ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 56 ฉบับ 49 วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม - วันหฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2552
สหรัฐประกาศนโยบายใหม่ต่อ UN
เมื่อเร็ว ๆ นี้ Susan Rice ทูตสหรัฐประจำ UN ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัย New York ในหัวข้อเรื่อง “A New Course in the World, a New Approach at the UN” ซึ่งแปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ทิศทางนโยบายต่างประเทศใหม่ของสหรัฐต่อโลกและนโยบายใหม่ต่อ UN
ยุคใหม่ของการปฏิสัมพันธ์
ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Rice ได้กล่าวว่า สหรัฐภายใต้การนำของ Barack Obama กำลังเปลี่ยนนโยบายใหม่ต่อโลกและต่อ UN การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีความจำเป็นเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมีปัญหาต่าง ๆ มากมายได้แก่ ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ วิกฤตการเงินโลก สงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านและเกาหลีเหนือ การก่อการร้าย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปัญหาภาวะโลกร้อน และปัญหาข้ามชาติอื่น ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้
รัฐบาล Obama มีหลัก 3 ประการในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ประการที่หนึ่ง ปัญหาต่าง ๆ ของโลกไม่สามารถแก้ได้หากปราศจากการเป็นผู้นำของสหรัฐ ประการที่สอง ถึงแม้การเป็นผู้นำของสหรัฐจะจำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา เราต้องการความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และหลักประการที่สาม คือ ประเทศต่าง ๆในโลกจะเข้ามารับผิดชอบในการแก้ปัญหาโลกมากขึ้น ก็ต่อเมื่อสหรัฐต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาด สร้างความเป็นหุ้นส่วนและปฏิบัติต่อประเทศอื่น ๆ ด้วยความเคารพ
ดังนั้น นโยบายต่างประเทศสหรัฐในศตวรรษที่ 21 จึงจะต้องเพิ่มจำนวนประเทศที่ร่วมมือกับสหรัฐให้มากที่สุด โดยประเทศเหล่านั้นจะต้องมีสมรรถภาพและมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน UN มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมสมรรถภาพให้กับรัฐที่อ่อนแอ และกำลังจะล้มเหลว เห็นได้จากในกรณี ไฮติ ไลบีเรีย และคองโก นอกจากการสร้างสมรรถภาพแล้ว เรายังต้องการเจตนารมณ์จากประเทศต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา สหรัฐพยายามที่จะสร้างเจตนารมณ์ให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Obama เรียกว่า ยุคใหม่ของปฏิสัมพันธ์ หรือ New Era of Engagement
ทั้งในคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่ สหรัฐพยายามผลักดันเป้าหมายร่วมกันกับประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า UN ยังมีข้อบกพร่อง ในคณะมนตรีความมั่นคงก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะในกรณีปัญหา ดาร์ฟู ซิมบับเว และพม่า แต่ก็อย่างที่ Obama ได้เคยพูดไว้ คือ UN ยังไม่ perfect แต่ก็ยังคงเป็นองค์กรที่สำคัญยิ่ง ยังไม่อะไรที่จะสามารถแทนที่ความชอบธรรมของ UN ได้ในการเป็นองค์กรของประชาคมโลก
UN ส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐ
Rice ได้กล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน ความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐ ขึ้นอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอื่น ๆ ดังนั้น UN จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ชาวอเมริกันมั่นคงปลอดภัย Rice ได้บอกว่า ได้ใช้ UN ในการส่งเสริมความมั่นคงของสหรัฐ โดยได้ยกตัวอย่างในกรณี เกาหลีเหนือ ซึ่งสหรัฐได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาในคณะมนตรีความมั่นคง และผลักดันให้มีข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับในกรณีอิหร่าน สหรัฐได้ใช้คณะมนตรีความมั่นคง ในการกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาของนิวเคลียร์ นอกจากนี้ ลำดับความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล Obama คือ การป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐกำลังร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการก่อการร้าย สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์หรือวัตถุนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง และในเดือนกันยายนนี้ จะถึงวาระสหรัฐเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคง Obama ก็จะใช้โอกาสนี้ในการเป็นประธานการประชุมสุดยอดคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อผลักดันในเรื่องดังกล่าวข้างต้น
Rice ยังบอกว่า UN มีบทบาทสำคัญต่อสองประเทศที่มีความสำคัญต่อสหรัฐ คือ อิรักและอัฟกานิสถาน ในช่วง 60 ปีตั้งแต่การก่อตั้ง UN มีบทบาทอย่างสำคัญในการยุติความขัดแย้ง อาทิ สงครามเกาหลี นามิเบีย โมซัมบิก ไซปรัส เฮติ ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน
ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์
ในสุนทรพจน์ของ Rice ได้บอกว่า สหรัฐได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่อ UN ใหม่ โดยได้เข้าร่วมในกลไกต่าง ๆ ของ UN อย่างสร้างสรรค์มากขึ้น โดยได้ยกตัวอย่างกรณีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN ในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและโจมตีคณะมนตรีมาโดยตลอด แต่การกระทำของรัฐบาล Bush ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ในสมัยรัฐบาล Obama จึงได้เปลี่ยนนโยบายใหม่ โดยสหรัฐได้เข้าร่วมและมีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน Rice ตอกย้ำว่า ความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากสหรัฐไม่ได้เข้าร่วม ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ทางการทูต
นโยบายใหม่ต่อ UN
Rice กล่าวว่า ในอดีต คือในสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐมีแนวนโยบายในเชิงลบต่อ UN เป็นอย่างมาก แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในสมัยของรัฐบาล Obama สหรัฐได้ปฏิรูปนโยบายต่อ UN ใหม่หมด ตัวอย่าง เช่น สหรัฐได้หันกลับมาสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ(Millennium Development Goals) (ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bushได้ต่อต้านอย่างเต็มที่) สหรัฐได้ให้การสนับสนุน UN Population Fund ลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนฉบับใหม่ สนับสนุนข้อมติของสมัชชาใหญ่ และปรับเปลี่ยนท่าทีต่อการเจรจาแก้ภาวะโลกร้อนของ UN ซึ่งในสมัยรัฐบาล Bush ได้ต่อต้านมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นทั้งหมด
ปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกประเทศ
Rice ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สหรัฐกำลังมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ทั้งกับประเทศใหญ่และประเทศเล็ก โดยขณะนี้กำลังมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างสมาชิกถาวรทั้ง 5 แต่คณะมนตรีความมั่นคงก็ไม่ได้มีแค่ 5 สมาชิก แต่มีถึง 15 ประเทศ และUN ก็มีสมาชิกทั้งหมดถึง 192 ประเทศ สหรัฐจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ บนพื้นฐานของผลและโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน โดยสหรัฐจะพยายามสร้างสะพานเชื่อมความแยกแตกในอดีต โดยเฉพาะความขัดแย้งเหนือ-ใต้ ซึ่งน่าจะล้าสมัยไปแล้วเหมือนกันความขัดแย้งตะวันออก - ตะวันตกในสมัยสงครามเย็น
การปฏิรูป UN
และเรื่องสุดท้ายที่ Rice พูดถึงคือ การปฏิรูป UN โดยมองว่า UN ต้องการความมีประสิทธิภาพและความมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง Rice ได้ยกตัวอย่างการปฏิรูปกองกำลังรักษาสันติภาพ UN ซึ่งกำลังมีปัญหามาก ขณะนี้มีกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN กว่า 1 แสนคน ปฏิบัติการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 15 กองกำลัง โดยสหรัฐประกาศจะสนับสนุนกองกำลังรักษาสันติภาพของ UN มากขึ้น แต่ก็จะต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง
บทวิเคราะห์
งกำลังต่างงกำลังถึงกว่า 1 แสนคน ันติภาพ กขึ้น โดยต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจังตะวันตกในสมัยสงครามเย็นาวรทั้ง 5 แต่คณะมนตรีควผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Rice ในครั้งนี้ถือเป็นการประกาศนโยบายต่อ UN อย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาล Obama และที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก คือ สุนทรพจน์ดังกล่าว ถือเป็นการประกาศนโยบายสหรัฐที่มอง UN ในเชิงบวกมากที่สุดเท่าที่ผมได้เคยเห็นมา เป็นการประกาศนโยบายของสหรัฐที่มอง UN ในแง่ดีมาก ๆ
การประกาศนโยบายในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศใหม่ โดยเนื้อหานโยบายเห็นได้ชัดว่า นโยบายของรัฐบาล Obama ต่อ UN มีลักษณะเป็นอุดมคตินิยม ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักของกลุ่มที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมในสหรัฐ หัวใจของแนวคิดนี้ คือ การมองโลกในแง่ดีและเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้บอกว่าเราว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุคมคตินิยม เสรีนิยม จะเจอกับอุปสรรค ทั้งนี้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม แต่กลับเป็นโลกของสัจจนิยม ที่เน้นในเรื่องของการแข่งขันต่อสู้เพื่ออำนาจ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น