Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เปิดตัวคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์”

เปิดตัวคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์”

Guru by Truelife วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2554

คอลัมน์ “โลกปริทรรศน์” ในวันนี้ เป็นตอนปฐมฤกษ์ ผมจึงอยากจะใช้ตอนแรกนี้ แนะนำเกี่ยวกับตัวผม และเป้าหมายของผมในการเขียนคอลัมน์นี้ รวมถึงจะพูดถึงขอบเขตของเรื่องที่จะเขียน ซึ่งจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลัก ดังนี้

ประวัติ

ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับการทาบทามจาก True ให้มาเปิดคอลัมน์ใน Guru by Truelife ซึ่งนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ทาง True ได้ให้ความไว้วางใจผม ในการเขียนคอลัมน์นี้

สำหรับประวัติคร่าวๆของผมนั้น หลังจากผมเรียนจบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์การทูต ในปี 2520 ที่ธรรมศาตร์ ก็ได้ไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกที่อเมริกา และจบปริญญาเอก รัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก University of Georgia ในช่วงปลายปี 2527 หลังจากนั้น ช่วงต้นปี 2528 ผมได้เข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศ และได้ทำงานอยู่ที่นั่นเป็นเวลาเกือบ 14 ปี ได้ประสบการณ์มากมายจากการเป็นนักการทูตที่นั่น ซึ่งผมก็คงจะเอาประสบการณ์ดังกล่าว มาถ่ายทอดในคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์” นี้ด้วย ผมทำงานอยู่หลายกรมในกระทรวงต่างประเทศ อาทิ กรมเศรษฐกิจ กรมอาเซียน กรมเอเชียตะวันออก และเคยเป็นกงสุลอยู่ที่ญี่ปุ่น 4 ปี

แต่หลังจากอยู่ ก.ต. มาได้ 10 กว่าปี ก็อยากจะทำอย่างอื่นบ้าง โดยเฉพาะอยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบที่สุด นั่นก็คือ การเป็นนักวิชาการ ผมจึงตัดสินใจย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นอาจารย์มาได้ 10 กว่าปีแล้ว ช่วง 10 กว่าปีที่เป็นอาจารย์และเป็นนักวิชาการเต็มตัว ผมได้ทำในสิ่งที่อยากทำที่สุด คือ ได้อ่าน ได้คิด ได้เขียน ได้สอน โดยเฉพาะงานเขียน ผมได้ผลิตงานเขียนออกมาคิดว่า เป็นจำนวนไม่น้อย ในทุกรูปแบบ หนังสือ ก็พิมพ์ออกมาได้ 10 กว่าเล่มแล้ว และมีบทความวิชาการ และงานวิจัย รวมทั้งมีคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ด้วย ผมมี blog ซึ่งได้upload งานเขียนต่างๆของผมไว้ ซึ่งทำมาได้ประมาณ 3-4 ปี ตอนนี้ มีคนเข้าชม blog กว่าแสนคนแล้ว เผื่อท่านผู้อ่านสนใจ ก็สามารถเข้าไปได้ที่ www.thepchatree.blogspot.com

เป้าหมาย

สำหรับความตั้งใจของผมในการเขียนคอลัมน์นี้ มีอยู่ด้วยกันหลายประการ

ประการแรก ผมต้องการที่จะทำให้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป คอลัมน์นี้จะพยายามวิเคราะห์ให้เห็นว่า เรื่องต่างๆที่เกิดในโลกนั้น กระทบต่อคนไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่ ยุคโลกาภิวัฒน์ ที่เป็นโลกไร้พรมแดน สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมหนึ่งของโลก ก็จะกระทบต่ออีกมุมหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ประการที่ 2 ผมจะพยายามทำให้คอลัมน์นี้ เป็นคอลัมน์วิเคราะห์เรื่องการต่างประเทศที่ทำให้คนไทยเข้าใจได้ง่าย ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลตัว และเข้าใจยากอีกต่อไป

ประการที่ 3 ผมต้องการใช้คอลัมน์นี้ เป็นตัวช่วย ทำให้คนไทย go inter ทำให้คนไทยมีความเป็นสากล รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลก รู้เท่าทันประเทศอื่นๆ และสามารถจะต่อสู้แข่งขันในเวทีโลกได้ นอกจากนั้น ในปี 2015 ไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน เราจะต้องเตรียมคนไทยให้พร้อม สำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และสิ่งสำคัญในการเตรียมความพร้อม คือ การตระหนักรู้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน เรื่องในภูมิภาคเอเชีย และในบริบทโลกด้วย

นอกจากนั้น ผมตั้งใจว่า ผมจะทำให้คอลัมน์นี้ เข้มข้นไปด้วยเนื้อหาสาระ คือ “จะมีแต่เนื้อ ไม่มีน้ำ” โดยคอลัมน์ในแต่ละสัปดาห์ จะเป็นบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องร้อนๆที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะที่กระทบต่อไทย โดยก่อนที่ผมจะเขียน ผมก็จะทำการบ้านมาก่อน ด้วยการอ่านข้อมูลต่างๆ บทวิเคราะห์ต่างๆ แล้วก็นำมาสังเคราะห์เป็นคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์” การสังเคราะห์นั้น ก็จะผ่านการกลั่นกรองจากความรู้และประสบการณ์ และโดยที่คอลัมน์ในแต่ละสัปดาห์ จะเป็นบทวิเคราะห์สั้นๆ ดังนั้น ผมจะพยายามเขียนให้กระชับที่สุด ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่อ่านคอลัมน์นี้แล้ว ก็จะเหมือนอ่าน “บทสรุปสำหรับผู้บริหาร” (executive summary) คือ สั้นๆ แต่เห็นภาพ และรู้เรื่องได้ครอบคลุมหมด

นี่คือเป้าหมายของคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์” ของผม ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบรรลุ แต่ผมก็ตั้งมาตรฐานไว้สูง และก็จะพยายามทำให้ได้ดีที่สุด

ขอบเขตเนื้อหา

สำหรับเรื่องที่ผมจะเขียนนั้น ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว จะเป็นเรื่องร้อนๆของโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผมก็มีกรอบใหญ่หรือขอบเขตของเนื้อหาคอลัมน์นี้ ที่จะครอบคลุมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจของโลก ดังนี้

ในด้านการเมืองความมั่นคง กรอบการวิเคราะห์ของผมจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับทวิภาคี

ในระดับโลก มีเรื่องใหญ่ๆที่จะหนีไม่พ้น เรื่องที่ 1 คือ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ เรื่องที่ 2 คือ การปะทะกันทางอารยธรรม เรื่องที่ 3 คือ ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ส่วนเรื่องที่ 4 คือ ความขัดแย้งและสงครามในรูปแบบต่างๆ

สำหรับในระดับภูมิภาค เรื่องแรก คือ ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งภูมิภาคที่ผมจะเน้นเป็นพิเศษ คือ ภูมิภาคเอเชีย เรื่องที่ 2 คือ ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ที่ยังมีจุดอันตรายหลายจุด และจะปะทุกลายเป็นเรื่องร้อนเป็นระยะๆ เช่น เรื่องคาบสมุทรเกาหลี หรือความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความมั่นคงอื่นๆ เช่น ปัญหาการก่อการร้าย และอาวุธร้ายแรง เป็นต้น

สำหรับมิติความมั่นคงในระดับทวิภาคีนั้น เรื่องสำคัญ คือ ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับการทูตของไทยในปัจจุบัน แต่สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจนั้น ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง

สำหรับในด้านเศรษฐกิจ ก็จะแบ่งประเด็นออกเป็น 3 ระดับ เช่นเดียวกัน

ในระดับโลก ปัญหาใหญ่ คือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจโลกขั้วเดียว ไปสู่ระบบเศรษฐกิจหลายขั้ว ระบบการค้าโลก ก็มีความขัดแย้งกันอย่างหนัก ระหว่างกลุ่มประเทศรวยกับกลุ่มประเทศยากจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจา WTO รอบ Doha ล้มเหลว เช่นเดียวกับระบบการเงินโลก ที่ประสบกับปัญหาไร้เสถียรภาพเป็นอย่างมาก

ในระดับภูมิภาค เรื่องแรก คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย หรือ The Rise of Asia เรื่องที่ 2 คือ สถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015

สุดท้าย เป็นระดับทวิภาคี ซึ่งเรื่องสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน เพราะปัญหาความสัมพันธ์ในภาพรวมไม่ดี ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยกับมหาอำนาจ ไม่น่าห่วง แต่สิ่งที่จะต้องจับตามองในอนาคต คือ ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ โดยในอนาคต จะมีการผงาดขึ้นมาของมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่ๆในหลายภูมิภาค

จากที่ผมได้กล่าวข้างต้น ก็น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านพอเห็นภาพแล้วว่า ขอบเขตเนื้อหาของคอลัมน์ “โลกปริทรรศน์” จะครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ตามที่ได้กล่าวแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ เป็นคอลัมน์ปฐมฤกษ์ ผมจึงขอ “โหมโรง” เสียก่อน และในตอนหน้า ก็จะเข้าสู่เนื้อหาหลักของเราต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: