Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ออง ซาน ซูจี

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 48 วันศุกร์ที่ 21 - วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2552

ออง ซาน ซูจี

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว ศาลพม่าได้ตัดสินว่านางออง ซาน ซูจี มีความผิด ฐานปล่อยให้ชาวอเมริกันเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านพัก โดยซูจีมีความผิดต้องติดคุก 3 ปี แต่ศาลพม่าได้ลดโทษให้เหลือเป็นถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านเป็นเวลา 18 เดือน

ท่าทีของฝ่ายต่าง ๆ

หลังจากคำตัดสินของศาลพม่า หลาย ๆ ฝ่าย ได้ออกมาโจมตีคำตัดสิน โดยเฉพาะจากชาติตะวันตก
โดยในวันที่ 11 สิงหาคม ประธานาธิบดี Obama ได้ออกแถลงการณ์ว่า คำตัดสินเป็นการละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นการสวนทางกับพันธกรณีของพม่าภายใต้กฎบัตรอาเซียน และเห็นว่า พม่าไม่สนใจต่อแถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคง Obama จึงเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนาง ซูจี โดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าฟังเสียงประชาชนและประชาคมโลก และเดินหน้าสู่ความปรองดองแห่งชาติอย่างจริงจัง


ต่อมา นาง Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า ซูจีไม่ควรถูกจับและถูกดำเนินคดี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและนักโทษทางการเมืองอีกกว่า 2,000 คน

สำหรับทางสหภาพยุโรป หรือ EU นั้น ได้ออกแถลงการณ์ว่า พร้อมที่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า โดยจะให้มีมาตรการลงโทษกับผู้รับผิดชอบในคำตัดสิน รวมทั้งเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้น รวมถึงการระงับการส่งออกอาวุธ เข้มงวดเรื่องวีซ่า และคว่ำบาตรทางการเงิน โดยประธานาธิบดี Nicholas Zarkozy ของฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตร โดยมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ

สำหรับสหประชาชาติ เลขาธิการ UN คือ Ban Ki-Moon ได้ออกมาเรียกร้องในทำนองเดียวกัน ให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวซูจีโดยทันที ต่อมา คณะมนตรีความมั่นคงได้มีแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 13สิงหาคม กล่าวว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงได้แสดงความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในร่างแถลงการณ์ที่สหรัฐเสนอไปตอนแรก ได้เสนอข้อความ “ประณาม”คำตัดสิน แต่น่าจะเป็นคำคัดค้านจากจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับพม่า จึงทำให้ต้องเปลี่ยนจากคำว่า “ประณาม” มาเป็นแค่คำว่า “แสดงความห่วงใย”

สำหรับท่าทีของอาเซียนนั้น ในวันที่ 13 สิงหาคม ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้ออกแถลงการณ์มีใจความว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อคำตัดสินต่อซูจี ประธานอาเซียนขอตอกย้ำข้อเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ภูเก็ต ซึ่งได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมทั้ง ออง ซาน ซูจี อาเซียนพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลพม่าในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย และจะปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับพม่าต่อไป เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนร่วมกัน การเยือนพม่าของวุฒิสมาชิก James Web

อย่างไรก็ตาม ต่อมา สถานการณ์ในพม่าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง เมื่อ James Webb วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์จิเนียได้เดินทางไปพม่าหลังคำตัดสินเพียงไม่กี่วัน คือ ได้เดินทางไปถึงพม่าเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเยือนพม่าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐในรอบ 10 ปี

สำหรับจุดยืนของ Webb นั้น คือ ต่อต้านนโยบายคว่ำบาตรพม่ามาโดยตลอด ในฐานะที่เป็นประธานของคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐ เขาได้กล่าวโจมตีมาตรการคว่ำบาตรมาโดยตลอดว่าใช้ไม่ได้ผล และทำให้ธุรกิจของสหรัฐสูญเสียโอกาส ทำให้สหรัฐสูญเสียอิทธิพลในพม่า และทำให้จีนมีบทบาทในพม่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้จีนกำลังจะสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลอันดามันไปที่มณฑลยูนนาน Webb จึงสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อพม่า โดยให้ปรับมาตรการคว่ำบาตร Webb ได้กล่าวในสภา Congress เมื่อเดือนมิถุนายน สนับสนุนนโยบายปฏิสัมพันธ์โดยกล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตร ไม่ได้ทำให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในพม่าเลย โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ต่อมา ในวันที่ 15 สิงหาคม Webb ได้พบปะหารือกับผู้นำพม่า คือ ตาน ฉ่วย และผลการหารือทำให้พม่าตัดสินใจปล่อยตัว John Yettaw ซึ่งจะต้องถูกจำคุกอยู่ถึง 7 ปี นอกจากนั้น Webb ยังได้รับอนุญาตให้พบปะกับนางซูจีด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ ผู้นำต่างประเทศ ไม่เคยมีใครได้พบปะกับซูจีเลย แม้กระทั่ง Ban Ki-Moon เลขาธิการ UN ในตอนไปเยือนพม่าเมื่อเดือนกรกฎาคม ก็ไม่ได้พบกับนางซูจี

การเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐ

การเยือนพม่าของ Webb ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนท่าทีของสหรัฐต่อพม่า ซึ่งจริง ๆ แล้ว สัญญาณการเปลี่ยนท่าทีเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในตอนที่ Hillary Clinton เดินทางมาเยือนเอเชียครั้งแรก Hillary ได้กล่าวยอมรับว่า นโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเผชิญหน้า ประสบความล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรัฐบาลพม่า และเมื่อเดือนที่แล้ว Hillary ได้เสนอเงื่อนไขให้รัฐบาลพม่าว่า หากปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ก็จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสของการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงการกลับเข้าไปลงทุนในพม่า และการแลกเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ

ต่อมา นักการทูตสหรัฐได้พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่าในเดือนมีนาคม และในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันระหว่างฝ่ายพม่ากับสหรัฐ ในระหว่างการประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า จากความล้มเหลวของมาตรการคว่ำบาตรในอดีต ทำให้รัฐบาล Obama ได้ส่งสัญญาณถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยกำลังพิจารณานโยบายปฏิสัมพันธ์แทนนโยบายคว่ำบาตร และเปลี่ยนมาเป็นมาตรการให้รางวัลแทนมาตรการลงโทษในอดีต


การปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อพม่า ก็เป็นไปในแนวนโยบายของ Obama ซึ่งพร้อมที่จะปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่ถึงแม้จะเป็นศัตรูกัน ก่อนหน้านี้ เห็นได้จากการเปลี่ยนนโยบายต่ออิหร่าน โดย Obama ได้ประกาศว่า พร้อมที่จะเจรจากับผู้นำอิหร่าน และต่อมา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือ เห็นได้จากการเยือนเกาหลีเหนือของอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton ซึ่งการเยือนพม่าของวุฒิสมาชิก Webb ก็มาในแนวเดียวกับการเยือนเกาหลีเหนือของ Bill Clinton เห็นได้ชัดว่า สหรัฐกำลังจะเริ่มปฏิสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการก่อน โดยใช้ Bill Clinton และ วุฒิสมาชิก Webb เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือและพม่าในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: