Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2011-2012

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม – วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555

ภาพรวม

ในช่วงปีที่ผ่านมา สหรัฐฯยังคงเดินหน้าดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง โดยวาระซ่อนเร้นที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ยุทธศาสตร์สหรัฐฯมีความหลากหลาย ทั้งผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี และมีทั้งมิติทางด้านทหารและทางเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดัน FTA ในกรอบ TPP การส่งกองกำลังทหารมาประจำที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย การดำเนินการทูตในเชิงรุกกับพม่า และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับพันธมิตร โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ในระหว่างการเยือนออสเตรเลียของ Obama ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Obama ได้ประกาศว่า สหรัฐฯกำลังจะปรับเปลี่ยนนโยบายทางทหารครั้งใหญ่ต่อเอเชีย โดยจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นลำดับสูงสุด และจะเพิ่มบทบาททางทหารในภูมิภาคมากขึ้น และจะส่งทหารมาประจำการที่เมือง Darwin ซึ่งอาจเป็นก้าวแรกของการจัดตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในอนาคต เมือง Darwin มีภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับทะเลจีนใต้มาก จะทำให้สหรัฐฯเคลื่อนย้ายกองกำลังเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้ง่ายขึ้น

East Asia Summit หรือ EAS

เวทีพหุภาคีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญ คือ East Asia Summit หรือ EAS Obama ได้เข้าร่วมประชุม EAS ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นการที่สหรัฐฯจะเข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯเน้นว่า เอเปคเป็นกลไกหารือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่ที่ขาดอยู่ คือ กลไกทางด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯต้องการผลักดันให้ EAS เป็นกลไกหารือทางด้านนี้

จุดเริ่มต้นของการผลักดัน คือ การที่ Obama หยิบยกเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือในการประชุม EAS มี 16 ประเทศที่ได้พูดถึงเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ในเวที EAS โดยสหรัฐฯได้เน้นว่า สหรัฐฯเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก และสหรัฐฯเป็นผู้ให้หลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้น สหรัฐฯจึงต้องมีส่วนได้ส่วนเสียในความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในการแก้ไขความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และเน้นว่า จะต้องใช้กฎหมายทะเลเป็นพื้นฐานสำคัญของการเจรจา และจะต้องมีการจัดทำ Code of conduct เพื่อแก้ไขปัญหาด้วย

ผมมองว่า การที่สหรัฐฯเข้ามาเป็นสมาชิก EAS ก็เพื่อต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียตะวันออกรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนด้วย นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯเข้ามายุ่งกับปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ และยุแหย่ให้จีนกับประเทศอาเซียนทะเลาะกัน ก็เป็นเป้าหมายเพื่อเปิดช่องให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาททางทหารในภูมิภาค และเพื่อปิดล้อมจีนทางทหาร

ฟิลิปปินส์

ในปี 2011 และต่อเนื่องถึงปี 2012 สหรัฐฯยังคงเดินหน้าตอกย้ำยุทธศาสตร์ hub and spokes ต่อไป โดยเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทางทหารกับพันธมิตร

สำหรับพันธมิตรที่สหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯมองว่า ฟิลิปปินส์ยังมีสมรรถนะภาพทางทหารที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนในกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯจึงพยายามที่จะเข้ามาช่วยพัฒนากองทัพฟิลิปปินส์ให้เข้มแข็ง

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Clinton ได้เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์ และหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ โดยได้มีการลงนามในปฏิญญามะนิลา หรือ Manila Declaration ซึ่งเน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างประเทศทั้งสอง

อินโดนีเซีย

อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ อินโดนีเซีย โดย Obama ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซียมาแล้ว 2 ครั้ง และสหรัฐฯได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในการพัฒนาสมรรถนะภาพทางทหาร โดยเฉพาะขีดความสามารถของกองทัพอากาศและกองทัพเรือ โดยจะเน้นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯกับอินโดนีเซีย ในการปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือ โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้

พม่า

อีกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก คือ พม่า ในอดีต ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อพม่า คือ การโดดเดี่ยวและการคว่ำบาตร แต่พอมาถึงรัฐบาล Obama ก็ได้ข้อสรุปว่า ยุทธศาสตร์ที่ดำเนินมากว่า 20 ปี นั้นล้มเหลว โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่กลับทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียน และยังทำให้จีนเข้าครอบงำพม่าอีกด้วย

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือ การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 ซึ่งทำให้สหรัฐฯเปลี่ยนนโยบายต่อพม่าใหม่ โดยเริ่มปฏิสัมพันธ์ด้วยการส่งผู้แทนพิเศษของ Obama คือ Derek Mitchell เงื่อนไขของสหรัฐฯ คือ รัฐบาลพม่าจะต้องปล่อยนักโทษทางการเมือง 2,000 คน ต้องมีการปรองดองกับฝ่ายค้านและชนกลุ่มน้อย ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลง UN เรื่องการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดย Mitchell ได้เดินทางไปเยือนพม่า 3 ครั้ง และได้ประกาศว่า ได้มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นในพม่า หลังจากนั้น Clinton ก็ได้เดินทางไปเยือนพม่า ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นการเยือนพม่าของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์การทูตในเชิงรุกต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี 2010 เรื่อยมาจนถึงปี 2011 และในปี 2012 เราก็คงจะต้องจับตามองกันต่อว่า สหรัฐฯจะมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อภูมิภาคอย่างไรต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: