Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

วิกฤตหนี้สหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลก

วิกฤตหนี้สหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลก

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2554

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์วิกฤตหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ และกำลังจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลก ดังนี้

วิกฤตหนี้สหรัฐฯ

วิกฤตหนี้สหรัฐฯเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยทางฝ่ายสภาคองเกรส ไม่ยอมผ่านกฎหมายที่จะขยายเพดานหนี้ให้กับรัฐบาล Obama ซึ่งขณะนี้ สหรัฐฯมีหนี้อยู่สูงถึง 14 ล้านล้านเหรียญ โดยเป็นหนี้กู้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบของพันธบัตร หรือ Treasury Bond จนเกือบทำให้สหรัฐฯต้องพักชำระหนี้ แต่ในที่สุด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้ยอมผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานเงินกู้อีก 2.4 ล้านล้านเหรียญ

อย่างไรก็ตาม ต่อมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor หรือ S&P ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ จาก AAA ลดลงมาเป็น AA+ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่อันดับความน่าเชื่อถือหล่นจากระดับสูงสุด คือ ระดับ AAA

ผลกระทบต่อโลก : ภาพรวม

จากวิกฤตหนี้สหรัฐฯในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบทางการเงินไปทั่วโลก โดยผลกระทบในระยะสั้น คือ การสร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดหุ้นไปทั่วโลก หลังจาก S&P ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ตลาดหุ้นก็ตกทั่วโลก รวมทั้งตลาดหุ้นของไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็ตกลงมาแรงมาก

นอกจากนี้ วิกฤตหนี้สหรัฐฯ กำลังส่งผลกระทบในระยะยาว โดยประเทศต่างๆ ที่ถือครองเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐฯ คงจะพยายามเรียกร้องให้มีการพัฒนาเงินสกุลสำรองของโลก หรือ reserve currency ขึ้นมาแทนสกุลเงินดอลลาร์ และคงจะทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯจำนวนมหาศาล ต้องพยายามกระจายเงินทุนสำรองของตน จากเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลอื่น และจากพันธบัตรสหรัฐฯไปเป็นพันธบัตรของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ ที่จะกระจายพันธบัตรสหรัฐฯไปสู่พันธบัตรของประเทศอื่น

นอกจากนี้ วิกฤตหนี้สหรัฐฯในครั้งนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ระบบเศรษฐกิจโลกที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น มีความเปราะบางอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้เอง จะกระตุ้นให้ประเทศต่างๆในโลก แสวงหาทางเลือกใหม่ ในแง่ของเงินสกุลที่จะมาแทนเงินดอลลาร์ และพันธบัตรใหม่ ที่จะมาแทน Treasury Bond

ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่สำคัญจากวิกฤตหนี้ครั้งนี้ คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยประชาคมโลกกำลังมองว่าสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจ แต่ก็เชื่อถือไม่ได้ และกำลังจะเป็นตัวทำลายความสมดุลของเศรษฐกิจโลก แทนที่จะเป็นตัวรักษาสมดุลดังกล่าว ความเชื่อถือและความเชื่อมั่น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก แต่จากเหตุการณ์วิกฤตหนี้ครั้งนี้ กำลังส่งสัญญาณว่า การครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจโลกของอเมริกา กำลังจะจบสิ้นลง

และผลกระทบอีกประการหนึ่งในระยะยาว ที่ขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอน คือ วิกฤตหนี้สหรัฐฯจะนำไปสู่วิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่หรือไม่ ขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวลในเรื่องนี้มาก เมื่อไม่กี่วันมานี้ ก็มีการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศ G7 เพื่อที่จะลดความวิตกกังวลต่อแนวโน้มวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่

ผลกระทบต่อเอเชีย

สำหรับประเทศในเอเชีย จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤตหนี้สหรัฐฯ ทั้งนี้ ตามที่กล่าวแล้วว่า หลายประเทศในเอเชีย มีเงินทุนสำรองเป็นเงินสกุลดอลลาร์ และเป็นพันธบัตรสหรัฐฯ หลายประเทศในเอเชีย ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯมหาศาล ทำให้มีการถือครองเงินดอลลาร์อยู่เป็นจำนวนมาก และหลายประเทศก็นำเงินดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯมาเก็บไว้ในรูปของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ดังนั้น หนี้ของสหรัฐฯที่มีมูลค่าสูงถึง 14 ล้านล้านเหรียญนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของพันธบัตร ซึ่งเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ รัฐบาลของประเทศต่างๆในเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ดังนั้น หากมีการพักชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อประเทศเหล่านี้

และหากวิกฤตหนี้ครั้งนี้จะนำสหรัฐฯไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหม่ ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าของเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯในการส่งออก

นอกจากนี้ วิกฤตหนี้สหรัฐฯ ได้ทำให้ประเทศในเอเชีย สูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐฯ และสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯสูญเสียความเชื่อมั่นดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากเจ้าหนี้รายใหญ่ของอเมริกาในเอเชีย โดยเฉพาะจีน ไม่เชื่อถือสหรัฐฯอีกต่อไป ในเรื่องของพันธกรณีในการชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสหรัฐฯอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความมั่นคง และการค้า ซึ่งจะกลายเป็นว่า ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินเท่านั้น แต่จะเป็นสัญญาณที่ประเทศในเอเชียจะมองว่า สหรัฐฯกำลังเสื่อมอำนาจลง และเชื่อมั่นไม่ได้อีกต่อไป

ผลกระทบต่อจีน

ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตหนี้สหรัฐฯ คือ จีน เพราะจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯมากที่สุดในโลก ขณะนี้ จีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ 3.2 ล้านล้านเหรียญ โดยอยู่ในรูปของพันธบัตรสหรัฐฯเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญ ดังนั้น จีนจึงมีความอ่อนไหวมากต่อวิกฤตหนี้สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจีนโดยตรง ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด ในอดีต จีนจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากที่สุดในการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯมาเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะจีนเชื่อว่า มีความเสี่ยงน้อยที่สุด แต่จากวิกฤตหนี้ในครั้งนี้ คงจะทำให้จีนตระหนักว่า จีนจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และนโยบายทางการเงินใหม่ โดยจะต้องพยายามกระจายเงินทุนสำรองไปเป็นเงินสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์ และเป็นพันธบัตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่พันธบัตรสหรัฐฯ แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก จีนจึงตกอยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” อยู่ในขณะนี้

ดังนั้น ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา จีนจึงได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการเงินของรัฐบาล Obama อย่างรุนแรง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการวิพากย์วิจารณ์อย่างเป็นทางการจากรัฐบาล แต่จีนก็ใช้วิธีการเขียนบทบรรณาธิการ โจมตีสหรัฐ ในหนังสือพิมพ์ Xinhua ของรัฐบาลจีน โดยได้กล่าวโจมตีว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง และกระตุ้นให้สหรัฐฯสำรวจตัวเองในเรื่องนโยบายการเงินใหม่ นอกจากนี้ จีนเสนอให้มีกลไกตรวจสอบในระดับโลก เพื่อตรวจสอบการปั๊มเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ และเสนอให้มีเงินสกุลสำรองของโลกใหม่แทนเงินดอลลาร์

และภายหลัง S&P ประกาศลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา จีนก็ได้โจมตีสหรัฐฯครั้งใหม่ ผ่านทาง New China News Agency โดยได้เรียกร้องให้สหรัฐฯแก้ปัญหาหนี้สินของตน ซึ่งกลายเป็นเหมือนยาเสพติด และขอให้สหรัฐฯใช้เงินไม่ให้เกินตัว จีนได้โจมตีต่อไปว่า การเมืองภายในได้เป็นตัวปัญหาและกำลังคุกคามทำลายระบบเศรษฐกิจโลก จีนในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จีนจึงมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้สหรัฐฯแก้ไขปัญหาหนี้ และให้ความมั่นใจแก่ความมั่นคงปลอดภัยของพันธบัตรสหรัฐฯที่จีนถือครองอยู่ จีนยังกล่าวด้วยว่า หากยังไม่มีการตัดลดงบประมาณทางทหาร ที่มีมูลค่ามหาศาล และไม่ตัดลดค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคม สหรัฐฯก็จะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีก ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อระบบการเงินโลกในอนาคต

เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า วิกฤตหนี้สหรัฐฯในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะนำไปสู่การเกิดวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ได้หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: