Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2552

ภัยคุกคามสหรัฐปี 2009

ภัยคุกคามสหรัฐปี 2009
ปีที่ 56 ฉบับที่ 25 วันศุกร์ที่ 13 - พฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2552

เมื่อเร็วๆนี้ สภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานประจำปี วิเคราะห์ภัยคุกคามต่อสหรัฐในปี 2009 คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะได้นำเอกสารดังกล่าว มาสรุปวิเคราะห์ดังนี้

วิกฤติเศรษฐกิจโลก

นับเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐ ได้มองว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก กำลังจะเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ต่อสหรัฐ โดยความกังวลใจของสหรัฐ โดยเฉพาะในช่วงระยะสั้นคือ วิกฤติเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐ โดยมองว่า ถ้าวิกฤติยืดเยื้อยาวนาน จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของสหรัฐมากขึ้น วิกฤติเศรษฐกิจกำลังจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการไร้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศต่างๆ นอกจากจะนำไปสู่แนวโน้มชาตินิยมทางเศรษฐกิจแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบทำให้ประเทศพันธมิตรต่างๆของสหรัฐ ไม่สามารถร่วมมือทางด้านการทหารกับสหรัฐได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ในรายงานยังได้มองว่า วิกฤติการเงินสหรัฐ ได้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อนโยบายตลาดเสรี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายการเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ นอกจากนี้ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ยังได้ส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นผู้นำในระบบเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ การประชุมสุดยอด G 20 เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นถึงการลดบทบาทของสหรัฐและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่

นี่เป็นการวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทวิเคราะห์ในคอลัมน์โลกทรรศน์ เกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติการเงินสหรัฐต่อสถานะอภิมหาอำนาจของอเมริกาไปแล้ว โดยผมมองว่า กำลังมีคำถามใหญ่ต่อการเสื่อมถอยอำนาจของสหรัฐ โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤติการเงินที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี 1929 สหรัฐกำลังจะสูญเสียสถานะการเป็นอภิมหาอำนาจในระบบการเงินโลกหรือไม่ นิวยอร์กจะสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางของระบบการเงินของโลกหรือไม่ และสถานะของเงินดอลลาร์กำลังจะเสื่อมลงหรือไม่

ในอดีต หลักการเศรษฐกิจที่ครอบงำโลกคือ ฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเน้นหลักกลไกตลาด การเปิดเสรี แต่หลังจากเกิดวิกฤติการเงินครั้งนี้ ได้ทำให้ฉันทามติวอชิงตันสั่นคลอนลงไปเป็นอย่างมาก แนวโน้มของระบบการเงินโลกจึงอาจจะกำลังเปลี่ยนไปจากระบบ 1 ขั้วอำนาจที่มีสหรัฐครองความเป็นเจ้าเพียงหนึ่งเดียว ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ที่จะมีหลายๆประเทศ กำลังจะเพิ่มบทบาทมากขึ้น

การก่อการร้าย

ภัยคุกคามประการที่ 2 ที่หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐมองคือ การก่อการร้าย โดยมองว่า al-Qa’ida ยังคงมีบทบาทเป็นภัยคุกคาม และขณะนี้กำลังเน้นการสนับสนุนกลุ่ม Taliban สร้างความปั่นป่วนในอัฟกานิสถานและปากีสถาน

อย่างไรก็ตาม ในปากีสถาน เอกสารดังกล่าวประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2008 al-Qa’ida ได้สูญเสียฐานที่มั่นบางส่วน โดยเฉพาะในเขตพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน สำหรับในอิรัก องค์กร al-Qa’ida in Iraq กำลังลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว ยังคงมีความสามารถที่จะก่อการร้ายในอิรักในอนาคต

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มก่อการร้ายสำคัญคือ JI ในอินโดนีเซีย และ Abu Sayyaf ในฟิลิปปินส์ แต่มาตรการของรัฐบาลในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้สมรรถภาพของกลุ่มลดลง
รายงานได้ประเมินว่า ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในการปราบปราม al-Qa’ida ได้ในระดับหนึ่ง แต่ al-Qa’ida ก็ยังคงเป็นภัยคุคาม และยังคงจ้องจะก่อวินาศกรรมต่อสหรัฐและพันธมิตร

ตะวันออกกลาง

ภูมิภาคที่สหรัฐยังคงให้ความสำคัญที่สุดคือ ตะวันออกกลาง โดยในรายงานดังกล่าวได้มองว่า แนวโน้มสำคัญได้แก่ การผงาดขึ้นมาของอิหร่าน ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา นอกจากนี้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ยังคงยืดเยื้อ โดยเฉพาะกลุ่ม Hizballah และ Hamas ได้ประสบความสำเร็จเหนือรัฐบาลแนวสายกลาง โดยได้ปลุกระดมชาวปาเลสไตน์ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอล นอกจากนี้ กำลังมีแนวรบสำคัญระหว่างรัฐบาลอาหรับสายกลางกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลสายกลาง

สหรัฐยังคงมุ่งเป้าไปที่บทบาทของอิหร่านมากที่สุด โดยมองว่าอิทธิพลของอิหร่านกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลในอิรัก ในซีเรีย ความพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และการเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Hamas Hizballah ทำให้อิหร่านมีความทะเยอทะยานพยายามจะครอบงำภูมิภาค กลุ่มผู้นำอาหรับนิกายซุนหนี่ ก็พยายามจะลดบทบาทอิหร่าน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ความทะเยอทะยานของอิหร่าน บวกกับความขัดแย้งในอิรักและปาเลสไตน์จึงเป็นจุดอันตรายของความขัดแย้งในภูมิภาค

อาวุธร้ายแรง

ภัยคุกคามที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งต่อสหรัฐคือ การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยสหรัฐมุ่งเป้าไปที่กรณีของอิหร่าน เฉพาะการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของอิหร่าน โดยเอกสารประเมินภัยคุกคามได้มองว่า นับเป็นจุดอันตรายที่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ส่งผลให้ประเทศต่างๆในตะวันออกกลางตัดสินใจพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาบ้าง โดยเอกสารดังกล่าวได้ชี้ว่า มีหลักฐานชัดเจนว่า อิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาการเพิ่มสรรถนะแร่ยูเรเนียม ซึ่งอาจนำมาใช้ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และอิหร่านยังคงเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งอาจจะใช้ติดหัวรบอาวุธนิวเคลียร์ได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวกรองสหรัฐประเมินว่า ช่วงเวลาที่อิหร่านอาจจะเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมจนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ น่าจะเป็นในช่วงปี 2010-2015

นอกจากนี้ ในอนาคต สหรัฐจะเผชิญกับภัยคุกคามที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การที่ขบวนการก่อการร้ายจะสามารถมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง คือ อาจจะเป็นอาวุธเชื้อโรค อาวุธเคมี หรือ อาวุธนิวเคลียร์ และใช้อาวุธดังกล่าวในการโจมตีสหรัฐ

เอเชีย

หน่วยข่าวกรองสหรัฐมองว่า เอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ กำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของโลกในอนาคต โดยเฉพาะจากการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย แต่หน่วยข่าวกรองสหรัฐมุ่งเป้าไปที่จีน ในการมองว่าจีนมีศักยภาพในการเป็นภัยคุกคาม การผงาดขึ้นมาของจีน ได้ส่งผลกระทบต่อดุลยภาพแห่งอำนาจในภูมิภาค และประเทศต่างๆในภูมิภาค ก็ต้องการความเป็นผู้นำของสหรัฐ ในการกระตุ้นให้จีนเป็นตัวแสดงที่มีความรับผิดชอบและสร้างสรรค์ แต่หน่วยข่าวกรองสหรัฐก็ยังคงมีความห่วงใยว่า บทบาทของจีนอาจจะท้าทายสหรัฐ หากจีนเลือกที่จะใช้อำนาจและอิทธิพลที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐ

จุดอันตรายอีกจุดในเอเชียคือ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยเฉพาะหากปากีสถานไม่สามารถดำเนินมาตรการที่จะลดความหวาดระแวงจากอินเดียที่มองว่า รัฐบาลปากีสถานอาจจะอยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อวินาศกรรมที่มุมไบ เมื่อปลายปีที่แล้ว

และแน่นอนว่า จุดอันตรายอีกจุดหนึ่งในเอเชีย ในสายตาของสหรัฐคือ เกาหลีเหนือ โดยเฉพาะความทะเยอทะยานในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และพฤติกรรมการแพร่ขยายเทคโนโลยีอาวุธร้ายแรง ซึ่งคุกคามต่อเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยในรายงานดังกล่าวได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ยังคงเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และขายขีปนาวุธให้กับประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งอิหร่าน รวมทั้งได้ช่วยเหลือซีเรียในการก่อสร้างโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ด้วย

รัสเซีย

สุดท้าย ภัยคุกคามอีกประการในมุมมองของสหรัฐก็คือ ภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยรัสเซียได้ท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ และรัสเซียได้พยายามกระชับความสัมพันธ์ กับทั้งจีน อิหร่าน และเวเนซุเอล่า และพยายามเข้าควบคุมเครือข่ายพลังงานในยุโรปและเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ รัสเซียยังได้พัฒนากำลังทางทหาร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณการกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจของรัสเซียอีกครั้ง และความพยายามที่จะครอบงำประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย โดยเฉพาะที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ตัวอย่างสำคัญคือ การบุกจอร์เจีย รัสเซียมีแนวโน้มขัดแย้งกับสหรัฐในหลายเรื่อง อาทิ การขยายจำนวนสมาชิก NATO ความขัดแย้งในแถบเทือกเขาคอเคซัส และคาบสมุทรบอลข่าน รวมทั้งแผนการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐ

กล่าวโดยสรุป รายงานประเมินภัยคุกคามของหน่วยข่าวกรองสหรัฐ สำหรับปี 2009 นี้ ก็เป็นการมองภัยคุกคามที่ไม่ต่างจากในอดีต เป็นการมองภัยคุกคามจากข้าราชการประจำ CIA ที่มักจะมีการมองโลกแบบสายเหยี่ยว ถึงแม้รายงานฉบับนี้จะออกมาในสมัยรัฐบาล Obama ซึ่งหลายคนตั้งความหวังว่าจะมีการมองโลกเปลี่ยนไปจากสมัยรัฐบาลของ Bush แต่จากการอ่านรายงานฉบับนี้แล้ว ทำให้เห็นว่า ข้าราชการประจำเป็นตัวกำหนดสำคัญที่ทำให้ในที่สุดรัฐบาล Obama กับรัฐบาล Bush ก็มองโลกไม่ต่างกัน แต่ผมก็หวังว่า แม้จะมองภัยคุกคามเหมือนกัน แต่รัฐบาล Obama น่าจะมีมาตรการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่นิ่มนวลกว่ารัฐบาล Bush

ไม่มีความคิดเห็น: