Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความขัดแย้งจีน – อินเดีย

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 50 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2552

ความขัดแย้งจีน – อินเดีย

จีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด โดยมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด 2 ประเทศรวมกันก็มีประชากรเกือบ 1 ใน 3 ของโลก แต่จีนกับอินเดียกำลังมีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์แนวโน้มความขัดแย้งจีนและอินเดีย ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ ทางทหาร และจะวิเคราะห์ความขัดแย้งทางด้านพรมแดนล่าสุดด้วย

ความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจ

จีนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ โดยมี GDP ประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญ ในขณะที่ เศรษฐกิจอินเดียมีขนาดเล็กกว่าจีนอยู่หลายเท่า แต่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียกำลังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอินเดียจะค่อย ๆ ไล่จี้จีนขึ้นมาเรื่อย ๆ และในปี 2050 เศรษฐกิจของอินเดียอาจจะใหญ่เท่ากับเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
และมีแนวโน้มที่จีนและอินเดียจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการทางด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีแนวโน้มที่ขัดแย้งและจะแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานกัน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของอินเดียก็มีแนวโน้มที่จะเป็นคู่แข่งกัน ทั้งนี้เพราะจีนกำลังมุ่งพัฒนาภาคบริการของตนอย่างเต็มที่เพื่อแข่งกันอินเดีย ในขณะที่อินเดียก็มุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของตน เพื่อแข่งกันจีน


ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ในสายตาของจีนนั้น มองว่า อินเดียกำลังเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องหาทางถ่วงดุลอำนาจและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน ในสายตาของอินเดียก็มองว่า จีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องหาทางปิดล้อมเช่นเดียวกันทั้งสองประเทศมีกรณีพิพาทพรมแดน ซึ่งได้เป็นสงครามในปี 1962 ในพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย เมื่อปี 1998 อินเดียได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ อินเดียก็ได้ประกาศว่า อาวุธนิวเคลียร์มีไว้เพื่อป้องปรามจีน อินเดียไม่พอใจที่จีนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของปากีสถาน และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกของปากีสถานที่เมืองท่า Gwadar และจีนยังขยายความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ อินเดีย โดยเฉพาะกับพม่าและบังคลาเทศ โดยจีนได้พัฒนาท่าเรือน้ำลึกในพม่าและบังคลาเทศด้วย อินเดียจึงมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย และอินเดียยังมองว่าจีนเป็นตัวการขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของ UN และจีนก็ขัดขวางไม่ให้อินเดียได้เป็นสมาชิกของ APEC ด้วย

นอกจากนี้ จีนยังพยายามตีสนิทกับศรีลังกาและเนปาล ซึ่งจีนได้ฉวยโอกาสจากสงครามกลางเมืองในประเทศทั้งสอง ในกรณีเนปาล จีนได้สนับสนุนกลุ่มนิยมลัทธิเหมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มที่นิยมกษัตริย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่อินเดียสนับสนุนอยู่ สำหรับในกรณีของศรีลังกา ซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทมิฬกับสิงหล โดยในอดีตอินเดียสนับสนุนกลุ่มทมิฬ แต่ในตอนหลัง ๆ อินเดียได้ลดบทบาทลง และยุติการสนับสนุนทางอาวุธ ซึ่งได้ก่อให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ซึ่งจีนก็ฉวยโอกาสเข้าแทนที่ทันที โดยขณะนี้ เรือรบของจีนสามารถไปจอดที่ท่าเรือ Hambontota ทางตอนใต้ของเกาะศรีลังกาได้

ขณะเดียวกัน อินเดียก็ตอบโต้ด้วยการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน โดยพยายามตีสนิทกับสหรัฐ อินเดียกับสหรัฐได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน นอกจากนี้ อินเดียก็พยายามจะตีสนิทกับพม่ามากขึ้นเพื่อถ่วงดุลจีน รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียก็ได้พยายามอย่างมากที่จะเพิ่มบทบาท เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

ความขัดแย้งทางทหาร

จีนกำลังเพิ่มสมรรถภาพทางทหารขึ้นอย่างมาก โดยงบประมาณทางทหารของจีนเพิ่มขึ้นถึง 18 %ในปี 2008 และมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่อินเดียก็กำลังเพิ่มสมรรถภาพทางทหารเพื่อแข่งกับจีน กองทัพเรืออินเดีย ขณะนี้ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยอินเดียมุ่งเน้นที่จะครอบงำมหาสมุทรอินเดีย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดียระหว่างจีนกับอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยทั้ง 2 ประเทศต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย จึงมีแนวโน้มที่ทั้ง 2 ประเทศจะส่งกองทัพเรือของตนมาปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมันในมหาสมุทรอินเดีย

ความขัดแย้งทางพรมแดน

ทั้ง 2 ประเทศมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ซึ่งเคยลุกลามกลายเป็นสงครามในปี 1962 อินเดียกล่าวหาว่า จีนได้เข้าไปยึดครองดินแดนของอินเดียในแถบแคชเมียร์ และพรมแดนแถบเทือกเขาหิมาลัย ความขัดแย้งได้ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยอินเดียได้ประกาศเพิ่มกองกำลังทางทหารประชิดพรมแดนจีน ส่วนจีนก็ตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ด้วยการประกาศตอกย้ำว่า ดินแดนประมาณ 90,000 ตารางกิโลเมตรที่ขัดแย้งกับอินเดียนั้นเป็นของจีน โดยจีนได้ประกาศว่าเขต Arunachal Pradesh เป็นดินแดนของจีน และจีนได้ส่งกองกำลังทหารล้ำเข้าไปในแคว้น Sikkim ของอินเดียหลายครั้ง และจีนพยายามที่จะพัฒนาเส้นทางคมนาคมในบริเวณเหล่านี้อย่างเต็มที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของจีน ก็ยิ่งทำให้อินเดียรู้สึกหวาดระแวงต่อจีนมากขึ้น อินเดียได้ตอบโต้ด้วยการประกาศเพิ่มกองกำลังทหาร โดยเฉพาะในแคว้น Assam ของอินเดีย ขณะนี้มีทหารจำนวนกว่า 100,000 คน

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการวิพากษ์วิจารณ์อินเดียอย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทางทหารของอินเดีย ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และถามว่าอินเดียพร้อมแล้วหรือที่จะเผชิญหน้ากับจีน โดยหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ยอกย้ำว่า จีนไม่กลัวอินเดีย พร้อมทั้งกล่าวประชดประชันอินเดียว่า ล้มเหลวที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เทียบเท่าจีน และยังได้กล่าวเตือนอินเดียว่า จีนมีพันธมิตรทั้งกับปากีสถาน ศรีลังกา และเนปาล และตอกย้ำจุดยืนของจีน โดยเฉพาะต่อเขต Arunachal Pradesh ว่าจีนจะไม่มีทางยอมประนีประนอมในความขัดแย้งพรมแดนกับอินเดีย

ไม่มีความคิดเห็น: