Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ปี 2011-2012

คอลัมน์โลกปริทรรศน์
29 มกราคม 2555

ยุทธศาสตร์เชิงรุกของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากจีน ในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งคงจะทอดยาวถึงปี 2012 นี้ โดยเรื่องที่ขัดแย้งกัน มีหลายเรื่องด้วยกัน ดังนี้

ฐานทัพสหรัฐฯในออสเตรเลีย

ในช่วงปลายปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศที่จะส่งกองกำลังทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางทหารครั้งใหญ่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาค

แผนการของสหรัฐฯทำให้จีนมีปฏิกิริยาไม่พอใจ โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตั้งคำถามว่า การขยายพันธมิตรทางทหาร จะเหมาะสมกับเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ในขณะที่โฆษกกระทรวงกลาโหมจีน ได้โจมตีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลียว่า จะก่อให้เกิดผลเสียต่อผลประโยชน์โดยรวมในภูมิภาค และมองว่า การขยายพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯยังคงมีแนวคิดแบบสงครามเย็นอยู่ (cold war mentality) นอกจากนี้ บทความในหนังสือพิมพ์ China Youth Daily ได้มองว่า การส่งกองกำลังทหารสหรัฐฯเข้าไปประจำการในออสเตรเลีย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายเป็นฐานทัพใหม่ในออสเตรเลียนั้น เท่ากับเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนอย่างชัดเจน

ทะเลจีนใต้

อีกเรื่องที่จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก คือ การที่สหรัฐฯเข้ามาแทรกแซงในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ Obama ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุม East Asia Summit ในช่วงปลายปีที่แล้ว สื่อจีนได้โจมตีสหรัฐฯว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสหรัฐฯในการเข้ามาวุ่นวายในปัญหานี้ คือ เพื่อยุแหย่ให้จีนกับอาเซียนทะเลาะกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อภูมิภาค นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ตอกย้ำท่าทีของจีนว่า ความขัดแย้งดังกล่าว ควรจะเจรจาผ่านเวทีทวิภาคี และว่า การแทรกแซงจากประเทศที่ไม่เกี่ยวข้อง (สหรัฐฯ) จะไม่ช่วยในการแก้ปัญหานี้

พม่า

ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ต่อพม่า โดย Clinton ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงปลายปีที่แล้ว และกำลังเดินหน้าสู่การปรับความสัมพันธ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม สื่อจีน อาทิ Global Times ได้มองว่า ผลประโยชน์ของสหรัฐฯในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพม่า คือ การป้องกันไม่ให้จีนใช้ประโยชน์จากท่อก๊าซและน้ำมันจากพม่า และมองว่า การเดินทางไปเยือนพม่าของ Clinton ทำให้จีนจะยิ่งกลัวว่า เป้าหมายของสหรัฐฯในเอเชีย คือ การโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีน

ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ

ในช่วงปี 2011 ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น สหรัฐฯได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายค่าเงินหยวนของจีน โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ กำหนดว่า ประเทศที่มีนโยบายทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการอุดหนุนการส่งออก ซึ่งจะต้องได้รับการตอบโต้จากสหรัฐฯ
กระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และธนาคารกลางจีน ก็ได้บอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้มีผลทำให้จีนได้ดุลทางการค้า และการเพิ่มค่าเงินหยวนก็จะไม่มีผลต่อดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยฝ่ายจีนแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และมองว่าร่างกฎหมายดังกล่าว จะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง

TPP

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา และคงจะต่อเนื่องถึงปี 2012 นี้ คือ การที่สหรัฐฯผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อย่อว่า TPP โดยได้มีการประชุมระหว่างสหรัฐฯกับอีก 8 ประเทศ ที่ฮาวาย เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อบรรลุข้อตกลง TPP โดยจีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา TPP

สื่อจีน ได้วิพากษ์วิจารณ์ TPP อย่างกว้างขวาง โดยมองว่า เป้าหมายของ TPP คือ การลดบทบาทของจีน และเพิ่มบทบาทการครองความเป็นเจ้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของสหรัฐฯ โดยสื่อจีนมองว่า TPP จะมาแทนที่เอเปค และจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ

ไต้หวัน

สำหรับเรื่องสุดท้ายที่จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันในช่วงปีที่ผ่านมา คือ การที่สหรัฐฯประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านเหรียญ ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ได้เรียกทูตสหรัฐฯเข้าพบเพื่อทำการประท้วง และต่อมา กองทัพจีนก็ได้ยกเลิกและเลื่อนการแลกเปลี่ยนทางทหารกับสหรัฐฯ

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกับจีนขัดแย้งกันหลายเรื่องในช่วงปีผ่านมา และความขัดแย้งเหล่านี้ คงจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2012 นี้ โดยมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ ความขัดแย้งอาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจัยสำคัญ คือ ปี 2012 เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ และขณะนี้ ผู้สมัครทุกคนก็กำลังชูนโยบายต่อต้านจีนมาเป็นจุดขายในการหาเสียงเลือกตั้ง

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

My gratitude goes to Assoc.Prof.Prapat Thepchatree, (Assumed)Prof.Corinth Phuengkasem,and many others who contribute to my higher education. Many apologies for disturbing your time,annoyance,etc. from my rudeness, aggressiveness, impatience, etc.Thank you so much ka.