Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การประชุม World Economic Forum 2010

การประชุม World Economic Forum 2010
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 20 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 32-33

ภาพรวม

การประชุม World Economic Forum (WEF) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีทีเมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปีนี้นับเป็นการประชุมครั้งที่ 40 การประชุม WEF ถือเป็นเวทีการประชุมของภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีต ผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันได้ขยายวงออกไป โดยมีการเชิญผู้นำรัฐบาล ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ NGO นักวิชาการ และสื่อเข้าร่วมประชุมด้วย เวที WEF ถึงแม้จะไม่ใช่เวทีที่เป็นทางการที่จะตกลงแก้ไขปัญหาของโลกได้ แต่ก็เป็นเวทีหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และจะชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของโลก แนวโน้มและแนวทางการแก้ไข

สำหรับในปีนี้ การประชุมมีขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2,500 คน มาจากกว่า 90 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็น CEO ประมาณ 1,400 กว่าคน ผู้นำรัฐบาลกว่า 30 คน และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศกว่า 100 คน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Zarkozy เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม นอกจากนั้น ก็มีคนดัง ๆ หลายคน นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในฐานะประธาน G8 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในฐานะประธาน G20 ในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมี CEO ดัง ๆ อย่างเช่น Bill Gates และ CEO ของ Google คือ Eric Schmidt

สำหรับ theme ของการประชุมในครั้งนี้คือ “Improve the state of the world : Rethink, Redesign, Rebuild” โดยเน้น 3 เรื่อง คือ Rethink หรือ คิดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก น่าจะต้องมีการคิดทบทวนในเรื่องต่าง ๆ ส่วนเรื่องที่สอง คือ Redesign คือ การออกแบบใหม่ โดยเฉพาะกับกระบวนการในการจัดการกับปัญหาของโลก และ Rebuild คือ การสร้างกลไกและสถาบันของโลกขึ้นมาใหม่

สำหรับเรื่องสำคัญที่ได้มีการหารือกัน คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน ระบบการเงินโลก การปฏิรูปองค์กรโลก รวมทั้งปัญหาการแก้ไขความยากจน และการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย แต่ตามที่กล่าวไปแล้ว เวทีนี้ทำได้แค่การหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่น แต่อย่างน้อย ก็น่าจะทำให้เห็นถึงปัญหา และแนวโน้มของการแก้ไขปัญหาของโลก

ปัญหาภาวะโลกร้อน

เรื่องที่ประชุม WEF ให้ความสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยประธานาธิบดีของเม็กซิโก ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งต่อไปจะมีขึ้นที่เม็กซิโกในช่วงปลายปีนี้ โดยน่าจะสรุปบทเรียนข้อผิดพลาดจากที่โคเปนเฮเกน ซึ่งถือว่าล้มเหลว ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลักดันเจตนารมณ์ทางการเมือง และหวังว่า การประชุมที่เม็กซิโกน่าจะตกลงกันได้ โดยเฉพาะการตั้งเป้าของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ประชุมที่โคเปนเฮเกนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการตั้งเป้าดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การประชุมภาวะโลกร้อนในกรอบของ UN กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ที่ประชุมที่โคเปนเฮเกนก็ล้มเหลว โดยเฉพาะในการที่จะตกลงกันใน 4 เรื่องใหญ่

เรื่องที่หนึ่งคือ รูปแบบของข้อตกลง ซึ่งทางฝ่ายประเทศยากจนต้องการให้มีการต่ออายุพิธีสารเกียวโตต่อไป ในขณะที่ประเทศร่ำรวยต้องการให้มีการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นมา

สำหรับเรื่องที่สองคือ การกำหนดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ประเทศยากจนต้องการไม่ให้เกิน 1 องศาเซลเซียส ในขณะที่ประเทศร่ำรวยตั้งเป้าอยู่ที่ 2 องศา

ส่วนเรื่องที่สามคือ การกำหนดการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยลดก๊าซลง 40 % ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ประกาศจะลดเพียงแค่ 4 % เท่านั้น

ส่วนเรื่องที่สี่ คือ จำนวนเงินที่ประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยเหลือประเทศยากจนในการจัดการกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน ประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP แต่ประเทศร่ำรวยก็ไม่ยอมตามข้อเรียกร้อง

ข้อขัดแย้งทั้งสี่ จึงนำไปสู่ความล้มเหลวของการประชุมที่โคเปนเฮเกน ผมมองว่า การประชุมที่เม็กซิโกปลายปีนี้ จะมีความยากลำบากมากที่จะตกลงกันในสี่เรื่องดังกล่าว

การปฏิรูประบบการเงินโลก

อีกเรื่องที่ WEF ครั้งนี้ให้ความสำคัญ คือ เรื่อง การปฏิรูประบบการเงินโลก ซึ่งเรื่องนี้ต่อเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดขึ้นปีที่แล้ว ถึงแม้ในปีนี้บรรยากาศเศรษฐกิจโลก วิกฤตน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่การหารือเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลกยังเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ หากต้องการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีก

ประธานาธิบดี Zarkozy ของฝรั่งเศส ในสุนทรพจน์เปิดการประชุมได้เน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบ Bretton Woods ใหม่ขึ้นมา หรือ ระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ และ Zarkozy ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ใหม่ และให้มีการปฏิรูประบบธนาคารและความไม่โปร่งใสต่าง ๆ รวมถึงเงินโบนัสอันมหาศาลของ CEO ของแบงก์ใหญ่ ๆ

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี Obama ก็ได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบการเงินในสหรัฐฯ โดยเสนอให้มีการลดขนาดธนาคาร และเข้าควบคุมตรวจสอบ hedge fund

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของ Zarkozy และ Obama ก็ได้รับการต่อต้านจาก CEO ของแบงก์ใหญ่ ๆ ซึ่งมองว่า การเข้ามาควบคุมตรวจสอบหรือ regulation นั้น จะมีผลเสียมากกว่าผลดี และการลดขนาดแบงก์ก็ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาได้

นอกจากนี้ ในการประชุม WEF ในครั้งนี้ ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ในฐานะประธานการประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นที่เกาหลีใต้ในปีนี้ ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยเน้นว่า การประชุม G20 ในครั้งต่อไป ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจโลก และควรมีการจัดตั้ง Global Financial Safety Net ซึ่งจะเป็นกลไกในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนั้น ยังควรมีการจัดตั้งกลไกในการควบคุมตรวจสอบและเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผมมองว่า การประชุมในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีการหารือในเรื่องการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ก็ไม่ได้มีข้อตกลงหรือฉันทามติที่เป็นรูปธรรมใด ๆ รากเหง้าของปัญหาที่นำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปีที่แล้ว คือ การที่เราขาดกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงินในระดับโลก แต่ดูเหมือนกับว่า ขณะนี้เรื่องนี้ก็กำลังจะถูกลืมไป ทุกประเทศหันมาแก้ไขเฉพาะหน้า คือ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ และรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งภาคเอกชน พยายามคัดค้านแนวคิดการจัดตั้งกลไกในระดับโลก โดยยังคงเน้นหลักการในเรื่องกลไกตลาด ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้สถาบันการเงินของสหรัฐฯได้เปรียบมากที่สุด

เรื่องอื่น ๆ

สำหรับเรื่องอื่น ๆ ที่หารือกันใน WEF เรื่องที่หนึ่งคือ การปฏิรูปองค์การระหว่างประเทศ โดยประเด็นคือ ได้มีการมองว่า องค์การระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากการล้มเหลวของการเจรจา WTO รอบโดฮา และความล้มเหลวของการเจรจาภาวะโลกร้อนที่โคเปนเฮเกน ได้มีการวิเคราะห์ว่า หลักการฉันทามติเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะให้ประเทศสมาชิกเกือบ 200 ประเทศ ตกลงกันได้ในทุก ๆ เรื่อง ขณะนี้จึงมีแนวคิดว่า อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจขององค์กรโลกใหม่ นอกจากนี้ องค์กรการเงินโลก อย่าง IMF และธนาคารโลกก็กำลังถูกโจมตีอย่างหนักว่าไม่มีความโปร่งใส และจะต้องให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น คือ การขยายวงจาก G8 ไปเป็น G20 ขณะนี้มีการยอมรับแล้วว่า G20 จะเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการเศรษฐกิจโลก

อีกเรื่องหนึ่งที่ WEF ได้หารือ คือการช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเด็นหลัก คือ เป้าหมาย MDG หรือ Millennium Development Goals ซึ่งเป็นเป้าของ UN ที่ตั้งเป้าที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้ภายในปี 2015 นั้น คงจะเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศร่ำรวยไม่สามารถให้ความช่วยเงินทางการเงินแก่ประเทศยากจนได้ ที่ประชุม WEF จึงมีแนวคิดว่า น่าจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องสุดท้าย ที่ยังคงมีความสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย มีหลาย session ที่จัดขึ้นที่หัวข้อเป็นเกี่ยวกับเรื่อง จีน และอินเดีย ซึ่งประเด็นเรื่องการผงาดขึ้นมาของทั้งสองประเทศ น่าจะยังคงเป็น hot issue ต่อไปอีกหลายปี ทั้งนี้ เพราะการผงาดขึ้นมาของยักษ์ใหญ่ทั้งสองจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบโลกในอนาคต แนวโน้มก็ชัดเจนขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ศูนย์กลางการเมืองและเศรษฐกิจโลก กำลังจะย้ายฐานจากตะวันตกมาตะวันออก ซึ่งเราก็คงจะต้องจับตาดูและวิเคราะห์แนวโน้มที่สำคัญนี้กันอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: