สหรัฐฯกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2553 หน้า 4
ขณะนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันในเวทีการทูตในภูมิภาคคือ เรื่อง รูปแบบของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค หรือ อาจจะเรียกง่าย ๆ ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือ Hillary Clinton ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ฮาวาย ประกาศท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเด็นสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนี้ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์ท่าทีของสหรัฐฯ ดังนี้
สุนทรพจน์ของ Hillary Clinton
Hillary Clinton ได้กล่าวนำว่า ขณะนี้ผู้นำในเอเชียกำลังมีการหารือกันถึงเรื่องความร่วมมือในภูมิภาค และสถาปัตยกรรมทางด้านความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจของเอเชีย ก็กำลังมีวิวัฒนาการเกิดขึ้น Hillary พยายามเน้นถึงหลักการนโยบายพื้นฐานของสหรัฐฯในการปฏิสัมพันธ์และในการเป็นผู้นำของภูมิภาค และยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อความร่วมมือพหุภาคี
Hillary ได้เน้นว่า พันธมิตรทั้ง 5 ของสหรัฐฯในเอเชียจะเป็นรากฐานสำคัญของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค พันธมิตรทั้ง 5 ดังกล่าว คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไทย และฟิลิปปินส์ โดยได้ย้ำว่า ความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ได้นำไปสู่ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภูมิภาคประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ Hillary มองว่า พันธกรณีทวิภาคีระหว่างพันธมิตรเหล่านี้จะสอดคล้องกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาค
นอกจากพันธมิตรทั้ง 5 แล้ว สหรัฐฯ กำลังกระชับความสัมพันธ์กับตัวแสดงในภูมิภาค คือ อินเดีย จีน และอินโดนีเชีย รวมทั้งเวียดนามและสิงคโปร์ ความร่วมมือพหุภาคีควรจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ทวิภาคีเหล่านี้
ประเด็นที่ 2 ที่ Hillary เน้นคือ สหรัฐฯจะเข้าร่วมหารือในเวทีเฉพาะกิจที่ไม่เป็นทางการและสนับสนุนสถาบันในระดับอนุภูมิภาค โดยได้ยกตัวอย่างเวทีการเจรจา 6 ฝ่าย ในการแก้ปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เวทีการหารือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ( Lower Mekong Initiative) และเวทีการเจรจาไตรภาคี ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯมีการเจรจาไตรภาคีอยู่หลายเวที คือ สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – ออสเตรเลีย สหรัฐฯ- ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และในอนาคตสหรัฐฯกำลังจะพัฒนาเวทีไตรภาคีระหว่าง สหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – จีน และสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น – อินเดีย ด้วย
ประเด็นที่ 3 ที่ Hillary เน้น คือ การให้คำจำกัดความของสถาบันในภูมิภาค โดยน่าจะมีการระบุว่า องค์กรใดน่าจะดีที่สุด แต่ Hillary ก็ยังไม่ฟันธง และพูดกลาง ๆ ว่า สถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ละสถาบันก็มีจุดประสงค์ของตน แต่สำหรับสหรัฐฯ สถาบันที่เหมาะสมจะต้องมีประเทศสำคัญ ๆ รวมอยู่ด้วยทั้งหมด โดยได้ยกตัวอย่าง เช่น APEC และ East Asia Summit(EAS) หรืออาจจะเป็นการผสมผสานหรือการตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา ซึ่งประเด็นนี้เป็นคำถามสำคัญที่ต้องหาคำตอบด้วยการปรึกษาหารือร่วมกัน
และที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้คือ การที่สหรัฐฯ เสนอที่จะเริ่มหารือกับประเทศในเอเชียถึงการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในเวที EAS หรือ อาเซียน +6
Hillary ได้กล่าวในตอนท้ายว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของสหรัฐฯ และการเล่นบทบาทเป็นผู้นำในการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาค ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ และย้ำว่าไม่ควรมีประเทศใดประเทศหนึ่ง รวมทั้งสหรัฐฯที่จะพยายามครอบงำจากสถาบันเหล่านี้
บทวิเคราะห์
· สรุปยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯที่ Hillary ประกาศในครั้งนี้ ถึงแม้จะยังไม่มีความ
ชัดเจนและไม่กล้าฟันธง แต่ก็พอเห็นเป็นลาง ๆ แล้วว่า สหรัฐฯ กำลังคิดอะไรอยู่ ผมอยากจะสรุปว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ การทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า US as the core of regional architecture โดยผมอยากจะสรุปยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ด้วยภาพข้างล่างนี้
จากภาพสรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ การทำให้สหรัฐฯ เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คือ มีสหรัฐฯ อยู่วงในสุด
วงที่สอง คือ ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับพันธมิตรทั้ง 5 รวมทั้งพันธมิตรใหม่ ๆ เช่น อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม ความสัมพันธ์จะมีลักษณะเป็น hub and spokes คือ สหรัฐฯ เป็น hub หรือ เป็นดุมล้อ และพันธมิตรเป็น spokes หรือ เป็นซี่ล้อ ดังนั้น ระบบความสัมพันธ์กับพันธมิตร และ ระบบ hub and spokes สำหรับสหรัฐฯ จะยังคงเป็นสถาปัตยกรรมหรือเป็นระบบที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
วงที่สาม คือ เวทีเฉพาะกิจและเวทีอนุภูมิภาค ที่สำคัญคือ เวทีเจรจา 6 ฝ่าย เวทีลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และเวทีไตรภาคี
วงที่สี่ คือ เวที APEC ซึ่งเป็นเวทีพหุภาคีในภูมิภาคที่สหรัฐฯให้ความสำคัญที่สุด ในอดีต สหรัฐฯก็ครอบงำ APEC มาโดยตลอด แต่ขณะนี้ APEC กำลังประสบวิกฤต เพราะประเทศในภูมิภาคแทบจะไม่มีใครให้ความสำคัญ
วงที่ห้า คือ เวที EAS หรือ อาเซียน + 6 ซึ่งขณะนี้สหรัฐยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้ามาเป็นสมาชิก EAS อย่างเป็นทางการหรือไม่ และจะปฏิสัมพันธ์กับ EAS ในลักษณะใด
วงที่หก เป็นวงที่เผื่อไว้ในอนาคต ที่สหรัฐฯ อาจจะกำลังดูลู่ทางในเรื่องของการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาคใหม่ขึ้นมา
· grand strategy ของสหรัฐฯ
หากจะถามว่า ทำไมสหรัฐฯจึงต้องมียุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น คือ ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ
เป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คำตอบ ก็จะอยู่ที่การวิเคราะห์ grand strategy ของสหรัฐฯ ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อภูมิภาค คือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ซึ่งยุทธศาสตร์ย่อยที่ตามมาในการจะดำรงความเป็นเจ้า คือ ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคลดลง ยุทธศาสตร์ป้องกันการขยายอิทธิพลของจีน และยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และนี่ก็คือ เหตุผลสำคัญในการอธิบายยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
· ท่าทีสหรัฐฯต่ออาเซียน + 3
อีกเหตุผลหนึ่งที่จะอธิบายท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค คือ
พัฒนาการของกรอบอาเซียน +3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกัน โดยมี อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีเป้าหมายระยะยาวที่จะจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น และถ้าเอเชียตะวันออกรวมตัวกันได้จริง ก็จะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่จะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ซึ่งจะท้าทายอำนาจของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก และจะเป็นการกีดกันสหรัฐฯออกไปจากภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่ออิทธิพลของสหรัฐฯในอนาคต และสิ่งที่สหรัฐฯ วิตกกังวลอย่างมาก ก็คือ ประชาคมเอเชียตะวันออกในที่สุดอาจจะถูกครอบงำโดยจีน สหรัฐฯจึงได้เริ่มส่งสัญญาณคัดค้านพัฒนาการของอาเซียน +3 และทำให้ประเทศอาเซียนบางประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นเริ่มถอย และหันมาดึงอินเดีย ออสเตรเลีย เข้ามาถ่วงดุลจีน ซึ่งพัฒนากลายเป็น EAS หรือ อาเซียน +6
· ผลกระทบต่ออาเซียน
ประเด็นสุดท้ายที่ผมจะวิเคราะห์คือ ท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมียุทธศาสตร์หลักคือ จะให้สหรัฐฯเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ของอาเซียนในเรื่องนี้ เพราะอาเซียนก็ต้องการจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่อาเซียน กับสหรัฐฯ จะแข่งกันเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค แต่สหรัฐฯก็เป็นต่ออาเซียน ในแง่ของพลังอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ แต่ข้อได้เปรียบของอาเซียน คือ อาเซียนมีความชอบธรรมมากกว่าสหรัฐฯ เพราะอาเซียนเป็นสถาบันในภูมิภาคอยู่แล้ว แต่สหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจที่ความชอบธรรมในการครองความเป็นเจ้ากำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ
สรุปแล้ว เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า ในอนาคต สถาปัตยกรรมในภูมิภาคจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรกัน ผมเดาว่า ในระยะยาว อาจจะเป็นทั้งสองรูปแบบเหลื่อมทับซ้อนกัน คือ มีทั้งอาเซียนและสหรัฐฯ ที่จะเป็นแกนหลักของสถาปัตยกรรมในภูมิภาคในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น