Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2012 : ผลกระทบต่อโลก

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2555

ในช่วงปลายปีนี้ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ขณะนี้ การรณรงค์หาเสียง เริ่มเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในฟากของรีพับลิกัน ซึ่งกำลังมีการขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อเลือกตัวแทนพรรคมาแข่งกับประธานาธิบดี Obama จากพรรคเดโมแครต ซึ่ง Obama ได้ประกาศตัวแล้วว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีก 1 สมัย ประเด็นที่ชาวโลกสนใจ คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร ซึ่งก็คงจะต้องมาวิเคราะห์ถึงแนวนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครแต่ละคนว่า แตกต่างกันอย่างไร คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์แนวนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกันในเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่อง คือ

อิหร่าน

วิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านกำลังเป็นประเด็นร้อนที่สุดสำหรับนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯในขณะนี้ ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ถึงการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ ที่ผ่านมา Obama ใช้มาตรการคว่ำบาตรในการกดดันอิหร่าน แต่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันหลายคน นอกจากจะสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรแล้ว ยังสนับสนุนการใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย

สำหรับประธานาธิบดี Obama นั้น ในตอนเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คือในช่วงต้นปี 2009 ได้เคยประกาศต่อผู้นำอิหร่านว่า สหรัฐฯต้องการปฏิสัมพันธ์และเจรจากับอิหร่านอย่างจริงใจ แต่ในที่สุดความพยายามของ Obama ก็ล้มเหลว อิหร่านปฏิเสธที่จะเจรจากับสหรัฐฯ และเดินหน้าที่จะพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อ ซึ่งทำให้รัฐบาล Obama ต้องปรับนโยบายใหม่ โดยเน้นมาตรการคว่ำบาตร และใช้ไม้แข็งเพิ่มขึ้น ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว IAEA ได้ประกาศว่า มีหลักฐานว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาล Obama จึงได้เพิ่มแรงกดดันอิหร่านมากขึ้น แต่ Obama ก็ยังคงเน้นเครื่องมือทางการทูตในการกดดันอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ในฟากพรรครีพับลิกัน ซึ่งขณะนี้ มีตัวเต็งอยู่ 4 คน ที่เป็นตัวเต็งอันดับ 1 คือ Mitt Romney รองลงมาคือ Newt Gingrich, Rick Santorum และ Ron Paul

สำหรับท่าทีของ Romney นั้น ได้ประกาศว่า สหรัฐฯยอมรับไม่ได้ที่จะให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ และจะใช้เครื่องมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และเครื่องมือทางทหาร ในการป้องปรามอิหร่าน Romney ถึงกับประกาศกร้าวว่า ถ้าชาวอเมริกันเลือก Obama มาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย อิหร่านก็จะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ถ้าหากเลือกเขาเป็นประธานาธิบดี อิหร่านก็จะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ Romney ยังได้ประกาศจะสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพื่อโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน

สำหรับ Gingrich ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน รวมถึงการสนับสนุนให้ใช้กำลังทางทหาร โดยเฉพาะในกรณีถ้าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯก็จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังทางทหาร Gingrich เน้นการโค่นล้มรัฐบาลอิหร่าน โดยจะให้มีกองทุนสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ตัดเส้นทางการส่งน้ำมัน และทำสงครามเศรษฐกิจ เพื่อบีบให้รัฐบาลอิหร่านล่มสลาย

สำหรับ Santorum มีแนวนโยบายสายเหยี่ยวมากที่สุด โดยเสนอให้สหรัฐฯร่วมกับอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยบอกว่า อิสราเอลเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ในอิรักและซีเรีย นอกจากนี้ Santorum ยังประกาศกร้าวว่า นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือได้ว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯ เปรียบเสมือนสมาชิก al-Qaeda และนักรบ Taliban จึงเข้าข่ายที่จะเป็นเป้าในการลอบสังหารได้

เกาหลีเหนือ

สำหรับในกรณี วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้น ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือก็ไม่ตอบสนอง และยังคงเดินหน้าทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงกลางปี 2009 หลังจากนั้น Obama จึงต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้ผล

สำหรับในฟากรีพับลิกัน ส่วนใหญ่เป็นสายเหยี่ยวเกือบทั้งหมด โดย Romney มองว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐอันธพาล เช่นเดียวกับอิหร่าน จึงเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง และได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล Obama ว่า มีนโยบายที่อ่อนแอ ทั้งต่อเกาหลีเหนือและต่ออิหร่าน

สำหรับ Gingrich ก็ได้โจมตีรัฐบาล Obama ว่า ปล่อยปละละเลย และไม่ได้มีมาตรการป้องกันที่จะไม่ให้เกาหลีเหนือ ทดลองขีปนาวุธพิสัยไกล ในปี 2009

จีน

สำหรับในประเด็นนโยบายต่อจีนนั้น ก็เป็นประเด็นร้อนที่มีการอภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในตอนแรก Obama ประกาศจะปฏิสัมพันธ์กับจีน และต้องการความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน แต่ต่อมาความสัมพันธ์ก็เสื่อมลงไปเรื่อยๆ และความขัดแย้งก็เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันนั้น มองจีนเป็นลบมากกว่า Obama โดย Romney สนับสนุนการเพิ่มกำลังทางทหารของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียและพันธมิตร รวมทั้งกดดันจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และในเรื่องนโยบายทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องค่าเงินหยวน Romney ได้โจมตีจีนอย่างรุนแรง ในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว Romney ประกาศว่า ถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะผลักดันกฎหมายที่ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า currency manipulator

สำหรับ Santorum มองว่า จีนเป็นเหมือนพายุที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเขาอยากเห็นสหรัฐฯใช้มาตรการไม้แข็งต่อจีน และต้องการให้สหรัฐฯแข็งแกร่งมากขึ้นในเวทีโลก เพื่อแข่งและประสบชัยชนะต่อการท้าทายจากจีน
สหประชาชาติ

อีกเรื่องที่ผมอยากจะวิเคราะห์ เกี่ยวกับความแตกต่างของนโยบายต่างประเทศของผู้สมัครประธานาธิบดี คือ แนวนโยบายต่อสหประชาชาติ หรือ UN

โดย Obama มีแนวนโยบายที่สนับสนุน UN มาโดยตลอด ในสุนทรพจน์ที่กล่าวในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Obama ได้กล่าวถึง UN ในด้านดี โดยเฉพาะด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการรักษาสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ทั้ง 3 คน มีแนวนโยบายต่อต้าน UN โดย Romney ได้วิพากษ์วิจารณ์ UN มาโดยตลอด ได้กล่าวว่า UN ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และได้เสนอให้สหรัฐฯลาออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UN
ส่วน Gingrich ก็ได้ผลักดันการปฏิรูป UN ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว Gingrich ได้เสนอให้สหรัฐฯยุติการให้ความช่วยเหลือ UN ซึ่งคิดเป็นเงิน 7.6 พันล้านเหรียญต่อปี

สำหรับ Ron Paul ซึ่งผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ก็มีแนวนโยบายต่อต้าน UN อย่างสุดโต่ง โดยมองว่า UN เป็นภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และได้เรียกร้องให้สหรัฐฯลาออกจาก UN

ผลกระทบต่อโลก

จากที่ได้วิเคราะห์มาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างแนวนโยบายต่างประเทศของ Obama กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน โดย Obama ยังคงมีแนวนโยบายในแนวเสรีนิยม สายพิราบ และต้องการใช้ไม้อ่อน ในขณะที่ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเกือบทั้งหมด มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยม สายเหยี่ยว และต้องการใช้ไม้แข็งเป็นหลัก

ดังนั้น ก็คงจะพอคาดการณ์ได้ว่า หากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯจะมีความแข็งกร้าวมากขึ้น อาจจะกลับไปคล้ายๆกับนโยบายในสมัยรัฐบาล Bush ซึ่งก้าวร้าวมาก ดังนั้น ผลกระทบต่อโลก ก็คือ จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความวุ่นวายขึ้นในโลกอีกยุคสมัยหนึ่ง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล Bush

แต่หาก Obama ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีต่อ แนวนโยบายของสหรัฐฯก็คงจะเหมือนเดิม และคงจะมีความต่อเนื่อง แม้ว่า อาจจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาก แต่ก็คงจะไม่กลับไปวุ่นวายเหมือนกับในสมัยรัฐบาล Bush

ไม่มีความคิดเห็น: