Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จีน ปะทะ Google

จีน ปะทะ Google
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 19 วันศุกร์ที่ 29 มกราคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33

การปะทะ

เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา บริษัท Google ได้ประกาศที่จะถอนตัวออกจากจีน โดยอ้างว่า ถูกล้วงข้อมูลและถูกรัฐบาลจีนเซนเซอร์ ต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯได้ออกมาสนับสนุนท่าทีของ Google แต่รัฐบาลจีนได้ตอกกลับว่า บริษัทต่างชาติจะสามารถทำธุรกิจในจีนได้และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของจีน โดยจีนมองว่า ความขัดแย้งกับ Google ในครั้งนี้ ไม่ควรกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสอง

Eric Schmidt ซึ่งเป็น CEO ของ Google ได้กล่าวว่า จีนเข้มงวดกวดขันมากในเรื่องข้อมูล และมีระบบการเซนเซอร์ที่เข้มงวดมาก ดังนั้น หากคนจีนพิมพ์คำว่า “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” หรือ คำว่า “ดาไล ลามะ” ในเว็บไซต์ของ Google ก็จะถูกบล็อก นอกจากนี้ เขายังโจมตีจีนว่า กำลังพยายามพัฒนาในเรื่องของการจารกรรมทางอินเทอร์เน็ตและการทำสงครามในอินเทอร์เน็ต โดยการ hack หรือ ล้วงข้อมูลของจีนนั้น ได้ถูกกล่าวหาจากตะวันตก ถึงขนาดอดีตผู้อำนวยการสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ William Studeman ถึงกับกล่าวว่า เรื่องการล้วงข้อมูลในอินเทอร์เน็ตถือเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่

การผงาดขึ้นมาของจีนทำให้บริษัทต่างชาติแห่เข้าไปทำธุรกิจในจีน เช่นเดียวกับ Google แต่ Google ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปทำธุรกิจในจีน เพราะสิ่งที่ Google ขาย คือการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งต้องอาศัยเสรีภาพในการติดต่อเชื่อมโยงข้อมูล แต่ก็มีข้อจำกัดอย่างมากในจีน Google จึงมีส่วนแบ่งในตลาดจีนเพียง 14% ในขณะที่ search engine ของจีน คือ Baidu กลับมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 62%

ปฏิกิริยาจากรัฐบาล Obama

รัฐบาล Obama ได้ออกมากล่าวโจมตีรัฐบาลจีน โดย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนที่เซนเซอร์อินเทอร์เน็ต โดยมองว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดย Hillary กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้จีนก้าวหน้า แต่การที่รัฐบาลจีนสกัดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล จะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของจีนในอนาคต และได้กล่าวสนับสุนน Google ว่า ภาคเอกชนมีความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น ภาคเอกชนจะต้องมีจุดยืนในการต่อต้านการเซนเซอร์ Hillary ยังได้เรียกร้องในรัฐบาลจีนตรวจสอบข้อร้องเรียนของ Google ว่าถูกล้วงข้อมูลในจีน โดยได้มีการ hack เพื่อค้นหาอีเมล์ของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน Hillary กล่าวกระทบจีนทางอ้อมว่า ประเทศหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จะต้องได้รับผลคือ การถูกประณามจากประชาคมโลก

ต่อมา เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ประธานาธิบดี Obama ก็มีท่าทีเช่นเดียวกับ Hillary Clinton โดยบอกว่า Obama มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับกรณีของ Google ในจีน และกำลังแสวงหาคำตอบจากรัฐบาลจีน

ท่าทีของรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนก็ได้ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ท่าทีของรัฐบาล Obama โดยบอกว่า สหรัฐฯควรจะเคารพในข้อเท็จจริงและยุติการกล่าวหาที่ไม่มีมูล และกล่าวว่า สหรัฐฯควรที่จะจัดการกับปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนในวิถีทางที่เหมาะสมกว่านี้ สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของจีนในการจัดการบริหารอินเทอร์เน็ต และกล่าวว่าจีนปิดกั้นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง การกล่าวหาเช่นนี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ทางฝ่ายจีนได้ตอกย้ำว่า Google และบริษัทต่างชาติต่าง ๆ จะได้รับการต้อนรับให้ทำธุรกิจในจีนได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณีของจีน

ปัจจัย

ผมมองว่า ความขัดแย้งในครั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความขัดแย้ง ดังนี้

· การผงาดขึ้นมาของจีน

ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯและตะวันตกมากขึ้น
เรื่อย ๆ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ในอนาคต ขนาดเศรษฐกิจของจีนจะใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และภายในปี 2020 หรือ 2025 จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าสหรัฐฯ นอกจากนี้ จีนได้เป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ส่งออกอันดับหนึ่งของโลก แนวโน้มคือ จีนกำลังจะพัฒนาไปเป็นอภิมหาอำนาจ และเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต และแน่นอนว่า ในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อิทธิพลของตะวันตกและสหรัฐฯก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คราวนี้ทำให้สถานะของสหรัฐฯตกลงไปมาก และคงจะทำให้ผู้นำจีนมีความเชื่อมั่นในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนมากขึ้น และมีท่าทีแข็งกร้าวต่อตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ตะวันตกจะมาสั่งสอนจีนหรือบีบให้จีนทำตาม

· ฉันทามติปักกิ่ง

ในอดีต นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามักจะเดินตามนโยบายของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า “ฉันทามติวอชิงตัน” หรือ washington consensus ซึ่งเน้นกลไกตลาด การค้าเสรี และประชาธิปไตย แต่ขณะนี้ จีนกำลังเสนอตัวแบบพัฒนาเศรษฐกิจแบบจีน ซึ่งแตกต่างจากฉันทามติวอชิงตัน ซึ่งเราอาจเรียกว่า ฉันทามติปักกิ่ง หรือ beijing consensus ซึ่งเน้นการที่รัฐเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย

ตะวันตกมักจะมีความเชื่อว่า เมื่อจีนมีพัฒนาการเศรษฐกิจมากขึ้น สังคมจีนจะเปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของเสรีภาพ โดยแนวโน้มนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็รับค่านิยมตะวันตกเข้าไป ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีน แนวโน้มดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น สังคมจีนมีท่าทีต่อต้านค่านิยมตะวันตก และระบบการเมืองจีนก็ยังเป็นระบบเผด็จการภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์

จากความสำเร็จในการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้ผู้นำจีนมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และเริ่มแข็งกร้าวกับตะวันตกมากขึ้น จะเห็นได้จากท่าทีที่แข็งกร้าวกับสหรัฐฯและตะวันตกในหลาย ๆ กรณี อย่างเช่น เรื่องการไม่ยอมเพิ่มค่าเงินหยวน และท่าทีที่แข็งกร้าวในการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน
ในอดีต โดยเฉพาะในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ยุทธศาสตร์หลักของจีนคือ ไม่เผชิญหน้ากับตะวันตก โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ โดยจีนต้องการสหรัฐฯ ทั้งเป็นแหล่งเงินทุน และตลาดส่งออก และช่วยจีนให้เข้าเป็นสมาชิกใน WTO แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่าทีของจีนเริ่มเปลี่ยน ผู้นำจีน เริ่มมีความเชื่อว่า สหรัฐฯไม่มีความสำคัญต่อจีนเหมือนในอดีต โดยขณะนี้ ตลาดภายในของจีนได้เติบโตขึ้นมาแทนที่ตลาดสหรัฐฯ การส่งออกเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกมากขึ้น และจีนก็มีเงินทุนเหลือเฟือ มีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลก ถึง 2 ล้านล้านเหรียญ สิ่งเหล่านี้ น่าจะทำให้จีนลดการประนีประนอมต่อรัฐบาลและบริษัทของตะวันตกมากขึ้น

จากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น น่าจะนำไปสู่การที่จีนไม่สนใจที่ Google จะถอนธุรกิจออกไปจากจีน และไม่สนใจการกล่าวโจมตีจากรัฐบาล Obama แต่อย่างใด

จากกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับ Google จึงนำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร บางคนอาจเชื่อว่า การผงาดขึ้นมาของจีนอาจจะทำให้จีนปฏิสัมพันธ์กับโลกดีขึ้น แต่จากกรณี Google ก็อาจจะทำให้มีคำถามตามมาว่า การผงาดขึ้นมาของจีนจะยิ่งทำให้จีน มีความเป็นชาตินิยมมากขึ้นหรือไม่ จะยิ่งทำให้จีนยากลำบากในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกหรือไม่ และจีนกำลังจะคิดกลับไปเป็น Middle Kingdom อีกหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: