Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน : ผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค

เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน : ผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม-วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน 2554

ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ได้ถูกปล่อยลงทะเลที่ท่าเรือเมือง Dalian คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค จากการผงาดขึ้นมาของจีนทางทหาร และผลจากการที่จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ดังนี้

บริบท

ก่อนอื่น ขอให้ดูบริบทของการผงาดขึ้นมาทางทหารของจีน และความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในภูมิภาค

จากการผงาดขึ้นมาทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนมีงบประมาณทางทหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15 % ต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2000

ในอดีต ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายต่างประเทศของจีนต่อภูมิภาค จะเน้นการทูตเชิงนุ่มนวล หรือ charming diplomacy และชูสโลแกนการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ หรือ peaceful rise

แต่ในปัจจุบัน จีนได้เริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องดินแดน ที่เป็นปัญหาปะทุขึ้นมา คือ เรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือที่เราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่มีอาณาบริเวณประมาณ 3 ล้านตารางกิโลเมตร โดยมีการคาดว่า เป็นบริเวณที่มีแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล จีนได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนดังกล่าวทั้งหมด แต่หลายประเทศในภูมิภาค ก็อ้างกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน

ในปีนี้ ได้มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างเรือรบของจีน และเรือประมงของฟิลิปปินส์และเวียดนาม หลายครั้ง ความขัดแย้งได้ลุกลามบานปลายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อสหรัฐฯได้เข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก และประกาศซ้อมรบในทะเลจีนใต้ ในปีนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จีนจะมีท่าทีที่อ่อนลง แต่กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างจีน กับฟิลิปปินส์และเวียดนาม นาย Cui Tiankai รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้เตือนสหรัฐฯและประเทศในภูมิภาคว่า “กำลังเล่นกับไฟ” ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายพล Chen Bingde ผู้นำกองทัพจีน ได้วิพากย์วิจารณ์ยุทธศาสตร์ทหารของสหรัฐฯ และปฏิบัติการสอด แนมทางทะเลของสหรัฐฯ ใกล้ชายฝั่งของจีน รวมทั้งการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนาม และฟิลิปปินส์

เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน

และด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น จีนจึงต้องการสร้างเสริมสมรรถนะกองทัพเรือของจีนให้แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างเสริมกำลังของกองทัพเรือ คือ การมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ แต่เรือลำนี้มีชื่อเก่าเป็นภาษารัสเซีย ชื่อว่า Varyag โดยเรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นในเมือง Mykolaiv ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือในทะเลดำของรัสเซีย แต่ก็สร้างไม่เสร็จเพราะการล่มสลาย ของสหภาพโซเวียตในปี 1991 จนถึงปี 1998 บริษัทของจีน จึงได้ซื้อเรือลำนี้ต่อจากประเทศยูเครน ซึ่งในตอนแรก จะเอามาเป็นคาสิโนลอยน้ำ แต่ต่อมา รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนแผน มาสร้างต่อเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน โดยได้ไปสร้างที่เมืองท่า ชื่อ Dalian ทางตะวันออกเฉียงเหนือ และในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ก็ได้ถูกปล่อยลงทะเลที่เมือง Dalian นับเป็นการผลิก ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการขยายอำนาจทางทะเลของจีน

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

สำหรับผลกระทบต่อความมั่นคงต่อภูมิภาค จากการที่จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกนั้น

อาจวิเคราะห์ได้ว่า การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆภายในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรณีปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ขณะนี้ จีนจึงตกอยู่ในสภาพ ที่ในแง่หนึ่ง ก็อยากชูสโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” โดยไม่ต้องการมีปัญหาขัดแย้งกับใคร โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในอีกแง่หนึ่ง จีนก็ต้องการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ และการครอบครองทะเลจีนใต้ ก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทะเลในภูมิภาค ภารกิจสำคัญของเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน คือ ปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ ซึ่งในบริบทความขัดแย้งที่ผมได้วิเคราะห์ในตอนต้น จึงทำให้หลายประเทศในภูมิภาค มีความรู้สึกวิตกกังวล จากการที่จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบิน เพราะเรือดังกล่าว เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ความสามารถของจีน ในการที่จะ back up การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้นั้น กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่า ในอนาคต สหรัฐฯจะยังคงเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ทางทหารในภูมิภาคก็ตาม และอำนาจของกองทัพเรือสหรัฐฯก็เหนือกว่าจีนเป็นอย่างมาก แต่การพัฒนากองทัพเรือจีนนั้น ตั้งอยู่บนยุทธศาตร์ทางทหารที่เรียกว่า สมรรถนะภาพในการปฏิเสธการเข้าถึง ภาษาอังกฤษเรียกว่า antiaccess หรือ area denial ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ ที่จะป้องกันไม่ให้กองทัพเรือสหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในกรณีเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะในกรณีของไต้หวัน และทะเลจีนใต้

นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ยุทธศาสตร์ทางทะเลของจีนนั้น แบ่งกองเรือรบออกเป็น 3 กองเรือ คือ กองเรือทะเลเหนือ กองเรือทะเลตะวันออก และกองเรือทะเลใต้ ขณะนี้ กองเรือทะเลใต้ ซึ่งรับผิดชอบเขตทะเลจีนใต้นั้น ได้รับการพัฒนาขีดความสามารถมากที่สุด โดยที่ผ่านมา ได้มีการปรับปรุงเรือรบ เรือลาดตระเวน เรือดำน้ำ และเพิ่มกำลังทางทหาร และที่สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่จะมาปฏิบัติการในทะเลจีนใต้

ผลกระทบจากการเพิ่มสมรรถนะทางทะเลของจีน โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบิน จะทำให้ความเสี่ยงของการเผชิญหน้า และความขัดแย้งทางทะเลเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้โอกาสของการเกิดสงครามใหญ่จะมีอยู่น้อย แต่การกระทบกระทั่งระหว่างจีน กับ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเหตุการณ์กระทบกระทั่งเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่จะลุกลาม กลายเป็นการเผชิญหน้าทางทหาร และสงคราม ก็อาจเกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น: