จีนมองอาเซียน ปี 2011-2012
คอลัมน์โลกปริทรรศน์
22 มกราคม 2555
คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์เกี่ยวกับท่าทีของจีนต่ออาเซียน และต่อมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งจะแบ่งเป็นหัวข้อได้ ดังนี้
อาเซียน-จีน
ในช่วงปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก โดยเน้นปฏิสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรค์ โดยได้มีการเยือนประเทศอาเซียนหลายประเทศจากผู้นำระดับสูงของจีนหลายครั้ง
สำหรับในกรอบของความสัมพันธ์จีนกับองค์กรอาเซียน ในช่วงปลายปีที่แล้ว ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ที่อินโดนีเซีย และในเดือนตุลาคม ได้มีการจัด China-ASEAN Business and Investment Summit ครั้งที่ 8 ที่เมืองหนานหนิง ในขณะนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 ของจีน การค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ในปี 2011 สำหรับในด้านการลงทุน ปีที่แล้ว อาเซียนลงทุนในจีน มีมูลค่า 67,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีน ลงทุนในอาเซียน มูลค่า 13,500 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จีนต้องตกเป็นฝ่ายรับ เมื่อปัญหาในทะเลจีนใต้ ได้ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมดังกล่าว
แต่การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ในเดือนพฤศจิกายน จีนก็ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับอาเซียน โดยจีนได้ประกาศวงเงินกู้สำหรับอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ล้านเหรียญ จากที่เคยประกาศให้กู้ไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญ
แต่จีนก็ได้แสดงความไม่พอใจ เมื่อเวียดนามได้ลงนามกับอินเดีย ในโครงการร่วมขุดเจาะน้ำมันในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตน โดยจีนมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและอินเดียเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขัดแย้งกับจีนในกรณีทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ได้พยายามดึงเอามหาอำนาจอื่นเข้ามาวุ่นวายกับปัญหานี้ เพื่อถ่วงดุลจีน สื่อของจีนได้วิเคราะห์ว่า มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่อง ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในเรื่องนี้ อาทิ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับอินเดีย การที่ญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ และโดยเฉพาะยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯในการกระชับความสัมพันธ์กับเวียดนามและกับฟิลิปปินส์
สำหรับในกรณีของฟิลิปปินส์ หนังสือพิมพ์ China Daily ได้กล่าวโจมตีการเสริมสร้างสมรรถนะภาพของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ โดยได้กล่าวหาว่า การที่สหรัฐฯได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหานี้ ก็เพื่อที่จะปิดล้อมจีน และป้องกันไม่ให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นในภูมิภาค โดย Hillary Clinton ได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน และได้ลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration กระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง
สหรัฐฯ
เห็นได้ชัดว่า จีนมองว่าสหรัฐฯคืออุปสรรคสำคัญในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค สื่อของจีนได้โจมตีสหรัฐฯอย่างรุนแรงในหลายๆเรื่อง โดยโจมตีสหรัฐฯ ที่หยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในระหว่างการประชุม EAS ที่บาหลี ทั้งๆที่จีนได้ยืนกรานว่า EAS ควรจะเน้นหารือความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับข้อเสนอ TPP ของสหรัฐฯนั้น จีนได้สงวนท่าทีมาโดยตลอด โดยจีนได้วิเคราะห์ว่า หากญี่ปุ่น และประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม และมาเลเซีย ตัดสินใจที่จะเข้าร่วม TPP ผลก็คือ จะเป็นการโดดเดี่ยวจีน
นอกจากนี้ การเยือนพม่าของ Hillary Clinton ในเดือนธันวาคม นักวิเคราะห์จีนได้มองว่า จะทำให้อิทธิพลของจีนในพม่าลดลง นอกจากนี้ การที่พม่าตัดสินใจ ในเดือนกันยายน ที่จะระงับการก่อสร้างเขื่อน ที่เมือง Myitsone ซึ่งจีนตั้งใจว่าจะลงทุนสร้างให้กับพม่า ทำให้นักวิเคราะห์จีนมองว่า ผู้นำพม่ากำลังเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจ โดยพยายามลดความสัมพันธ์กับจีนลง และพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับตะวันตก สหรัฐฯ อินเดีย และประเทศอาเซียน เพื่อมาถ่วงดุลจีน บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีน ได้วิเคราะห์ว่า กรณีการระงับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า พม่ากำลังต้องการใกล้ชิดกับตะวันตก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การเยือนพม่าของ Clinton วาระซ่อนเร้น ก็คือ การต้องการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนนั่นเอง
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนยังมองว่า การที่ออสเตรเลียยอมให้สหรัฐฯส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลียนั้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางทหาร โดยนอกจากออสเตรเลียแล้ว สหรัฐฯก็กำลังกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ทั้งกับฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มที่จีนมองมาที่อาเซียนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะการมองสหรัฐฯนั้น เป็นการมองในแง่ลบเป็นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น