Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่อินโดนีเซีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 19-วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2554

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Ministers Meeting เรียกย่อว่า AEM ที่อินโดนีเซีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะสรุป วิเคราะห์ผลการประชุม ดังนี้

AEM

การประชุมครั้งนี้มีหลายกรอบ กรอบแรกเป็นการประชุมเฉพาะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน 10 ประเทศ และมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับมหาอำนาจเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และมีการประชุมในกรอบ อาเซียน+3 และอาเซียน+6 หรือ EAS ด้วย

สำหรับการประชุม AEM เฉพาะอาเซียน 10 ประเทศนั้น ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อตัวเลขการค้าของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นในปี 2010 ซึ่งมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเหรียญ นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ หรือ FDI ซึ่งในปี 2010 มีเม็ดเงิน FDI ในอาเซียน เกือบ 76,000 ล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยต่อความเสี่ยงที่มาจากปัญหาวิกฤตหนี้สินในประเทศตะวันตก รวมทั้งความปั่นป่วนในตลาดการเงิน ที่ประชุมเห็นว่า อาเซียนควรจะต้องเฝ้าระวังในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เรื่องที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า ได้มีความคืบหน้า ในการแปลงข้อตกลง ASEAN Trade in Goods Agreement ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับในการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ ที่ประชุมเห็นว่า ควรเพิ่มบทบาทของข้อตกลง ASEAN Framework Agreement on Services และสำหรับการเปิดเสรีในด้านการลงทุน ที่ประชุมเห็นว่า จะต้องมีการเดินหน้าในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีด้านการลงทุนในปี 2015 เพื่อที่จะทำให้อาเซียนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของห่วงโซ่การผลิตของโลก (global supply chain)

สำหรับประเด็นความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเศรษฐกิจนั้น เรื่องใหญ่ คือ การบูรณาการ FTA ต่างๆ ที่อาเซียนมีอยู่ ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาเซียน+3 และอาเซียน+6 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มีชื่อว่า ASEAN Plus Working Group หรือ APWG เพื่อศึกษารูปแบบของ FTA ของอาเซียนทั้งหมด ซึ่งเรียกรวมกันว่า ASEAN + + FTA โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะเสนอรูปแบบที่เหมาะสม ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพิจารณา ในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้

อาเซียน+1

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่อินโดนีเซีย ได้มีการหารือในกรอบอาเซียน+1 กับมหาอำนาจเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะกับ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ

การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยการส่งออกของอาเซียนไปจีน ในปี 2010 มีมูลค่าถึง 113,000 ล้านเหรียญ ทำให้จีนกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของอาเซียน โดยรวมแล้ว ขณะนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนไปแล้ว โดยมูลค่าการค้าจีน-อาเซียน คิดเป็น 11.3 % ของการค้าของอาเซียนทั้งหมด

สำหรับญี่ปุ่น การค้ากับอาเซียน มีมูลค่า ประมาณ 200,000 ล้านเหรียญ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของอาเซียน มูลค่าการค้า คิดเป็น 10 % ของมูลค่าการค้ารวมของอาเซียน

สำหรับการค้ารวมระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯนั้น ในปี 2010 มีมูลค่า 186,000 ล้านเหรียญ ทำให้สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียน ตามหลัง จีน EU และญี่ปุ่น

AEM+3 และ EAS

สำหรับการประชุม AEM+3 นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำว่า อาเซียน+3 ยังคงเป็นกลไกหลักที่จะบรรลุเป้าหมายระยะยาว ในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม อาเซียน+3 กับ EAS ควรจะเล่นบทบาทที่เกื้อกูลและส่งเสริมกันในการจัดตั้งประชาคมในภูมิภาค

สำหรับเรื่องสำคัญ คือ ข้อเสนอการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Free Trade Area (EAFTA) ที่ประชุมได้แสดงความพอใจต่อคณะทำงานของอาเซียนที่กำลังพิจารณาที่จะบูรณาการ EAFTA และ CEPEA (FTA ในกรอบ EAS หรือ อาเซียน+6) อาเซียนกำลังพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมของ ASEAN + + FTA โดยจะพิจารณาข้อเสนอ EAFTA และ CEPEA ด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้ง East Asia Vision Group หรือ EAVG II โดยจะมีการจัดทำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ในปี 2012 เพื่อเสนอทิศทางในอนาคตของความร่วมมืออาเซียน+3

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของ EAS นั้น ที่ประชุมได้ตอกย้ำฉันทามติของที่ประชุมผู้นำ EAS ว่า EAS จะต้องเล่นบทบาทสำคัญในการจัดตั้งประชาคมในภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค EAS กับ อาเซียน+3 จะต้องเกื้อกูลกัน และส่งเสริมกันในการจัดตั้งประชาคม ข้อเสนอ CEPEA ก็กำลังได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานของอาเซียน

บทวิเคราะห์

• AEM
ผมมองว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ โดยรวม ก็ไม่มีไฮไลท์อะไร เรื่องประชาคมเศรษฐกิจ หรือ AEC ก็กำลังเดินหน้าต่อไป แต่ที่น่าผิดหวัง คือ ความไม่คืบหน้าในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน อีกเรื่องที่น่าผิดหวัง คือ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องมาตรการร่วมกัน ที่จะป้องกันผลกระทบในทางลบจากวิกฤตหนี้สินของตะวันตก ที่อาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ได้

ผมมองว่า เรื่องสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ อาเซียนจะเอาอย่างไรกับ FTAที่มีอยู่หลายกรอบ ทั้งในกรอบ อาเซียน+1 อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลี ฯลฯ และ FTA ในกรอบ อาเซียน+3 และอาเซียน+6 คงต้องจับตามองว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อาเซียนจะกำหนดรูปแบบของ ASEAN + + FTA อย่างไร และที่จะทำให้เรื่องยุ่งมากขึ้น คือ ข้อเสนอของสหรัฐฯที่จะจัดตั้ง FTA ในกรอบเอเปค ที่เรียกว่า TPP เพื่อมาแข่งกับ FTA ของอาเซียน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คงต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ว่า ไทยและอาเซียนควรจะมียุทธศาสตร์ในเรื่องนี้อย่างไร

• AEM+1

สำหรับความสัมพันธ์อาเซียนกับมหาอำนาจเศรษฐกิจนั้น เห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ จีนมาแรงที่สุด จีนกลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น แนวโน้ม คือ อาเซียนจะใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาใหญ่ในความสัมพันธ์จีน-อาเซียน คือ ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการทหาร โดยเฉพาะความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งสวนทางกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่า ความสัมพันธ์จีนกับอาเซียนในอนาคต จะเป็นไปอย่างไร ท่ามกลางความสัมพันธ์ใน 2 มิติ ที่ดูขัดแย้งกัน

• อาเซียน+3 และ EAS

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ กรอบอาเซียน+3 และ EAS เห็นได้ชัดว่า ความร่วมมือในกรอบอาเซียน+3 กำลังสะดุด และชะลอลง สาเหตุสำคัญ มาจากญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนบางประเทศ ที่หวาดระแวงการผงาดขึ้นมาของจีน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ได้หันไปให้ความสำคัญกับกรอบ EAS เป็นอย่างมาก ด้วยการผลักดันข้อเสนอ CEPEA มากเป็นพิเศษ

สำหรับในกรอบ EAS จากการประชุมครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศมหาอำนาจต่างๆที่ไม่ได้อยู่ในอาเซียน+3 พยายามจะเข้ามามีบทบาทใน EAS และพยายามที่จะให้ประเทศตนและ EAS เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สิ่งที่มหาอำนาจนอกภูมิภาคไม่ต้องการเห็นคือ การที่อาเซียน+3 จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก คงต้องดูกันต่อว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาค จะวิวัฒนาการไปอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: