Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยในอนาคต (ตอนที่ 1)

ข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยในอนาคต (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 8 – วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2554

คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้และตอนหน้า ผมจะขอนำเสนอ ข้อเสนอยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในอนาคต โดยจะแบ่งเป็น 2 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง และยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดยในตอนนี้ จะเสนอยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง ส่วนในตอนหน้า สัปดาห์หน้า จะเสนอยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองความมั่นคง

สำหรับข้อเสนอด้านยุทธศาสตร์การเมืองและความมั่นคงนั้น จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ยุทธศาสตร์ในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี


• ยุทธศาสตร์ในระดับโลก

การที่ไทยจะมียุทธศาสตร์ได้นั้น จะต้องวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศเสียก่อน ในที่นี้ จะต้องวิเคราะห์ระบบการเมืองโลก ซึ่งในอดีตและปัจจุบัน เป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ที่มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว อย่างไรก็ตาม ในอนาคต มหาอำนาจใหม่กำลังผงาดขึ้นมา โดยเฉพาะ จีน อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ดังนั้น ระบบโลกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้ว ไปสู่ระบบหลายขั้ว โดยจะมีลักษณะเป็นระบบลูกผสม ระหว่างระบบหนึ่งขั้ว ระบบหลายขั้ว และระบบพหุภาคีนิยม หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า uni-multilateralism

สำหรับปัญหาความมั่นคงโลกในอนาคต จะมี 3 เรื่องใหญ่ เรื่องที่ 1 คือ แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเก่ากับมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯกับจีน เรื่องที่ 2 คือ แนวโน้มการปะทะกันทางอารยธรรม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตะวันตกและอิสลาม เรื่องที่ 3 คือ ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยเฉพาะ พลังงาน น้ำ และ อาหาร

จากแนวโน้มสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว ที่รองรับต่อระบบการเมืองโลก และปัญหาการเมืองโลกในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆของไทย ควรมีดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์สนับสนุนระบบความมั่นคงโลกที่มีเสถียรภาพ และเอื้อต่อผลประโยชน์ของไทย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์รองรับต่อ uni-multilateralism และยุทธศาสตร์รองรับปัญหาการเมืองโลก 3 เรื่องใหญ่ ดังกล่าวข้างต้น
- ไทยควรเล่นบทบาทให้โดดเด่นมากขึ้นในเวทีและองค์กรความมั่นคงโลก โดยเฉพาะบทบาทในคณะมนตรีความมั่นคง
- ไทยควรมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นประเด็นปัญหาในระดับโลก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของไทยเอง และไทยยังจะได้ประโยชน์ในการสร้างศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ และการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้น
- ความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากร กำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ ไทยจึงควรรีบเข้าไปมีบทบาทในองค์กรโลกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ทางพลังงานของไทย เรื่องนี้ ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน อย่างเช่น สหรัฐฯ จีน อินเดีย แต่สำหรับไทย ผมเห็นว่า เรายังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้

• ยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค

สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียนั้น จะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับสภาวะแวดล้อมในระดับโลก คือ ระบบความมั่นคงในภูมิภาค จะเป็นระบบลูกผสม ที่ประกอบด้วยระบบหนึ่งขั้ว ระบบหลายขั้ว และระบบพหุภาคีนิยม คือ เป็นระบบ uni-multilateralism เหมือนในระบบโลก โดยสหรัฐฯจะคงมีบทบาทครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค แต่การผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย จะทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาค มีลักษณะหลายขั้วอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน ในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะทำให้ระบบความมั่นคงในภูมิภาค มีลักษณะเป็นระบบพหุภาคีนิยมมากขึ้นด้วย

สำหรับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคในอนาคต เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น และจุดอันตรายอื่นๆ คือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี หมู่เกาะสแปรตลีย์ และไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และการแข่งขันทางทหาร

เช่นเดียวกับในระดับโลก ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคเพื่อรองรับต่อระบบและปัญหาในภูมิภาคในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆของไทย มีดังนี้

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนต่อระบบ uni-multilateralism โดยจะต้องมียุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจเก่า คือ สหรัฐฯ และมหาอำนาจใหม่ คือ จีนและอินเดีย
- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการส่งเสริมเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาค
- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการร่วมแก้ปัญหาการก่อการร้ายในภูมิภาค
- ไทยจะต้องมีบทบาทนำในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ปกป้องผลประโยชน์ความมั่นคงทางด้านพลังงานในภูมิภาค

• ยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี

สำหรับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีนั้น คือ แนวโน้มความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ

ที่น่าเป็นห่วง คือ แนวโน้มความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ในอนาคต มีระเบิดเวลารอการระเบิดอยู่หลายลูก โดยเฉพาะปัญหาพรมแดนกับพม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้าน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ด้านการเมืองความมั่นคงไทยกับมหาอำนาจนั้น ไม่น่าห่วง เพราะไทยมีความสามารถพิเศษที่เข้ากับมหาอำนาจได้ดี ทั้งกับสหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น

สำหรับข้อเสนอยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในระดับทวิภาคีของไทยนั้น คือ

- ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในลักษณะที่เป็น grand strategy คือ จะต้องมียุทธศาสตร์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ที่จะต้องฟื้นฟูและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ โดยไทยจะต้องเน้นยุทธศาสตร์การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก และเป็นรากเหง้าของปัญหา
- สำหรับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับมหาอำนาจ ไทยต้องมียุทธศาสตร์รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มที่น่าห่วงเรื่องหนึ่ง คือ การที่สหรัฐฯมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับไทยลดลงเรื่อยๆในฐานะพันธมิตร ปัจจุบัน ไทยเป็นพันธมิตรชั้น 1 กับสหรัฐฯ แต่ในอนาคต ไทยอาจตกชั้นจากพันธมิตรชั้น 1 โดยสหรัฐฯกำลังหันไปให้ความสำคัญกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ดังนั้น ไทยจะต้องรีบกำหนดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูความสัมพันธ์และพันธมิตรกับสหรัฐฯให้เหนียวแน่น
- สุดท้าย ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในมิติด้านความมั่นคงทางพลังงานและทรัพยากร ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางด้านนี้ของไทย ซึ่งในอนาคต กำลังจะเป็นมิติด้านความมั่นคงที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า ซึ่งผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ)

ไม่มีความคิดเห็น: