Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Obama กับรางวัลโนเบลสันติภาพ

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 16 - วันพฤหัสบดี 22 ตุลาคม 2552

Obama กับรางวัลโนเบลสันติภาพ

รางวัลโนเบล

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้ประกาศให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2009 แก่ประธานาธิบดี Barack Obama โดยได้อ้างถึงความพยายามของ Obama ที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการทูตระหว่างประเทศ และเน้นว่าวิสัยทัศน์ของ Obama ที่ต้องการที่จะให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทางคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวชื่นชม Obama ว่า ได้สร้างบรรยากาศใหม่ให้เกิดขึ้นในการเมืองระหว่างประเทศ การทูตพหุภาคีได้กลับมามีความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการเน้นบทบาทของสหประชาชาติและสถาบันระหว่างประเทศ การเจรจาหารือ ได้กลับมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ของ Obama ที่ต้องการให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ได้กระตุ้นให้เกิดการเจรจาเพื่อลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ และขณะนี้สหรัฐฯได้กลับมามีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

คณะกรรมการโนเบลได้ตอกย้ำว่า นาน ๆ ถึงจะมีบุคคลในโลกอย่างเช่น Obama ที่จะทำให้โลกเกิดความสนใจและทำให้ประชาชนในโลกมีความหวังสำหรับอนาคตที่จะดีขึ้น คณะกรรมการโนเบลได้กล่าวในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่า ตลอดเวลา 108 ปีที่ได้มีการให้รางวัลโนเบลคณะกรรมการโนเบลได้แสวงหามาโดยตลอดที่จะกระตุ้นให้เกิดนโยบายระหว่างประเทศและทัศนคติในแนวที่เหมือนกับ Obama ดังนั้น Obama จึงกลายเป็นกระบอกเสียงของนโยบายและทัศนคติดังกล่าว คณะกรรมการเห็นด้วยกับการเรียกร้องของ Obama ที่กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรที่จะแบ่งความรับผิดชอบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและสิ่งท้าทายของโลกร่วมกัน”

สุนทรพจน์ของ Obama

และเมื่อ Obama ได้ทราบว่าตัวเองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในตอนเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ทำเนียบขาว สรุปได้ว่า ตนรู้สึกประหลาดใจสำหรับการประกาศของคณะกรรมการโนเบล และกล่าวว่า ไม่ได้มองว่ารางวัลดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของตน แต่มองว่ารางวัลดังกล่าวน่าจะเป็นการตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในการเป็นตัวแทนของความหวังของประชาชนทั่วโลก
Obama ได้กล่าวอย่างถ่อมตนว่า เขารู้สึกว่าเขาไม่สมควรที่จะได้รับรางวัลดังกล่าว โดยเมื่อเทียบกับบุคคลสำคัญ ๆ ของโลกที่ได้รับรางวัลในอดีต อย่างไรก็ตาม Obama ได้กล่าวว่า รางวัลโนเบลสันติภาพนั้นไม่จำเป็นจะต้องให้สำหรับความสำเร็จ แต่รางวัลจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันเป้าหมายสันติภาพในอนาคต ดังนั้น Obama จะยอมรับรางวัลดังกล่าว แต่ไม่ใช่สำหรับความสำเร็จ แต่ในฐานะที่เป็นการเรียกร้องให้มีการกระทำ คือรางวัลดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้ทุก ๆ ประเทศเผชิญหน้าต่อสิ่งท้าทายร่วมกันในศตวรรษที่ 21
แต่สิ่งท้าทายต่าง ๆ ของโลกไม่สามารถเผชิญได้ด้วยผู้นำหรือประเทศเพียงประเทศเดียว และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาล Obama จึงพยายามผลักดันให้เกิดยุคใหม่ของปฏิสัมพันธ์ โดยทุกประเทศในโลกจะต้องรับผิดชอบในการสร้างโลกใหม่อย่างที่เราต้องการ


· เราไม่สามารถทนต่อโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์แพร่ขยายและกลุ่มก่อการร้ายจะใช้
อาวุธนิวเคลียร์ และนี่คือเหตุผลที่รัฐบาล Obama พยายามที่จะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
· เราไม่สามารถยอมรับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน
· เราจะไม่ยอมปล่อยให้ความแตกต่างระหว่างประชาชนมาเป็นตัวกำหนดวิธีในการ
มองกันและกัน เพราะฉะนั้น นี่คือเหตุผลว่า รัฐบาล Obama จะผลักดันการเริ่มต้นใหม่ระหว่างประชาชน ซึ่งแม้จะแตกต่างกันทั้งในเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ยุคใหม่ก็จะตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันและความเคารพซึ่งกันและกัน เราจะต้องเดินหน้าในการแก้ไขความขัดแย้ง
· เราไม่สามารถยอมรับโลกที่ประชาชนถูกปฏิเสธโอกาส และศักดิ์ศรี นั่นก็คือ
การศึกษา การมีชีวิตที่ดี ความปลอดภัยจากโรคร้าย และความรุนแรง
· ในตอนท้าย Obama ได้พูดด้วยว่า สหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคาม โดยเฉพาะ
จากขบวนการก่อการร้ายและผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก


บทวิเคราะห์

Obama เพิ่งได้เป็นประธานาธิบดีเพียง 9 เดือนเท่านั้น ก็ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพแล้ว เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการโนเบลในปีนี้ไม่ได้เน้นในเรื่องของความสำเร็จ เพราะ Obama ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กลับไปเน้นในเรื่องของวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น ของ Obama มากกว่า
จุดเด่นของ Obama ที่เข้าตาคณะกรรมการโนเบลคือ วิสัยทัศน์ใหม่และความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปนโยบายต่างประเทศและปฏิรูปโลกใหม่ โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ


· โดย Obama ได้ประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจา แม้จะเป็นประเทศที่เป็นศัตรูกับ
สหรัฐฯ โดยได้เสนอที่พร้อมที่จะเจรจากับอิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
· ตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรัก และ
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้เดินหน้าถอนทหารออกจากอิรักไปบ้างแล้ว
· สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ Obama กำลังเดินหน้าเจรจาทวิภาคีและเริ่ม
ปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ
· ในกรณีของรัสเซีย Obama ได้พยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ โดยObama ได้ใช้
คำว่า “กดปุ่ม reset” โดยความสัมพันธ์สหรัฐ – รัสเซีย ได้เสื่อมทรามลงไปมากในสมัยรัฐบาล Bush จนนำไปสู่สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย แต่ Obama ก็ได้หันมาเจรจากับรัสเซียใหม่ และได้บรรลุข้อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศทั้งสอง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็ได้ประกาศยุติแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นแผนการของรัฐบาล Bush ที่ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก
· Obama ยังได้เปิดศักราชใหม่ระหว่างอเมริกากับโลกมุสลิม โดยได้
กล่าวสุนทรพจน์ที่ไคโร เมื่อเดือนมิถุนายน เรียกร้องให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม
· นโยบายของสหรัฐฯ ต่อพม่าและคิวบาก็เปลี่ยนไป โดยยุทธศาสตร์ที่เน้นคือ
ปฏิสัมพันธ์
· และจุดยืนของรัฐบาล Obama ต่อปัญหาภาวะโลกร้อนก็เปลี่ยนแปลงไปมาก
เช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม ก็ไม่วายที่จะมีกลุ่มที่ออกวิพากษ์วิจารณ์การที่ Obama ได้รับรางวัล
โนเบลสันติภาพ โดยมีกลุ่มใหญ่อยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก คือกลุ่มอนุรักษ์นิยม พรรครีพับริกัน โดยประธานพรรครีพับริกัน คือ Michael Steele ได้ออกมาตั้งคำถามง่าย ๆว่า Obama ประสบความสำเร็จอะไร
หลายคนได้ออกมาพูดในทำนองว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะให้รางวัล Obama โดยได้พูดว่า น่าจะรออีกสักนิดเพื่อที่จะรอให้เห็นถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ Obama ในการที่จะสร้างสันติภาพ
โดยผู้ที่ต่อต้าน Obama ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า Obama ก็ได้แต่พูด แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น Obama บอกว่าจะปิดคุกที่ Guantanamo Bay แต่จนมาถึงปัจจุบันคุกดังกล่าวก็คงยังเปิดอยู่
ปัญหาต่าง ๆ ในโลกก็ยังคงคาราคาซังอยู่ ไม่มีปัญหาใดที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่จะว่าจะเป็นปัญหาอิสราเอล- ปาเลสไตน์ เกาหลีเหนือ อิหร่าน คิวบา และรัสเซีย และได้โจมตีว่านโยบายปฏิสัมพันธ์ของ Obama ไม่ได้แสดงว่าจะประสบความสำเร็จและจะดีกว่านโยบายแข็งกร้าวของรัฐบาล Bush
และปัญหาใหญ่ของ Obama อีกเรื่องหนึ่งคือ สงครามในอัฟกานิสถาน โดยได้มีการประชดประชันว่า รางวัลนี้ให้กับผู้สร้างสันติภาพ แต่ Obama ก็ยังเป็นประธานาธิบดีที่ทำสงครามอยู่ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama ก็กำลังจะต้องตัดสินใจเพิ่มทหารเข้าไปอีก 40,000 คนเพื่อรบกับนักรบตาลีบัน และก็ยังไม่มีท่าทีว่า สงครามจะยุติลงเมื่อไร


ส่วนกลุ่มที่สองที่โจมตีรางวัลโนเบลสันติภาพของ Obama คือ กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง (ซึ่งก็เป็นเรื่องตลกว่า พรรครีพับริกันกับกลุ่มก่อการร้ายกลายเป็นมีจุดยืนในเรื่องนี้เหมือนกัน) โดยเฉพาะกลุ่มนักรบตาลีบันและกลุ่มฮามาส ได้ออกมากล่าวว่า พวกเขาไม่เห็นว่าประชาชนชาวอัฟกานิสถานและปาเลสไตน์จะมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นอย่างไร ดังนั้น พวกเขาจึงต่อต้านการที่ Obama ได้รับรางวัลโนเบลดังกล่าว
เช่นเดียวกับรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้รางวัลโนเบลกับ Obama นั้นเร็วเกินไป โดยเขามองว่า Obama ควรจะได้รับรางวัลก็ต่อเมื่อสหรัฐฯยอมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและอิรัก และสหรัฐฯสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์


กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า รางวัลสันติภาพที่ Obama ได้นั้น น่าจะเหมาะสม โดยเฉพาะหากมองว่า รางวัลนั้นให้สำหรับความตั้งใจและจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการสร้างสันติภาพขึ้นในอนาคต ผมมองว่า เราควรให้โอกาส Obama ในการที่จะสานฝันให้เป็นจริง ในการที่จะดำเนินนโยบายปฏิสัมพันธ์และก่อให้เกิดการปฏิรูประบบการเมืองโลก อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า ในที่สุดแล้ว นโยบายของ Obama ที่ได้เริ่มต้นไว้ดีแล้ว จะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไร ในการสร้างสันติภาพให้เกิดกับโลกอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น: