Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

10 ปี เหตุการณ์ 11 กันยาฯ

10 ปี เหตุการณ์ 11 กันยาฯ


ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2554

ในวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน ปีนี้ จะเป็นการครบรอบ 10 ปี ของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะย้อนกลับไปดูว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐฯเป็นผู้นำ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร รวมทั้งแนวโน้มและทางออกของปัญหานี้

ความสำเร็จ

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เป็นผู้นำในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยได้มีการออกมาตรการต่างๆมากมาย ทั้งมาตรการทางการทูต มาตรการทางการเงิน มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางทหาร มีความร่วมมือต่างๆเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง ความเข้มงวดกวดขันในการเข้า-ออกประเทศ

สหรัฐฯได้เปิดฉากการใช้เครื่องมือทางทหาร ด้วยการบุกอัฟกานิสถาน ในเดือนตุลาคม ปี 2001 และบุกยึดอิรักในช่วงต้นปี 2003 สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการยึดทั้ง 2 ประเทศได้ ล้มล้างรัฐบาล Taliban ในอัฟกานิสถาน และโค่นรัฐบาล Saddam Hussein ได้มีการสังหารและจับกุมสมาชิก al-Qaeda เป็นจำนวนมาก และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา Osama Bin Laden ผู้นำของ al-Qaeda ก็ได้ถูกสังหารโดยหน่วยรบพิเสษของสหรัฐฯ ชานกรุง Islamabad

ความล้มเหลว

แม้ว่า สหรัฐฯจะประสบความสำเร็จดังกล่าวข้างต้นอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมแล้ว ผมประเมินว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯประสบความล้มเหลว ทั้งนี้ เพราะสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐฯหวังว่าจะประสบชัยชนะ แต่กลับยืดเยื้อ กลับกลายเป็น “ยิ่งปราบ ยิ่งเพิ่ม” ถึงแม้จะไม่มีการก่อวินาศกรรมครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ แต่การก่อการร้ายกลับเพิ่มขึ้นทั่วโลก สงครามอุดมการณ์เพื่อชนะจิตวิญญาณของชาวมุสลิม ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยโลกมุสลิมได้มองสหรัฐฯว่า เป็นศัตรูของอิสลาม และ al-Qaeda ก็ได้เป็นอุดมการณ์ เป็นขบวนการที่แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม

ในปี 2009 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลสหรัฐฯ จากรัฐบาล Bush มาเป็นรัฐบาล Obama เมื่อรับตำแหน่งใหม่ๆ Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยประกาศยุคใหม่ของ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิม แต่ 2 ปีผ่านไปหลังจากสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโลกมุสลิมไม่ได้ดีขึ้น การแก้ปัญหาการก่อการร้าย ก็กำลังถึงทางตัน

เรื่องสำคัญๆ ที่ดูแล้วล้มเหลว ก็คือ

• ขบวนการก่อการร้าย : ไม่ได้หมดไป แต่เพิ่มจำนวน และแพร่ไปทั่วโลก โดยองค์กร al-Qaeda มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เครือข่ายการก่อการร้ายที่เป็นแนวร่วมกับ al-Qaeda ก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก อาทิ นักรบ Taliban ในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน องค์กร al-Qaeda ในคาบสมุทรอารเบีย ในโซมาเลีย ในอัฟริกาเหนือ ในปากีสถาน และในอิรัก โดยประเทศที่มีแนวโน้มที่ al-Qaeda จะเพิ่มบทบาทมากขึ้น คือ เยเมน ลิเบีย โซมาเลีย และไนจีเรีย นอกจากนี้ กำลังมีการเกิดขึ้นของกลุ่มก่อการร้ายในโลกตะวันตกเอง ที่เรียกว่า home-grown terrorists

• อัฟกานิสถาน : คือ ตัวอย่างที่ชัดเจนของความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยหลังจากยึดครองอัฟกานิสถานมาได้ 10 ปี แต่ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำ สถานการณ์กลับแย่ลงไปเรื่อยๆ โดยนักรบ Taliban และเครือข่าย al-Qaeda ได้ร่วมมือกันในการทำสงครามกองโจร ต่อสู้กับกองกำลังนาโต้ โดยได้ยึดครองพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุนจากชาวอัฟกานิสถาน ก็ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง โดยกลายเป็นว่า ชาวอัฟกานิสถานจำนวนไม่น้อยได้ร่วมมือกับ Taliban ซึ่งเป็นชนเผ่า Pashtun รบกับกองกำลังนาโต้ ที่ถูกมองว่า เป็นกองกำลังต่างชาติที่มายึดครองอัฟกานิสถาน

• อิรัก : สำหรับอิรัก ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความล้มเหลวของสหรัฐฯ แม้ว่าจะสามารถโค่น Saddam Hussein ลงได้ แต่สหรัฐฯก็สูญเสียทรัพยากรไปมาก โดยไม่ได้แก้ปัญหาการก่อการร้ายแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ สงครามอิรักกลับเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้อำนาจของสหรัฐฯลดลง (ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของ Bin Laden) สหรัฐฯสูญเสียเงินไปกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ในสงครามอิรัก ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมหาศาล นำไปสู่วิกฤตหนี้ และทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯสั่นคลอน

• overreaction : 10 ปีหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ชี้ให้เห็นพฤติกรรมของสหรัฐฯต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก เป้าหมายของ Bin Laden คือ ยั่วยุให้สหรัฐฯตอบโต้เกินกว่าเหตุ เพราะฉะนั้น หากมองในแง่นี้ เหตุการณ์ 11 กันยาฯ ถือเป็นความสำเร็จของขบวนการก่อการร้าย ที่ได้ดึงให้สหรัฐฯ เล่นตามเกมส์ของตน ด้วยการดึงสหรัฐฯเข้าไปในสงครามใหญ่ที่ไม่ได้อะไร คือ ที่อัฟกานิสถาน และที่อิรัก เสียเงินไปกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ และได้ทำลายอำนาจและชื่อเสียงของอเมริกาไปเป็นอย่างมาก สงครามต่อต้านการก่อการร้าย กลับเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มก่อการร้าย และแทนที่จะกำจัดผู้ก่อการร้าย แต่กลับเพิ่มกลุ่มก่อการร้ายขึ้นทั่วโลก

• hard power และ soft power ความล้มเหลวของสหรัฐฯในการแก้ปัญหาการก่อการร้าย คือ การที่สหรัฐฯใช้ hard power คือ การใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหา ซึ่งกลับทำให้ปัญหายิ่งเพิ่มมากขึ้น เข้าทำนอง “ยิ่งปราบ ยิ่งเพิ่ม” และสิ่งที่ขาดหายไปในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การใช้ soft power ในการแก้ปัญหา คือ เน้นการชนะจิตใจของชาวมุสลิม ด้วยการนำเสนอแนวความคิดที่ดี และมีความชอบธรรม

แนวโน้มและทางออก

10 ปี ของความล้มเหลวของการต่อต้านการก่อการร้าย ชี้ให้เห็นว่าปัญหามีแนวโน้มจะทรุดหนักลง โดยกลุ่มก่อการร้าย และการก่อการร้ายกำลังแพร่ขยายไปทั่วโลก สถานการณ์การก่อการร้ายในอนาคต คงจะลุกลามบานปลายต่อไปไม่จบง่ายๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง รวมทั้งในโลกตะวันตกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าห่วง คือ กำลังมีกระแสต่อต้านมุสลิมในโลกตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่นอร์เวย์ เมื่อเร็วๆนี้ โดยฆาตกรมีอุดมการณ์ขวาจัด ต่อต้านมุสลิมอย่างสุดโต่ง นิยมแนวคิด นาซีใหม่และฟาสซิสต์ใหม่ อุดมการณ์นี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในโลกตะวันตก ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้ในอนาคต ตะวันตกกับอิสลามจะยิ่งขัดแย้งกันมากขึ้น และปัญหาการก่อการร้าย ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในอนาคต จึงจะไม่ใช่มีแต่เพียงกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงเท่านั้น แต่จะมีกลุ่มก่อการร้ายตะวันตกหัวรุนแรง หรือคริสต์หัวรุนแรงเพิ่มขึ้นมาด้วย

ดังนั้น ทางออกของการแก้ปัญหาการก่อการร้าย ก็คือ จะต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาการก่อการร้ายใหม่ โดยจะต้องเป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ที่จะต้องเน้นทั้ง hard power และ soft power ควบคู่กันไป คือ เน้นทั้งการใช้ไม้อ่อนและไม้แข็งควบคู่กันไป ที่ผ่านมา เราใช้ hard power มากเกินไป จำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับ soft power มากขึ้น โดยจะต้องเน้นไปที่การแก้ที่รากเหง้าของปัญหา อย่างแท้จริง ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การทำสงครามอุดมการณ์เพื่อเอาชนะจิตวิญญาณของประชาชน การปรับนโยบายของสหรัฐฯใหม่ โดยเฉพาะนโยบายในตะวันออกกลาง และลัทธิครองความเป็นเจ้า รวมทั้งการแก้ปัญหาการปะทะกันทางอารยธรรมด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: