Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์พม่า-เกาหลีเหนือ

ความสัมพันธ์พม่า-เกาหลีเหนือ
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 40 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2553

ขณะนี้ ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือกำลังเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องใหญ่อีกเรื่อง ที่ผมได้วิเคราะห์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ เรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพม่า คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะวิเคราะห์ภูมิหลังและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ข้อมูลจากอดีตเจ้าหน้าที่พม่า
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Aung Lynn Htut ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมพม่า แต่ได้แปรพักตร์มาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune เล่าถึงความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือว่า ในอดีตทั้งสองประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมากเท่าไร โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 1983 ทำให้พม่าตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ เนื่องด้วยเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้และคณะ ที่อยู่ระหว่างการเยือนย่างกุ้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้เสียชีวิตถึง 17 คน รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีพาณิชย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 1988 ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ ทำให้มีการคว่ำบาตรพม่า รวมถึงการขายอาวุธให้กับพม่า หลังจากนั้นในปี 1992 ผู้นำทหารพม่า นายพลตาน ฉ่วย จึงได้เริ่มกลับมาคบกับเกาหลีเหนือใหม่อย่างลับๆ โดยผู้นำพม่ากลัวการโจมตีจากสหรัฐ จึงต้องการสร้างเสริมกำลังทางทหาร รวมทั้งอาวุธที่ทันสมัยและอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เกาหลีเหนือได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธมาพม่า โดยได้ปลอมเป็นนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ผู้นำทหารพม่ามองว่าหากมีอาวุธนิวเคลียร์จะสามารถป้องปรามการโจมตีจากสหรัฐได้ ในปี 2006 รัฐบาลทหารพม่าได้ยกระดับปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ โดยมีนายพล Tin Aye เป็นผู้ประสานงานหลักกับทางฝ่ายเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ นายพล Shwe Mann ผู้นำอันดับ 3 ของพม่า ก็ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างลับๆ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 และได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือ

ข้อมูลจากนักวิชาการออสเตรเลีย
ก่อนหน้านั้น ในเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald ได้ตีพิมพ์รายงานของนักวิชาการออสเตรเลีย ชื่อ Desmond Ball จากมหาวิทยาลัย Australia National University โดยข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากชาวพม่าที่แปรพักตร์ โดยบอกว่า กองทัพพม่าได้จัดตั้งฐานการพัฒนานิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2000 โดยมีโรงงานอยู่ใต้ดินในภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Naung Laing ใกล้เมือง Pyin Oo Lwin รายงายของ Ball ระบุว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือในการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ที่ Naung Laing ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ระบุว่า มีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในพม่าอยู่ 2 แห่ง แห่งที่ 1 เป็น ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ที่รัสเซียช่วยเหลือ ส่วนแห่งที่ 2 เป็นโครงการลับ ซึ่งจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ

ปฏิกิริยาจากสหรัฐ
สำหรับรัฐบาลสหรัฐนั้น ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยทางฝ่ายสหรัฐระบุว่า เกาหลีเหนือได้ขายอาวุธให้กับพม่า ช่วยเหลือพม่าในการพัฒนากองทัพ ในปี 2004 สหรัฐได้ป้องกันการขายขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่เกาหลีเหนือกำลังจะส่งไปให้พม่า

ในสมัยรัฐบาลโอบามา ก็ต้องการที่จะหารือกับพม่าในเรื่องการซื้อเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ โดยที่เป็นข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อตอนที่ Kurt Campbell อธิบดีกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปเยือนพม่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าที่ Campbell จะไปเยือน ได้มีข่าวว่า มีเรือขนอาวุธจากเกาหลีเหนือมาจอดที่ท่าเรือ Thilawar Port ใกล้กรุงย่างกุ้ง ดังนั้น ในการเยือนพม่า Campbell ได้หารือกับ U Thaung รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพม่า ซึ่งเคยเป็นอดีตทูตพม่าประจำสหรัฐ และเป็นผู้ดูแลโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพม่า และภายหลังการหารือ Campbell ก็ได้ออกมาประกาศเตือนพม่าอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะประกาศอย่างเป็นทางการ กล่าวหาพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ท่าทีดังกล่าว อาจจะแสดงว่า สหรัฐเชื่อว่า พม่าไม่มีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาจจะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ เช่นเดียวกันกับหลักฐานในเรื่องเกาหลีเหนือช่วยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ

ข้อมูลและหลักฐานอื่นๆ
แต่หลายๆ ฝ่าย ก็ยังคงไม่ไว้วางใจ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการค้นพบว่า เกาหลีเหนือได้แอบช่วยเหลือซีเรียในการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือมีข้อตกลงกับพม่า ที่จะช่วยสร้างขีปนาวุธพิสัยกลาง ที่เรียกว่า SCUD เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆ ว่า ส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ให้กับประเทศต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ UN ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ยังคงส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์และขีปนาวุธให้กับอิหร่าน ซีเรีย และพม่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารยืนยันตรงกันว่า เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาขีปนาวุธ SCUD ฐานปล่อยจรวด อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีทางทหาร แต่หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลและหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ ดังนี้
- มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารพม่าอย่างน้อย 1000 คน ได้ไปฝึกอบรมโครงการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือและรัสเซียในช่วงปีที่ผ่านมา
- จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานของพม่า พม่ามีเหมืองแร่ยูเรเนียมถึง 9 แห่ง นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า พม่าได้ส่งออกแร่ยูเรเนียมไปเกาหลีเหนือเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า
- มีการคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนือได้ลักลอบส่งอาวุธและเทคโนโลยีมาพม่า โดยทางเรือขนสินค้าของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรือสินค้าเกาหลีเหนือชื่อ Kang Nam 1 ซึ่งกำลังเดินทางมาพม่า แต่ได้เดินทางกลับเกาหลีเหนือเมื่อมาถึงทะเลจีนใต้ หลังจากที่ถูกเรือรบสหรัฐไล่ติดตาม
- นอกจากนี้ ยังมีนักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า เกาหลีเหนือส่งอาวุธมาทางเครื่องบิน โดยผ่านทางประเทศจีน โดยมีการพบเห็นเครื่องบินทหารซึ่งเชื่อว่ามาจากจีนและเกาหลีเหนือ มาจอดที่สนามบิน Meiktila ทางตอนกลางของประเทศพม่า

กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ผมก็มองว่า มีหลักฐานและข้อน่าสงสัยหลายประการ ที่ประชาคมโลกโดยเฉพาะอาเซียนและไทยควรจะต้องติดตาม และแสวงหาความกระจ่างในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะต่อไทยโดยตรง หากเป็นจริง ที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ต่อความมั่นคงของไทย และต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณ
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2553

หลังจากความวุ่นวายจากการชุมนุมในกรุงเทพ นายกอภิสิทธิ์ได้ไปเปิดตัวในเวทีโลกอีกครั้ง ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก World Economic Forum on East Asia ที่ประเทศเวียดนาม และได้พยายามสร้างความมั่นอกมั่นใจต่อประชาคมโลกว่า สถานการณ์เลวร้ายในเมืองไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว

อีกด้านหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ดูเหมือนจะพยายามใช้สื่อต่างประเทศและเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง หลังจากรัฐบาลชุดนี้บอกว่า คุณทักษิณเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะมาย้อนดูยุทธศาสตร์การต่างประเทศของคุณทักษิณ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในอดีต
ถ้ามองย้อนกลับไปในรัฐบาลทักษิณ ต้องยอมรับว่า มีนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกมากทีเดียว ในสมัยนั้น มีความคิดริเริ่มขึ้นมาใหม่ๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ FTA ในสมัยนั้น มีการเจรจา FTA มากมายทั้งกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ตอนที่จัดประชุมสุดยอด APEC ในปี 2003 ตอนนั้น ประเทศไทยโดดเด่นขึ้นมา ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเวทีพหุภาคีอย่างเช่น APEC หรือ ACD ที่คุณทักษิณผลักดันขึ้นมา เพื่อที่จะให้เป็นเวทีเพื่อการหารือทั้งทวีป โดยไทยเสนอที่จะเป็น core ของเวทีเหล่านี้ ยังมีเวทีอนุภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ACMECS หรือ BIMSTEC เกิดขึ้นในยุคนี้ ดังนั้น ผมมองว่า ความคิดริเริ่มเหล่านี้ดีมาก และดีกว่าในสมัยรัฐบาลก่อนๆ

แต่ในที่สุด ความคิดริเริ่มเหล่านี้ ถ้าเราจะประเมินว่า คนไทยได้อะไรจากความคิดริเริ่มเหล่านี้ คำตอบก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อะไร เพราะมีเรื่องของปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

จริงๆ แล้วนโยบายต่างประเทศ ต้องตั้งอยู่บนหลักการของผลประโยชน์แห่งชาติ หรือ national interest อันนี้เป็นพื้นฐานที่นักการทูต หรือทุกคนที่เรียนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องยึดเป็นหลัก แต่มันมีคำถามเกิดขึ้นในสมัยนั้น ในสมัยคุณทักษิณว่า นโยบายต่างประเทศทำไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่ หรือทำไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม หรือของตน

เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้นมามาก ทำให้ผมประเมินว่า นโยบายต่างประเทศของคุณทักษิณ สอบไม่ผ่าน ในเรื่องของความสำเร็จ

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของทักษิณในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน มีเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านมาหลายเหตุการณ์ หลังจากได้มีการทำรัฐประหารในปี 2549 แล้ว ก็เกิดรัฐบาลต่างๆ ขึ้นมา มีรัฐบาลหลังจากการทำรัฐประหาร ในยุคนั้น แน่นอนว่า ในสายตาต่างชาติมองว่า การทำรัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของประชาธิปไตย ฉะนั้น ในช่วงนั้น คุณทักษิณจึงได้รับความเห็นใจจากประชาคมโลก

ในช่วงนั้น การทูตไทยก็เดินลำบาก ต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันตก ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร เป็นรัฐบาลเผด็จการ อย่างอเมริกา หยุดหมด การเยือน การติดต่อ การเจรจา FTA หยุดหมด เช่นเดียวกับยุโรป เช่นเดียวกับญี่ปุ่น หยุดหมด นี่เป็นผลกระทบที่มาจากกระทำรัฐประหาร

หลังจากนั้น เมื่อเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลคุณสมัคร รัฐบาลคุณสมชาย จนมาถึงรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์
แต่หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง คุณทักษิณก็มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง
ผมคิดว่า ในสายตาของประชาคมโลก ก็จับตามองตรงนี้อยู่ แต่คุณทักษิณก็พยายามอย่างมาก ในการให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศ เพื่อที่จะโน้มน้าวให้สื่อต่างประเทศ สนับสนุนแนวคิดของคุณทักษิณ การต่อสู้ของคุณทักษิณ และการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดง

เราจึงเห็นว่า ในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา เห็นชัดเลยว่า สื่อต่างประเทศลงข่าวที่ไม่เป็นกลาง และมีข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ตัวอย่างเช่น มีหนังสือพิมพ์ตะวันตกฉบับหนึ่ง ลงข่าวว่า คุณอภิสิทธิ์ เป็น “unelected Prime Minister” คือ แปลเป็นไทยว่า “คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” นี่คือตัวอย่าง สื่อตะวันตกแบบนี้มีเยอะ ทั้ง CNN และอะไรต่อมิอะไร ที่ให้ข่าวบิดเบือน และไม่เป็นกลาง ซึ่งการลงข่าวแบบนี้ ก็เป็นผลบวกกับคุณทักษิณ สร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของคุณทักษิณและกลุ่มเสื้อแดง

ผมคิดว่า คุณทักษิณมียุทธศาสตร์ที่ลึกล้ำและแหลมคมในการโน้มน้าว lobby สื่อต่างชาติให้เห็นมาในแนวนี้
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ สัญญาณของประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ว่ามีความมั่นใจกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ในระดับไหน?

คำตอบของผมก็คือ เราต้องแยกแยะ ระหว่างสื่อตะวันตก กับรัฐบาลตะวันตก ผมคิดว่า สื่อตะวันตกค่อนข้างจะ bias และบิดเบือนข้อเท็จจริงพอสมควร ในเรื่องการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย แต่สำหรับรัฐบาลตะวันตก การที่จะมีท่าทีอย่างไร จะต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์แห่งชาติของเขา ดังนั้น ในแง่ผลประโยชน์แห่งชาติ เขาก็ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลไทย เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ผมมองว่า เขาจะยังคงสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อไป เพราะมองในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก น่าจะยังคงดีอยู่ แต่ว่าทางฝ่ายคุณทักษิณก็พยายามที่จะ mobilize ที่จะ lobby สื่อต่างชาติต่างๆ เพื่อที่จะโน้มน้าว ให้เกิด world public opinion เสียงของประชาคมโลก ที่จะมาสนับสนุนแนวทางของคุณทักษิณ ซึ่งอันนี้ เป็นเกมที่คุณทักษิณกำลังเดินอยู่ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ลำบากมากขึ้น

ผมมองว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลอภิสิทธิ์ ช้าเกินไป ในการตอบโต้กับข้อมูลต่างๆ หรือการลงข่าวต่างๆ ที่บิดเบือนเกี่ยวกับสถานการณ์ในไทย ผมคิดว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ทำน้อยเกินไป ทำช้าเกินไป มันไม่ทันการณ์

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในอนาคต
นโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต ปัญหาเฉพาะหน้าของเราคือ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา อันนี้ก็คงจะต้องทำหลายอย่าง ต้องแก้ปัญหาการเมืองภายใน ต้องเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง การปรองดอง
แต่ทำแค่นี้ มันไม่พอ สิ่งที่ขาดหายไปสำหรับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ นโยบายในเชิงรุก เราต้องมีนโยบายในเชิงรุก ในเรื่องของทูตสาธารณะ public diplomacy คือต้องชี้แจง ต้องเข้าถึงสื่อ ต้องตอบโต้ทันควัน ต้องรุก แต่ปัจจุบัน มันเป็นนโยบายในเชิงรับหมด อันนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญ

นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นแล้ว ก็ต้องมีนโยบายอื่นๆ ที่จะต้องเป็นนโยบายในเชิงรุกด้วย คือจริงๆ แล้ว ความเชื่อมั่นไม่ใช่เรื่องเดียวในนโยบายต่างประเทศ เรายังจะต้องฟื้นฟู กระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน กับอาเซียน บทบาทไทยในอาเซียนจะเป็นอย่างไร แล้วกับมหาอำนาจ สิ่งเหล่านี้ เราหยุดนิ่งมานานหลายปีแล้ว ผมว่า เราต้องรีบเดินหน้า ถึงแม้จะมีความยากลำบาก เพราะขณะนี้ รัฐบาลก็กำลังยุ่งอยู่กับเรื่องการเมืองภายใน จนไม่มีเวลาคิดริเริ่ม และมีนโยบายในเชิงรุกทางด้านนโยบายต่างประเทศ แต่ว่า มันก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ได้

ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2010

ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย ปี 2010
ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 39 วันศุกร์ที่ 18 - วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2553

เมื่อเร็วๆ นี้ Ron Kirk ผู้แทนการค้าของสหรัฐ หรือ USTR ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม U.S.- Asia Pacific Council ครั้งที่ 7 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยมีหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษว่า “U.S. – Asia Pacific Relations : Transition in the New Era” เนื้อหาของสุนทรพจน์เป็นการประกาศยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อภูมิภาคล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปและวิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้

ยุทธศาสตร์การค้าของรัฐบาลโอบามา
ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Kirk ได้ฉายภาพให้เห็นถึงยุทธศาสตร์และนโยบายการค้าในภาพใหญ่ของรัฐบาลโอบามา
เมื่อ 2 -3 เดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาได้ผลักดันแนวนโยบายในการขยายการค้า โดยมีการลงนามในเอกสารที่มีชื่อว่า National Export Initiative ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยจะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะเพิ่มการส่งออกของสหรัฐให้เป็นสองเท่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐ หรือ USTR ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการเพื่อแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

Kirk ได้อ้างตัวเลขว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2009 การส่งออกของสหรัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ยุทธศาสตร์การค้าต่อเอเชีย
ต่อมา ในสุนทรพจน์ได้กล่าวให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย โดยได้บอกว่า เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่โอบามาเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก โอบามาได้เน้นว่า สหรัฐเป็นประเทศแปซิฟิค หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Pacific Nation และโอบามาได้ผลักดันวาระที่จะรื้อฟื้นการเป็นผู้นำของสหรัฐในภูมิภาค

สำหรับในด้านการค้านั้น Kirk ได้กล่าวอ้างตัวเลขว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของสหรัฐ ได้ส่งออกมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

ได้มีการคาดการณ์กันว่า ในทศวรรษหน้า การเจริญเติบโตในการค้าขายและการบริโภคจะมากระจุกตัวอยู่ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ดังนั้น สหรัฐจะต้องทำให้นักธุรกิจและแรงงานสหรัฐมีช่องทางที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วย



APEC
Kirk ได้กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐคือ การใช้เวที APEC ในการขยายโอกาสทางการค้าของสหรัฐ
โดยในปี 2010 นี้ ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ที่โยโกฮามา ในช่วงปลายปี ดังนั้น สหรัฐกำลังร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด ในการที่จะทำให้ผลการประชุมสุดยอดในปีนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นการเตรียมทางสำหรับการประชุมสุดยอดในปี 2011 ที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดที่ฮาวาย ซึ่งจะต้องมีผลการประชุมที่โดดเด่น

สำหรับมาตรการต่างๆ ที่สหรัฐจะผลักดันใน APEC ในปี 2010 และ 2011 มีดังนี้
- ผลักดันประเด็นด้านการค้าและการลงทุน โดยรวมถึงเรื่องการกำจัดอุปสรรคทางด้านการค้า ที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคและอุปสรรคในด้านมาตรฐานสินค้า
- ผลักดันมาตรการที่จะทำให้การค้าในภูมิภาค มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง ง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น คือการทำให้การค้าไหลเวียนสะดวกขึ้น โดยจะต้องมีการขจัดอุปสรรคของการไหลเวียนของสินค้าใน supply chain หรือ โซ่ห่วงการผลิต และปรับปรุงความโปร่งใส และการเข้าถึงข้อมูลในด้านศุลกากร
- ขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนในการค้าและบริการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

Kirk ตอกย้ำว่า ในปี 2011 สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด APEC ดังนั้น สหรัฐจะใช้โอกาสทองดังกล่าวในการแสดงให้เห็นว่า อเมริกาจริงจังที่จะเล่นบทบาทอย่างแข็งแกร่งและอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค การประชุมสุดยอด APEC 2011 จึงมีความสำคัญทั้งในแง่สัญลักษณ์และในแง่ของเนื้อหา

Trans - Pacific Partnership (TPP)
หัวใจของยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐต่อเอเชีย คือ การผลักดัน FTA ในกรอบ Trans - Pacific Partnership (TPP) หรือ TPP โดย Kirk กล่าวว่า สหรัฐกำลังวางแผนในเรื่องนี้ ประธานาธิบดีโอบามาต้องการผลักดันการจัดทำ FTA ในกรอบ TPP สหรัฐมุ่งเป้าว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงการค้าอย่างเป็นทางการในกรอบ TPP โดยสหรัฐหวังว่า ในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดและมีพลวัตรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ TPP จะกลายเป็นข้อตกลงการค้าที่สมบูรณ์แบบที่สุดในศตวรรษที่ 21 และ TPP จะให้ประโยชน์ต่อสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน บูรณาการบริษัทธุรกิจของสหรัฐในห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค นอกจากนี้ TPP จะเปิดโอกาสให้กับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ในสหรัฐ รวมทั้งจะมีการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

สหรัฐได้เริ่มเจรจากับประเทศในกรอบ TPP อีก 7 ประเทศ เมื่อเดือนมีนาคมไปแล้ว การเจรจารอบใหม่จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ยุทธศาสตร์การค้าของสหรัฐในภูมิภาค คือ การใช้ TPP ในกรอบของ APEC เป็นแกนกลางสำคัญของการทำ FTA ในภูมิภาค โดยจะค่อยๆ ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุด จะบรรลุเป้าหมายที่สหรัฐได้ตั้งไว้ คือ TPP จะกลายเป็น Free Trade Area of the Asia - Pacific (FTAAP) สหรัฐคงได้บทเรียนว่า ถ้าจะจัดตั้ง FTA ทั้งภูมิภาค อาจจะลำบาก ดังนั้น จึงหันมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ เริ่มจากไม่กี่ประเทศก่อน แล้วค่อยขยายออกไป

ผมมองว่า วาระซ่อนเร้นของสหรัฐในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP คือ สหรัฐกลัวการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ และกลัวว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ คือ มีแนวโน้มของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรอบ อาเซียน+3 ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก โดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง FTA อาเซียนกับประเทศคู่เจรจาหลายประเทศ อาทิ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่ง FTA เหล่านี้ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย

ดังนั้น สหรัฐจึงต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันการรวมกลุ่มโดยมีสหรัฐเป็นแกน และผลักดัน FTA โดยมีสหรัฐเป็นแกนในกรอบ TPP

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ?

พม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ?
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 38 วันศุกร์ที่ 11 - วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2553

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้มีข่าวปรากฏออกมาว่า พม่าได้แอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมถึงปฏิกิริยาจากฝ่ายต่างๆ และวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อไทยและอาเซียน ดังนี้

ข้อมูลจาก Democratic Voice of Burma
ข่าวเกี่ยวกับเรื่องพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น เริ่มมาจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma หรือเรียกย่อว่า DVB ได้เผยแพร่บทความรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคนที่เขียนบทความชื่อ Robert Kelly ชาวอเมริกันซึ่งเคยทำงานที่ International Atomic Energy Agency หรือ IAEA ของ UN ในบทความดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้

มีหลักฐานว่าพม่ากำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยข้อมูลล่าสุดได้มาจากอดีตทหารพม่าชื่อ Sai Thein Win โดย Sai ได้ให้ข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับโรงงานนิวเคลียร์ของพม่าแก่ DVB นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบหลักฐานความเกี่ยวข้องของเกาหลีเหนือและรัสเซียด้วย

สำหรับ Sai นั้น เคยเป็นทหารอยู่ในกองทัพพม่า โดยทำหน้าที่เป็นวิศวกร และต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่รัสเซีย มีความเชี่ยวชาญในด้านขีปนาวุธ หลังจากกลับจากรัสเซีย ก็มาทำงานที่โรงงานพิเศษ ซึ่งต่อมาเขาค้นพบว่า เป็นโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ Sai ได้ให้ข้อมูลโดยเฉพาะรูปภาพเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับโรงงานดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Thabeikkyin ทางเหนือของ Mandalay

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า รัฐบาลพม่า โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า Department of Technical and Vocational Education (DTVE) เป็นหน่วยงานบังหน้า ได้ซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่อาจเอามาปรับใช้เป็นอาวุธร้ายแรง จากเยอรมันนี ผ่านทางบริษัทที่สิงคโปร์
Sai ได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลพม่าได้บอกเขาว่า มีแผนการที่จะสร้างโรงงานนิวเคลียร์เพื่อใช้ในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ โดยรัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาแร่ยูเรเนียมให้เพียงพอสำหรับการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

Sai ยังได้เล่าว่า ตอนที่เขาอยู่ที่รัสเซีย มีเพื่อนหลายคนที่ไปศึกษาอบรมด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ที่ Moscow Institute of Engineering Physics หรือ MIFI ซึ่งสถาบันนี้เป็นสถาบันหลักสำหรับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต
สำหรับบทบาทของรัสเซียนั้น ในบทความของ DVB ได้บอกว่า พม่ากับรัสเซียได้มีข้อตกลงที่รัสเซียจะสร้างโรงงานนิวเคลียร์ให้กับพม่ามาตั้งแต่ปี 2000 และในปี 2008 รัสเซียได้ประกาศที่จะสร้างโรงงานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกิดติดขัด เพราะรัสเซียต้องการให้พม่าทำสัญญาพิเศษกับ IAEA แต่พม่าไม่ยอมทำ สัญญาดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นพิธีสารที่จะอนุญาตให้ IAEA เข้ามาตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของพม่าได้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นพม่าได้ทำข้อตกลงกับ IAEA ในปี 1995 โดยสัญญาว่าพม่าจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ต่อมาพม่ากับ IAEA ได้ทำพิธีสาร เรียกว่า Small Quantities Protocol ระบุว่า พม่าไม่มีโรงงานนิวเคลียร์และมีวัตถุดิบนิวเคลียร์ปริมาณน้อยมาก ซึ่ง IAEA ก็รับรองสถานะดังกล่าว และเป็นเงื่อนไขในพิธีสารว่า IAEA จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปในพม่าเพื่อตรวจสอบเรื่องการพัฒนานิวเคลียร์

สำหรับบทบาทของเกาหลีเหนือนั้น พม่ามีข้อตกลงกับเกาหลีเหนือ ที่เกาหลีเหนือจะช่วยสร้างขีปนาวุธพิสัยกลางที่เราเรียกว่า SCUD แต่บทบาทของเกาหลีเหนือในการช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆ ว่า ได้ส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับประเทศต่างๆ โดยล่าสุด ถูกกล่าวหาว่าแอบพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ให้กับซีเรีย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ UN ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ยังคงส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์และขีปนาวุธให้กับอิหร่าน ซีเรีย และพม่า

บทความของ DVB สรุปว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นภาพชัดเจนว่า พม่ากำลังพยายามที่จะพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และพยายามที่จะเพิ่มธาตุยูเรเนียมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ปฏิกิริยา
หลังจากที่มีข่าวในเรื่องนี้ออกมา Jim Webb วุฒิสมาชิกของสหรัฐ ซึ่งมีแผนจะเดินทางไปเยือนพม่า ก็ประกาศยกเลิกแผนการทันที โดยอ้างว่า จากข้อกล่าวหาเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวทำให้ไม่เหมาะสมที่จะเดินทางไปเยือนพม่าในขณะนี้ แต่ Webb ก็กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาจะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องรอให้เรื่องนี้กระจ่างเสียก่อน

ก่อนหน้านี้ Kurt Campbell อธิบดีกรมกิจการเอเชีย ได้กล่าวเตือนพม่าให้ปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือโดยเฉพาะการห้ามซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการซื้อเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา Win Myint ทูตพม่าประจำสิงคโปร์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ ดังกล่าว โดยบอกว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าพม่ากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้นไม่เป็นความจริง และปฏิเสธว่า เกาหลีเหนือไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า Aye Myint รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมพม่า ในตอนแรกจะมาร่วมประชุม Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ ในช่วงต้นเดือนนี้ แต่พอมีข่าวในเรื่องนี้ออกมา ก็ได้ยกเลิกที่จะเข้าประชุม

ในอดีต ผู้นำพม่าได้ปฏิเสธมาตลอดในเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ฝ่ายต่อต้านพม่ารวมทั้งอดีตทหารพม่าหลายคนที่เปลี่ยนมาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พม่ามีแผนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง

บทวิเคราะห์
• จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลของสำนักข่าว DVB ก็ยังต้องรอการยืนยันว่า จะมีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เราคงจะต้องฟังหูไว้หูในตอนนี้ แต่ผมก็เกรงว่า ในกรณีพม่าจะเหมือนกับในกรณีอิหร่าน ซึ่งในกรณีของอิหร่านนั้น เรารู้ว่าเป็นที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด โดยอิหร่านไม่เคยยอมรับว่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยอ้างว่าโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นไปเพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างสันติ แต่ทางตะวันตกไม่เคยเชื่อ โดยอ้างมาโดยตลอดว่าอิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในกรณีของพม่าก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อว่า พัฒนาการในเรื่องนี้จะเป็นไปอย่างไร

• นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่า พม่าคงอาจจะคิดเลียนแบบเกาหลีเหนือ โดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือพยายามป้องกันการโจมตีจากสหรัฐ ด้วยการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อความอยู่รอด พม่าก็คงจะหวาดกลัวการแทรกแซงจากสหรัฐ และอาวุธนิวเคลียร์น่าจะเป็นหลักประกันความอยู่รอดของรัฐบาลทหารได้ดีที่สุด

• ดังนั้น ประเด็นสำคัญคือ จะต้องมีการตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยจะต้องมีกลไกในการเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งอาจจะเป็น UN โดย IAEA หรืออาจจะเป็น ASEAN เพราะหากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จริง จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดกับพม่า

• นอกจากนั้น อาเซียนมีสนธิสัญญาที่จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Southeast Asia Nuclear Weapon Free Zone Treaty หรือเรียกย่อว่า SEANWFZ ซึ่งหากพม่าแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาดังกล่าว และจะทำให้ภูมิภาคปั่นป่วนไปหมด โดยประเทศต่างๆ อาจจะต้องหันมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเป็นการป้องปรามพม่า ก็จะนำไปสู่การแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปทั่วภูมิภาค ซึ่งจะทำให้วุ่นวายกันไปใหญ่ ดังนั้น ไทยและอาเซียนคงจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ คงจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความกระจ่างขึ้นให้ได้

อาเซียนกับปัญหาพม่า

อาเซียนกับปัญหาพม่า
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2553

ปัญหาพม่า : ผลกระทบต่ออาเซียน
ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่า การที่พม่าเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ส่งผลกระทบต่ออาเซียนในทางลบ พม่ากลายเป็นแกะดำ ตะวันตกก็บอยคอตอาเซียน ยุโรปไม่ยอมเจรจากับเรา ภาพลักษณ์ของอาเซียนเสียหายมาก อเมริกาไม่ยอมประชุมสุดยอดกับอาเซียน ไม่อยากจับมือกับผู้นำทหารพม่า พม่าเข้ามาเป็นตัวฉุด ในเรื่องการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ก็ฉุด ในเรื่องการพัฒนาไปเป็นประชาคมอาเซียน พม่าก็เป็นตัวฉุด กลไกสิทธิมนุษยชน พม่าก็เป็นตัวฉุด เพราะที่ได้กลไกหน้าตาแบบนี้ เชื่อได้เลยว่า พม่าอยู่เบื้องหลังในการตัดแขนตัดขาของกลไก การที่ได้กฎบัตรอาเซียนที่ไม่ได้เรื่อง ผมว่า เป็นเพราะพม่า เพราะเป็นไปตามระบบฉันทามติ เวลาจะร่างกฏบัตรขึ้นมา ทุกมาตรา พม่าต้องโอเค ทุกถ้อยคำ พม่าต้องโอเค ถ้ายกมือค้านขึ้นมา ก็ต้องตัดออก ผมเดา เลยว่า พม่าเป็นคนตัด ในเรื่องที่ว่า บางเรื่องต้องโหวต พม่าก็ไม่เอา ข้อเสนอที่จะให้ประเทศที่ละเมิดกฎบัตรอาเซียน จะต้องมีการลงโทษ พม่าก็ตัดออก ส่วนในกรณีที่จะขับออกจากการเป็นสมาชิกได้หรือไม่ การเป็นสมาชิกภาพจะถูกถอดถอนได้หรือไม่ ก็ไม่มีปรากฏอยู่ในกฎบัตร ส่วนในเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ผมเดาว่า พม่าคงยืนยันว่า จะต้องใส่ไว้ในกฎบัตร

บทบาทของอาเซียน
ไม่ค่อยมีอะไรเป็นรูปธรรม ย้อนกลับไป ก่อนพม่าเข้าเป็นสมาชิก เกือบ 20 ปี อาเซียนยืนยันในนโยบาย Constructive Engagement คือไม่คว่ำบาตร แต่หลังจากพม่าเข้าเป็นสมาชิก ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น กลับแย่ลง ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ในอดีต อาเซียนไม่เคยมีอะไรที่เป็นทางการเกี่ยวกับพม่า ในแถลงการณ์ร่วม อาเซียนไม่มีเรื่องพม่า แต่ปี 20001 เริ่มมีการพูดถึงเรื่องพม่า แรกๆ ออกมาในทำนอง พม่าต้องมาสรุปให้ฟังว่า พัฒนาการไปถึงไหนแล้ว อาเซียนกระตุ้นให้มีการปรองดองในชาติ ให้มีการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย หลังๆ สถานการณ์แย่ลงไป ตะวันตกบีบมากขึ้น กระแสโลกชัดเจนขึ้นในเรื่องนี้ อาเซียนก็ชัดเจนขึ้น ได้บีบพม่ามากขึ้น

ปี 2006 พม่าควรเป็นประธานอาเซียน แต่ถูกตะวันตกบีบ แล้วอาเซียนก็บีบพม่าให้สละการเป็นประธานอาเซียน อันนี้ ถือเป็นการบีบทางอ้อม ในอดีต มีการส่งผู้แทนอาเซียนเข้าไป รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เป็นประธานอาเซียนเคยมีบทบาท ไทยมีบทบาทในการจัดการประชุม Bangkok Process แต่การประชุมนี้อยู่นอกกรอบอาเซียน แต่จัดประชุมได้แค่ครั้งเดียว เพราะพม่าไม่มาเข้าร่วมประชุม ในที่สุดก็เลยหยุดไป

ในปี 2007 ที่มีการประท้วง มีแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนออกมาประณามพม่า แต่หลังจากนั้น ก็ไม่ได้ทำอะไรต่อ

อุปสรรคจำกัดบทบาทของอาเซียนคือ เรื่องผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกอาเซียนกับพม่า เช่น ไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า ไฟฟ้าที่ไทยใช้อยู่ ก็มาจากพม่า การค้า ทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็แบบเดียวกันหมด มีผลประโยชน์กับพม่า เราเลยพูดไม่ออก กลัวว่า ถ้าเล่นไม้แข็งแล้ว เขาจะเลิกค้าขายกับเรา เราก็จะยุ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไม่เคยพูดอะไรเลย เพราะยึดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ เปลี่ยนไปเหมือนกัน ได้หันมาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เริ่มพูดมากขึ้น เลยมีปัญหากระทบกระทั่งกัน
และยังมีเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียน เป็นหลักการพื้นฐานของกฎบัตรอาเซียนว่า จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

มีคำถามว่า หลักการมีการะบุไหมว่า จะตีความตรงจุดไหนว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายใน คำตอบคือ ไม่มีการระบุไว้ ถูกเขียนด้วยหลักการกว้างๆ ดังนั้น หากจะตีความแบบเคร่งครัดแล้ว การที่อาเซียนพูดเรื่องพม่าในปัจจุบัน ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน ฉะนั้น ในหลักการเขียนเอาไว้แต่การปฏิบัติ ถือว่าแทรกแซงอยู่แล้ว เพราะเวลาประชุม ทุกที ก็พูดถึงเรื่องประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเป็นเรื่องภายในของเขา ถือว่าแทรกแซง แต่พม่าก็ยอม เพราะฉะนั้น ในทางทฤษฎี ในหลักการ กับการปฏิบัติ ต่างกัน โดยปริยาย มีการแทรกแซงอยู่ แต่จะรับได้ถึงขั้นไหน ในการแทรกแซงของอาเซียน เป็นการแทรกแซงทางการทูต โดยการนำเรื่องพม่ามาพูดคุยว่า จะต้องทำอะไรบ้าง เดินหน้าอย่างไรบ้าง แต่คงไม่มากไปกว่านี้ คงไม่ถึงการคว่ำบาตร การลงโทษ ในระดับนั้น คงไม่กล้าทำ

ยังมีการถกเถียงว่า เราจะทำอย่างไรได้ ถ้าเราไม่ติดต่อ ไม่ปฏิสัมพันธ์ เราจะคว่ำบาตรพม่าเลยใช่ไหม เราจะลงโทษใช่ไหม หลายๆ ประเทศก็ถามว่า การคว่ำบาตร การลงโทษ จะได้ผลไหม และชี้ไปที่ตะวันตก สหรัฐ คว่ำบาตรพม่า แต่ก็ไม่ได้ผลอะไร

บทบาทของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ไม่น่าจะทำอะไรได้ เพียงตั้งขึ้นมาให้ภาพลักษณ์ของอาเซียนดูดีในสายตาประชาคมโลก ให้เราไม่กลายเป็นองค์กรเถื่อน ที่ไม่เคยพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมว่า อาเซียนเหมือนทำมาหลอก เพราะในทางปฏิบัติ คณะกรรมาธิการชุดนี้ คงทำอะไรไม่ได้ และใน TOR ก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ ที่จะไปทำอะไรอยู่แล้ว มีแค่ promotion แต่ไม่มี protection
promotion คือ ส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ส่งเสริมให้อาเซียนไปลงนามปฏิญญาต่างๆ แต่ในเรื่อง protection ไม่มี คือเมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา คณะกรรมาธิการก็ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แค่ report รับเรื่องร้องเรียนก็ไม่ได้ ไต่สวนก็ไม่ได้ ออกมาตรการอะไรก็ไม่ได้

โอกาสที่จะทำ protection ได้ ในอนาคต คงต้องรออีกนาน เพราะ TOR ในขณะนี้ ไม่มีช่องที่เปิดให้เล่นบท protection น้อยมาก และจำกัดมาก

การที่จะเอากลไกนี้ ไปแก้ไขเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า จึงเป็นไปไม่ได้ และอีก 5 ปี จึงจะมีการทบทวนตัวกลไกนี้ มันนานไป กลไกนี้ อาจต้องรอไปเป็นสิบๆ ปี ถึงจะพัฒนาไปกว่านี้

บทบาทของอาเซียนในปัจจุบัน
ท่าทีตะวันตกที่เปลี่ยนไป คือ ท่าทีของสหรัฐ เป็นเพราะนโยบายของโอบามาที่แตกต่างจากบุช โอบามาเป็นเสรีนิยม มองโลกในแง่ดี อยากลองคุยกับพม่า เริ่มที่จะเจรจา เริ่มมีปฏิสัมพันธ์ ตอนนี้ มีการทบทวนนโยบายว่า ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรไม่ได้ผล ตอนนี้ อยากเริ่มปฏิสัมพันธ์ดูบ้าง ตอนนี้ ใช้นโยบายแบบผสมผสาน คือ ทั้งปฏิสัมพันธ์ ทั้งคว่ำบาตร คือ ปฏิสัมพันธ์ไป แต่มีการคว่ำบาตรอยู่ ถ้ามีการปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น ก็อาจจะมีการคว่ำบาตรน้อยลง

ในส่วนของอาเซียน ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ในแง่ท่าที ยังเดิมๆ และอาจจะแย่ลงด้วยซ้ำ หากดูจาก ผลการประชุมต่างๆ ท่าทีของอาเซียน เริ่มถอยหลังลงคลอง จากที่เคยกล้าประณามพม่า แต่ปีที่แล้ว อาเซียนได้พูดออกมาในทำนองว่า ถือว่าเป็นเรื่องภายในของพม่า อาเซียนพร้อมที่จะร่วมมือกับพม่า และ UN ควรจะมีบทบาทในการเข้าไปมีส่วนช่วยตรงนี้ ซึ่งคล้ายกับว่า อาเซียนเริ่มที่จะถอยออกมาในเรื่องนี้ ซึ่งเหตุผล อาจจะมาจากการอยากที่จะให้เวลากับพม่า เพราะในปีนี้ พม่ากำลังจะจัดการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ตอนที่พม่าเอาอองซาน ซูจี ไปขึ้นศาล อาเซียนก็ไม่ได้ประกาศอะไรออกมาเลย มีเพียงแค่ไทย ที่ออกมาประกาศในฐานะประธานอาเซียน แต่สิ่งที่ประกาศไป ก็ไม่ใช่ท่าทีอย่างเป็นทางการของอาเซียน
ล่าสุด ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่เวียดนาม อาเซียนก็ยังคงมีท่าทีเดิมๆ คือ พยายามจะประนีประนอมกับรัฐบาลทหารพม่า ถึงแม้ว่าขณะนี้กำลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การเลือกตั้งในพม่าในปีนี้ จะมีลักษณะการเลือกตั้งที่หลอกคนดู และการเลือกตั้งจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต่อไป แต่อาเซียนก็ไม่สามารถที่จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องนี้ได้ ไม่มีหลักประกันว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และภายใต้กฎหมายเลือกตั้ง อองซาน ซูจี จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ พรรค NLD ก็ได้ประกาศบอยคอตการเลือกตั้งแล้ว นอกจากนี้ ได้มีข่าวออกมาว่าทางอาเซียนต้องการส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง แต่ทางรัฐบาลพม่าก็ไม่ยอม

จริงๆ แล้วมีหลายวิธีที่จะแก้ปัญหา นอกจากการออกแถลงการณ์ เราไม่เคยมีการลองใช้ไม้แข็งกับพม่า ในเรื่องของการคว่ำบาตร อาจจะเริ่มจากการคว่ำบาตรอย่างอ่อนๆ หรือคว่ำบาตรทางการทูต เช่น ไม่ให้พม่าเข้าประชุมอาเซียน หรือไม่ให้พม่าจัดการประชุมอาเซียน เราไม่เคยทำ ในอดีต จะมีการส่งผู้แทนพิเศษไปพม่า แต่ในระยะหลังๆ ไม่มีเลย และยังมีวิธีที่เราจะทำได้แต่ไม่เคยทำ คือ การผลักดันให้มีการประชุมพหุภาคีในเรื่องของพม่า มีอาเซียน UN สหรัฐ จีน อินเดีย ที่ควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

บทบาทของอาเซียนในอนาคต
ผมว่า แนวโน้มอาเซียนน่าจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสากล พม่าในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกในอาเซียน และเป็นประเทศเล็ก ที่ต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ฉะนั้น จะถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่อง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ผมมองว่า แนวโน้ม อาเซียนกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น ผมคิดว่า มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายนอก คือ กระแสสากล เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสากล อาเซียนอยู่เฉยๆ ก็ลำบาก อาเซียนจะต้องมีบทบาทมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ภายในอาเซียนเอง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องประชาธิปไตย อย่างประเทศที่สมัยก่อนเป็นเผด็จการ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จุดยืนเริ่มเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อินโดนีเซีย ก็เป็นประชาธิปไตย ฟิลิปปินส์ ไทย ก็เหมือนกัน แม้กระทั่งเวียดนาม ก็มีแนวโน้มว่า พยายามที่จะเปลี่ยนเช่นกัน อันนี้ผมคิดว่า เมื่อหลายๆ ประเทศเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จะเป็นพลังทำให้อาเซียนมีบทบาทในด้านนี้มากขึ้น

วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ปี 2010 : ผลกระทบต่อโลก

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ปี 2010 : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการเผยแพร่เอกสารสำคัญเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่มีชื่อว่า National Security Strategy ซึ่งจะมีการจัดทำขึ้นทุก 4 ปี ในสมัยรัฐบาลบุช มีการทำขึ้นในปี 2002 กับ ปี 2006 สำหรับในปี 2010 นี้ ได้มีการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลโอบามา ซึ่งถือเป็นเอกสารสะท้อนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลโอบามา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว และผลกระทบที่จะมีต่อโลกและต่อภูมิภาค

Grand Strategy : ยุทธศาสตร์ Engagement
ในตอนต้นของเอกสารดังกล่าว ได้วิเคราะห์ถึงภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยสงครามได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากสงครามอุดมการณ์มาเป็นสงครามชาติพันธุ์และสงครามศาสนา การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การไร้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และอันตรายจากการแพร่ขยายของเชื้อโรคร้ายต่างๆ

แต่สำหรับสหรัฐ ด้านมืดของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 จากการถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย หลังจากนั้นสหรัฐก็ได้ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลับกลุ่มอัลกออิดะห์ และทำสงครามในอิรัก

ในอนาคต สหรัฐจะยังคงเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นคงให้กับโลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรและสถาบันระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักคือเพื่อเอาชนะอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง

Theme ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 คือ การรื้อฟื้นการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ และดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ (Engagement)

ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ในระดับโลก คือการให้ความสำคัญกับสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโลก และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน สงคราม และโรคระบาดต่างๆ

แต่การปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนั้น สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจใหม่ คือ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย สหรัฐกำลังเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ และแม้กระทั่งประเทศที่เป็นศัตรู สหรัฐก็จะดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ด้วย

ยุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า
ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์และการรื้อฟื้นความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ ถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ปัจจุบัน สหรัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายรูปแบบ จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า

ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ภัยจากอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายที่มาจากการที่กลุ่มก่อการร้ายมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง รวมทั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปสู่ประเทศต่างๆ ดังนั้นสหรัฐจึงกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐกำลังลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ลง พยายามส่งเสริมสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT พยายามแก้ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือ พยายามไม่ให้วัตถุดิบนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ และการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

สหรัฐกำลังทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เป้าหมายคือ การเอาชนะอัลกออิดะห์ ด้วยยุทธศาสตร์สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ขณะนี้ แนวหน้าของการต่อสู้อยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง มีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้าน ด้วยทางออกที่เรียกว่า two-state solution โดยการตั้งรัฐอิสราเอลคู่กับรัฐปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ก็มีความพยายามปฏิสัมพันธ์กับโลกมุสลิมทั่วโลกด้วย

ยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย
ในเอกสารดังกล่าว ได้ฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชีย โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ในเอเชีย ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเน้นกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรดังกล่าวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศที่มีความสำคัญคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ถูกมองว่ากำลังจะเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค สหรัฐจึงจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสอง โดยรวมแล้ว สหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตร ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค อาทิ การแพร่ขยายอาวุธร้ายแรง การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ปัญหาโจรสลัด ภัยจากโรคระบาด และความมั่นคงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังมีการเกิดขึ้นของศูนย์กลางอำนาจใหม่ ดังนั้น สหรัฐจึงพยายามที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย โดยผ่านทางองค์กรในภูมิภาค เวทีหารือใหม่ๆ และการทูตระดับสูง สหรัฐจะดำเนินยุทธศาสตร์ต่อเอเชียผ่านทางพันธมิตร กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ และเพิ่มบทบาทในเวทีพหุภาคีต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง ASEAN APEC และเวที East Asia Summit

สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้น สหรัฐจะเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นบวก สร้างสรรค์ และสมบูรณ์เบ็ดเสร็จกับจีน สหรัฐยินดีที่จีนจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะยังคงเฝ้าระวังเกี่ยวกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของจีน และเตรียมรับมือกับผลกระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตรได้รับผลกระทบในทางลบ จากการผงาดของจีนทางทหาร สหรัฐกับจีนคงจะไม่สามารถตกลงกันได้ในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ความเห็นที่แตกต่างกันจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในประเด็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับอินเดีย สหรัฐกำลังพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด บทบาทความรับผิดชอบของอินเดีย เป็นตัวอย่างในเชิงบวกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และได้เปิดโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง สหรัฐมองว่า อินเดียกำลังจะมีบทบาทความเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาของโลก โดยการเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 และบทบาทของอินเดียในการสร้างเสถียรภาพในเอเชียใต้

สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่สหรัฐมองว่า กำลังเป็นศูนย์อำนาจใหม่และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ อินโดนีเซีย โดยในเอกสารดังกล่าว ได้พูดถึงอินโดนีเซียว่า เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นสมาชิก G20 และเป็นประชาธิปไตย อินโดนีเซียจึงมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค

บทวิเคราะห์
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 ของรัฐบาลโอบามาที่ได้สรุปข้างต้นนั้น มีแนวนโยบายที่แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยของรัฐบาลบุชอย่างเห็นได้ชัด โดยยุทธศาสตร์ในสมัยรัฐบาลบุช เป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นสายเหยี่ยวแบบสุดโต่ง เป็นยุทธศาสตร์สัจนิยมแบบสุดโต่ง แต่สำหรับยุทธศาสตร์ของโอบามา มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์สัจนิยมกับอุดมคตินิยม และลดความเป็นสายเหยี่ยวลงไปมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์สายพิราบ แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นการผสมผสานกันของทั้งสัจนิยมและอุดมคตินิยม โดยมีความเป็นเสรีนิยมสูง โดยเฉพาะการเน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชที่มองโลกในแง่ร้ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในลักษณะ grand strategy หรือยุทธศาสตร์ระยะยาวของโอบามานั้น แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยบุชเป็นอย่างมาก

• อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ระยะสั้นหรือยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า กลับปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ของโอบามาก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชมากนัก โดยภัยคุกคามก็เหมือนกัน คือ กลุ่มก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง ดังนั้น ถึงแม้โอบามาจะมี grand strategy ที่มีลักษณะเสรีนิยม แต่พอมาถึงยุทธศาสตร์ในระยะสั้นเฉพาะหน้า กลับมีลักษณะเป็นสัจนิยมค่อนข้างมาก
• เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของโอบามาต่อเอเชีย ก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุช โดยยังคงเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางทหารทั้ง 5 แต่ที่จะแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชคือ การให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะกับจีน ก็แตกต่างจากในสมัยของรัฐบาลบุช โดยโอบามาเน้นที่จะปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นและมองจีนในแง่บวกมากขึ้น
• โดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยผมมองว่าโดยรวมแล้ว น่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อโลกมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ หากรัฐบาลโอบามาสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ คือ เน้นปฏิสัมพันธ์ ก็น่าจะทำให้เกิดความร่วมมือและสันติภาพมากขึ้นในโลก การเน้นให้ความสำคัญกับองค์การระหว่างประเทศ ก็น่าจะส่งผลดีในการสร้างความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง และน่าจะส่งผลให้เชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก

สำหรับผลกระทบต่อเอเชียนั้น พันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้รับประโยชน์เหมือนเดิม โดยไทยในฐานะเป็นหนึ่งในพันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย แนวโน้มคือ สหรัฐน่าจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับมหาอำนาจใหม่ในเอเชีย น่าจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้น ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย เวทีพหุภาคีในภูมิภาค ก็น่าจะได้รับความสำคัญจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่ออาเซียน สุดท้าย ประเทศที่ดูแล้ว น่าจะกำลังเป็นจุดสนใจของสหรัฐเป็นอย่างมากคือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่า สหรัฐจะให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็น่าจะก่อให้เกิดผลในเชิงบว

การประชุม Strategic and Economic Dialogue ระหว่างสหรัฐ กับ จีน

การประชุม Strategic and Economic Dialogue ระหว่างสหรัฐ กับ จีน
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2553

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสำคัญระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งการประชุมดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Strategic and Economic Dialogue ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 การประชุมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีโอบามา ทางฝ่ายสหรัฐหัวหน้าคณะมี 2 คน คือ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศ และ Tim Geithner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ส่วนทางฝ่ายจีนมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ การประชุมดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญรองลงมาจากการประชุมระดับสุดยอด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ความร่วมมือด้านความมั่นคง
ในสุนทรพจน์กล่าวสรุปปิดการประชุม Hillary Clinton ได้กล่าวชื่นชมผลการประชุม โดยบอกว่าเวทีการประชุมนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน Hillary ได้กล่าวว่า ในช่วงต้นปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเสื่อมโทรมลงมาก อย่างไรก็ตาม กลไกหารือเวทีนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการหารือในด้านต่างๆ หลายเรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องความมั่นคง โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างละเอียด รวมถึงปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือ
ในกรณีของอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญที่จะบรรลุถึงข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้อิหร่านมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศ มิเช่นนั้นจะถูกโดดเดี่ยวและจะได้รับผลจากพฤติกรรมของตน

สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐและจีนมีวัตถุประสงค์ตรงกันที่ต้องการสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศร่วมมือกัน ในการผลักดันข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และบังคับใช้ข้อมติดังกล่าว หลังจากเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะนี้ ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกิดจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือของเกาหลีใต้ Hillary ได้เน้นว่า จีนเป็นประเทศที่น่าจะกังวลที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้น จึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในอนาคต สหรัฐจะร่วมมือกับประชาคมโลก และกับฝ่ายจีน เพื่อที่จะหาหนทางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ความร่วมมือด้านพลังงาน
แต่ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ ความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงหลายเรื่องในด้านนี้ ข้อตกลงที่สำคัญที่มีการลงนามในครั้งนี้ มีดังนี้
• มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกันในการป้องกันและต่อต้านการค้าวัตถุดิบนิวเคลียร์อย่างผิดกฎหมาย
• มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจแก๊สธรรมชาติในจีน โดยแผนดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า U.S.-China Shale Gas Resource Task Force Work Plan
• มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม MOU ความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และมีการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ระยะเวลา 10 ปี โดยในกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะเน้นสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ น้ำ อากาศ พลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การปกป้องธรรมชาติ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
• ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานของ Clean Energy Research Center เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม
• ทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะจัดการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานอีกหลายเวที ได้แก่ Electric Vehicle Forum การประชุม U.S.-China Energy Policy Dialogue ครั้งที่ 5 และการประชุม U.S.-China Oil and Gas Industry Forum ครั้งที่ 10 ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุม U.S-China Renewable Energy Forum ครั้งแรกขึ้น และได้มีการจัดการประชุม Advanced Bio-fuels Forum เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่อง U.S-China Renewable Energy Partnership
• ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำแถลงการณ์ร่วม ความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน โดยที่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่ผลิตและบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและความรับผิดชอบร่วมกันในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน
• ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำจุดยืนในการสนับสนุน Copenhagen Accord ที่เป็นข้อตกลงล่าสุด ที่ตกลงกันในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปลายปีที่แล้ว

ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
การประชุมในครั้งนี้ มีการหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ โดย Tim Geithner รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้กล่าวสรุปว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยดูได้จากการส่งออกของสหรัฐมาจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยได้เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

เรื่องสำคัญที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันคือ ความร่วมมือในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ในการประชุมปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้เน้นเรื่อง การปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก หลังจากนั้นทั้งสองประเทศได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการปรับสมดุล โดยทางสหรัฐได้มีการออมและลงทุนมากขึ้น และลดการกู้เงินจากต่างประเทศ ในขณะที่ทางฝ่ายจีนก็มีการบริโภคและการนำเข้ามากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความสมดุลมากขึ้น

ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเพิ่มเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF

อีกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่แต่ Geithner ได้กล่าวแต่เพียงเล็กน้อย คือ ปัญหาค่าเงินหยวนของจีน โดยได้กล่าวแต่เพียงว่า ยินดีที่ผู้นำจีนได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูประบบการแลกเปลี่ยนของจีน

แต่เรื่องที่ Geithner ดูจะให้ความสำคัญคือ การที่สหรัฐผลักดันให้จีนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐในจีน ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐดูจะพอใจที่จีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การยึดหลักการกลไกตลาด การค้าเสรี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน รวมทั้งการที่จีนจะเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลง WTO ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการที่จีนกำลังลดอุปสรรคการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐมองว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ

บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ผลของการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกผันอีกครั้งหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากความร่วมมือเป็นความขัดแย้ง และจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ เราคงจำได้ว่า ในช่วงต้นปีที่แล้ว ตอนที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ ได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน ความสัมพันธ์ในช่วงปีที่แล้วดีขึ้นมากโดยเฉพาะตอนที่โอบามาเดินทางไปเยือนจีน แต่พอมาถึงช่วงต้นปีนี้ ความสัมพันธ์ก็พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง อาทิ การที่โอบามาประกาศที่จะขายอาวุธให้กับไต้หวัน และการที่โอบามาได้พบปะกับองค์ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว และต่อมาสหรัฐได้โจมตีจีนอย่างหนักในเรื่องของค่าเงินหยวน และความสัมพันธ์ดูมีแนวโน้มทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ

แต่พอมาเมื่อช่วงเดือนเมษายน ความสัมพันธ์ก็พลิกผัน โดยหู จิ่น เทา ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐ หลังจากนั้น ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และจากการประชุม Strategic and Economic Dialogue ในครั้งนี้ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ดีมากขึ้นไปอีก

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คำตอบของผมคือ เราต้องเข้าใจยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีน ซึ่งมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ ในบางช่วง สหรัฐจะเน้นนโยบายปิดล้อม ใช้ไม้แข็งกับจีน แต่ในบางช่วง ก็จะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์และใช้ไม้อ่อนกับจีน สลับกันไปนั่นเอง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ไฮไลท์อยู่ที่ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งก็เป็นการสานต่อข้อตกลงระหว่างโอบามากับหู จิ่น เทา เมื่อปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับในด้านอื่นๆ ก็ไม่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และความขัดแย้งในเรื่องสำคัญ ยังไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด อย่างเช่น เรื่องปัญหาค่าเงินหยวน เรื่องความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป ในอนาคต เราคงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน กลับไปกลับมา คือ บางครั้งจะมีความร่วมมือ บางครั้งก็จะขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์กึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐนั่นเอง

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนสุดท้าย)

นโยบายต่างประเทศของไทย (ตอนสุดท้าย)ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 36 วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2553

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทย โดยเน้นข้อเสนอการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และบทบาทของไทยในอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ เป็นตอนสุดท้าย โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ
มหาอำนาจ
พอออกไปจากบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นบริบทโลก ไทยจะมีจุดยืนอย่างไรในระบบโลก เพราะฉะนั้น เราต้องมาวิเคราะห์ก่อนว่า ระบบโลกขณะนี้ประกอบด้วยอะไรบ้าง จะมีเวทีพหุภาคีใหญ่ๆ เช่น UN WTO มีมหาอำนาจใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เราจะวางจุดยืนของเราอย่างไร เราจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่อีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าอเมริกากับจีน ก็ไม่ได้เห็นตรงกันเป็นส่วนใหญ่ เอาใจจีนมาก อเมริกาก็ไม่พอใจ เอาใจอเมริกามาก จีนก็ไม่พอใจ ประเทศเล็กอย่างเราจะทำอย่างไร

คำตอบคือ ประเทศไทยของเราถือว่าโชคดี ในแง่ที่ว่า เราคนไทย มีความสามารถในเรื่องของการเอาตัวรอดได้สูง เรามีไหวพริบดีในเรื่องของการเอาตัวรอด ในเรื่องภัยอันตรายต่างๆที่จะเข้ามา รู้โอกาสต่างๆ ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เราสามารถคบค้าสมาคมกับมหาอำนาจต่างๆ จักรวรรดินิยมตะวันตก เราก็เข้าได้หมด สมัยล่าอาณานิคม สมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เราก็เอาตัวรอดมาได้ สาเหตุที่เราไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เราสามารถเป็นประเทศเอกราชประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เพราะว่า เราใช้การทูต เราเล่นกับอังกฤษ ฝรั่งเศส เราสามารถเล่นนโยบาย ที่ทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจได้หมด จุดแข็งของเราคือ เรามีความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจได้ ซึ่งต่างจากจุดอ่อนของไทย ที่เราไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีนัก กับประเทศเพื่อนบ้าน

ทีนี้ พอมาพูดถึงเรื่องมหาอำนาจ ก็พูดสบายขึ้นมาก เพราะนี่เป็นจุดแข็งของเรา เราเก่งในเรื่องของการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ยิ่งใหญ่ในโลก
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับอเมริกา ก็สบาย เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอด นับตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ที่พอมีคอมมิวนิสต์มา เราก็เข้าได้กับอเมริกา หลังจากนั้น เราก็ติดต่อคบหาสมาคมมาโดยตลอด ตอนนี้ เราเป็นพันธมิตรทางทหารกับอเมริกา มีการซ้อมรบ Cobra Gold ทุกปี การซ้อมรบนี้ เป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ตลาดที่สำคัญที่สุดของไทย ในเรื่องของการส่งออก ยังเป็นตลาดสหรัฐ ดังนั้น ในแง่ของอเมริกา ความสัมพันธ์ก็ไปได้ดี

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ อเมริกาก็พยายามมาสนิทกับเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย เขามีทางเลือกมากขึ้น ตีสนิทกับหลายคนมากขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว ไทยยังเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดต่อเขาอยู่ดี คือเวลาเขาบอกนโยบายของอเมริกา เขาบอกอย่างชัดเจนว่า เขามีพันธมิตรทางทหารในเอเชียอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย แล้วก็ ไทย กับฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นพันธมิตร 5 ประเทศ ถือว่าไทยมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษกับอเมริกา ดังนั้น เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ที่เป็นพิเศษกับเขาต่อไป เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเรา

ในปัจจุบัน โลกมีอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว คือ อเมริกา แต่เรากำลังมองเห็นว่า โลกกำลังเริ่มเปลี่ยน คือ ค่อยๆ มีคนอื่นผงาดขึ้นมา เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งตอนนี้มาแรงมาก ดังนั้น เราจะคบกับอเมริกาประเทศเดียวไม่ได้ ไทยจึงเริ่มเปลี่ยนและรู้ทิศทางลมอยู่แล้วว่า จีนกำลังมาแรง

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราเริ่มกลับมาตีสนิทจีน ความสัมพันธ์ไทยจีนตอนนี้ก็ดีมากขึ้นเรื่อยๆ และเราได้เปรียบอีก เพราะว่าไทยกับจีนมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา และเราก็มีข้อได้เปรียบ ในแง่ของความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม คือเรื่องของสายเลือด คนไทย คนจีน เรียกได้ว่า เป็นพี่น้องกันได้เลย ทำให้ไทยกับจีนมองตา ก็รู้ว่าเราเข้ากันได้

ผมว่า ในอาเซียน จีนเขามองว่า เขาสนิทกับไทยมากที่สุด ทำให้เราได้เปรียบประเทศอาเซียนอื่น เช่นเปรียบเทียบกับเวียดนาม จีนเคยไปยึดเขา ลึกๆ เวียดนามก็ไม่ชอบจีน ส่วนมาเลเซีย มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ดังนั้น มาเลเซียจึงยังมีความหวาดระแวงจีนอยู่ ส่วนสิงคโปร์ ซึ่งแม้ว่าจะมีเชื้อสายเป็นจีน แต่ก็เป็นประเทศเล็ก ดังนั้น เขาก็มองว่า จีนอาจเข้ามาครอบงำภูมิภาคนี้ เขาก็จะลำบาก จึงพยายามดึงอเมริกามาถ่วงจีน ก็เล่นเกมนี้อยู่ ส่วนอินโดนีเซีย คิดว่า เขาใหญ่ มีประชาชน 240 ล้านคน จะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค ก็ไม่อยากให้จีนมาวุ่นวาย สรุปแล้วไทยได้เปรียบกว่าเพื่อนในแง่ของจีน ผมจึงไม่ค่อยห่วง เพราะไทยรู้ทิศทางลม และใกล้ชิดสนิทสนมกันอยู่แล้ว

แต่จะมีปัญหาในเรื่องของอนาคต ที่จีนกับอมริกาเริ่มจะแข่งขันกัน เราจึงอาจไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไร แต่ผมว่า ไทยสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ในแง่ที่ว่า เราใกล้ชิดกับจีนและอเมริกา ในที่สุดแล้ว เราก็ตีสนิทกับทั้งสองประเทศนี้ได้

อาจจะมีหลายคนสงสัยว่า จีนจะกลัวหรือไม่ ที่เราซ้อมรบกับอเมริกา Cobra Gold เป็นหนึ่งใน 5 ชาติที่อเมริกาถือว่าเป็นพันธมิตรทางทหาร จีนจะรู้สึกน้อยใจไหมว่า ถ้าหากต้องเลือกข้าง ไทยจะเลือกอเมริกา ไม่เลือกข้างจีน
คำตอบคือ ผมมองว่า จีนรู้ดีว่า เรามีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางทหารกับอเมริกา และขณะนี้ อเมริกายังครอบงำบทบาททางทหารในภูมิภาคอยู่ จีนยังไม่มีบทบาททางทหารมากนัก แต่จะมีบทบาทด้านเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า เขารู้ข้อจำกัดของเขา ดังนั้น จุดยืนของเราคือต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งจีนและอเมริกา

แต่ตอนนี้มหาอำนาจมีมากกว่าสองประเทศนี้ เพราะมีอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
อินเดียเป็นประเทศใหญ่ ในอนาคต อาจมีขนาดเศรษฐกิจที่ไล่เลี่ยกับจีน ขณะนี้ เราเริ่มจะปูทาง โดยหันไปตีสนิทกับอินเดียแล้ว และความสัมพันธ์มีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผมจึงไม่ห่วง เรื่องความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ เพราะเราเล่นได้หมด

ส่วนญี่ปุ่น เราก็สนิทกันมาก เราได้หมด ตรงนี้ คือจุดแข็งของเราที่ผมคิดว่า เราสามารถที่จะเดินหน้าตรงนี้ต่อไปได้

ส่วนรัสเซีย ถือว่าเป็นมหาอำนาจที่อยู่ไกลออกไป มีบทบาทต่อภูมิภาคนี้ไม่มากนัก แต่ไทยก็สนิทกับรัสเซียมากขึ้น แต่เขามีข้อจำกัดในเรื่องของประชากร ที่มีแค่ร้อยกว่าล้านคน ประชากรมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ เป็น aging society และเศรษฐกิจก็พึ่งพาด้านส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ศักยภาพจึงไม่เท่าไหร่ ส่วนบราซิลก็อยู่ไกลออกไป ความสัมพันธ์จึงยังไม่มีอะไรมากนัก

ส่วนภูมิภาคอื่นๆ เช่น ตะวันออกกลาง ผมคิดว่า เราคงจะเน้นในเรื่องของน้ำมัน เป็นอีกตลาดหนึ่ง ที่จะเป็นตลาดทางเลือกของเรา ผมคิดว่า ไทยมองอยู่แล้วว่า เราจะต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น กระจายตลาดมากขึ้น หมายถึงว่า เราต้องลดการพึ่งพิงตลาดอเมริกาลง และไปหาตลาดตะวันออกกลางและอเมริกาใต้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่

Grand Strategy
รัฐบาลขณะนี้ ที่ผ่านมาหนึ่งปี ผมจับตาดูอยู่ ผมว่า นโยบายในเชิงรุกน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะวิกฤตการเมืองภายใน ทำให้การทูตเราไม่ไหลลื่น ข้อเสนอของผมคือ จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ คือต้องมี ยุทธศาสตร์ใหญ่ grand strategy เราไม่มียุทธศาสตร์ใหญ่ คือ ต้องมียุทธศาสตร์ต่อเพื่อนบ้าน ต้องมีการปรับความสัมพันธ์ ฟื้นฟูความสัมพันธ์โดยเร็ว ต้องแก้เรื่องความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน การแก้รากเหง้าของปัญหา ต้องมียุทธศาสตร์ว่า เราจะเอายังไงกับอาเซียน APEC เวทีพหุภาคีต่างๆ ไม่ใช่ว่า สักแต่ว่าไปประชุม แต่เราต้องมีการทำการบ้านอย่างดี ต้องมีความคิดริเริ่ม ต้องผลักดัน ที่เป็นลักษณะของการนำความคิดริเริ่มใหม่ๆ เข้าไปเสนอในที่ประชุม เพราะตราบใดที่เราเดินตามเขา เราก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ และกับประเทศมหาอำนาจก็เช่นกัน เราต้องมี grand strategy ที่จะใช้กับเขาเช่นกัน