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่อินโดนีเซียจะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำ ในการผลักดันสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่อาเซียนจะไม่ใช่เสาหลักในนโยบายต่างประเทศอินโดนีเซียอีกต่อไป โดย Jusuf เสนอให้มีการจัดตั้ง Concert of Asia หรือ G 8 ของเอเชียตะวันออก โดยกลุ่มนี้จะเป็นความร่วมมือของมหาอำนาจหลักๆซึ่งจะประกอบด้วย 8 ประเทศได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย และสหรัฐ

แนวคิดเรื่อง Concert of Asia จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เพราะในแนวคิด Concert of Asia จะมีสมาชิกคือ 8 มหาอำนาจในเอเชีย แต่จะไม่มีอาเซียน ผมมองว่า เบื้องหลังท่าทีของอินโดนีเซีย น่าจะมาจากความทะเยอทะยานของอินโดนีเซีย ที่มองว่าประเทศตนมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งในภูมิภาค (อินโดนีเซียได้เป็นหนึ่งในกลุ่ม G 20) อินโดนีเซียอาจมองว่า หากติดยึดอยู่กับอาเซียน อินโดนีเซียก็จะเป็นได้แค่ หนึ่งในสมาชิกอาเซียนเท่านั้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของอินโดนีเซีย

อีกตัวแบบหนึ่งเรียกว่า Condominium of powers ในความหมายทางด้านการทูต หมายถึง มี 2 ประเทศ ที่มีอำนาจมากที่สุดมาร่วมมือกัน จัดการเรื่องต่างๆในภูมิภาคทั้งหมด ซึ่งในแง่ของเอเชีย คือ ความร่วมมือกันของสหรัฐกับจีน ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยากอีกเช่นกัน

แนวโน้มอีกประการหนึ่งสำหรับระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคในอนาคตคือการเกิดขึ้นของเวทีพหุภาคีซ้อนๆกันหลายเวที คือ อาเซียน เอเปค และขณะนี้ ออสเตรเลียกำลังผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเชีย-แปซิฟิค (Asia-Pacific Community) ซึ่งผมมองว่า ทั้งเอเปคและข้อเสนอ Asia-Pacific Community นั้น ก็เป็นเครื่องมือของมหาอำนาจตะวันตกที่ต้องการที่จะกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกัน ซึ่งหากเอเชียรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ โดยไม่มีสหรัฐ ก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐและตะวันตก และจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคลดลงเป็นอย่างมาก ดังนั้น การเกิดขึ้นของเวทีพหุภาคีซ้อนๆกันหลายเวทีแข่งกับอาเซียนดังกล่าวข้างต้น ก็จะเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งต่อการที่อาเซียนจะพัฒนาเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
( โปรดติดตามอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

ไม่มีความคิดเห็น: