Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตซีเรีย (ตอนที่ 2)

วิกฤตซีเรีย (ตอนที่ 2) ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2555 วิกฤตการณ์ในซีเรียมีลักษณะใกล้สงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง มีการประเมินว่า มีคนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 8,000 คน ผู้นำของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ภายใต้องค์กรที่มีชื่อว่า Syrian National Council ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลก ประกาศเขตห้ามบิน และจัดตั้งเขตปลอดภัยสำหรับประชาชน รวมทั้งสนับสนุนอาวุธให้แก่กองกำลังของฝ่ายต่อต้าน คือ Free Syrian Army ขณะนี้ ประชาคมโลกยังคงถกเถียงกันว่า จะดำเนินมาตรการอย่างไรเพื่อยุติวิกฤตซีเรีย ซึ่งแนวทางเลือกในการแก้ปัญหา แบ่งออกได้เป็น 3 ทางเลือกด้วยกัน ดังนี้ ทางเลือกที่ 1 : การใช้มาตรการทางการทูตและการคว่ำบาตร เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Jeffrey Feltman อธิบดีกรมตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการทางการทูต ให้แก่คณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ โดยได้บอกว่า ขณะนี้ กำลังดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้น สหรัฐฯและยุโรปได้ร่วมมือกันออกมาตรการคว่ำบาตรธนาคารกลางของซีเรีย เพื่อตัดเส้นทางการเงินของรัฐบาล Assad นอกจากนี้ EU ได้เริ่มมาตรการคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากซีเรีย ทำให้รัฐบาล Assad สูญเสียรายได้ไปกว่า 1 ใน 3 สำหรับบทบาทของ Arab League นั้น ได้ถอดถอนสมาชิกภาพของซีเรียออกจาก Arab League เป็นการชั่วคราว และประเทศอาหรับหลายประเทศได้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับซีเรีย รวมทั้งอายัดบัญชีและทรัพย์สินของรัฐบาลซีเรียด้วย Arab League ได้เสนอแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองสำหรับซีเรีย นอกจากนี้ ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประเทศสมาชิกกว่า 137 ประเทศ ก็ได้สนับสนุนข้อมติของสมัชชาใหญ่ ประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลซีเรีย และสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของ Arab League และเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดประชุมที่ตูนีเซีย โดยมีผู้แทนกว่า 60 ประเทศเข้าร่วมประชุม และได้มีการจัดตั้ง กลุ่ม Friends of the Syrian People โดยที่ประชุมสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านของ Arab League ด้วย อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC ยังมีความแตกแยกกันอยู่ โดยเฉพาะระหว่างสมาชิกถาวรทั้ง 5 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ UNSC และได้มีการเสนอร่างข้อมติประณามรัฐบาลซีเรีย แต่ร่างข้อมติดังกล่าวก็ถูกวีโต้โดยรัสเซียกับจีน ซึ่งมองว่า ร่างข้อมติดังกล่าว มีลักษณะเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของซีเรีย นอกจากนี้ อดีตเลขาธิการ UN คือ Kofi Annan ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการ UN คนปัจจุบัน คือ Ban Ki-moon และได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลซีเรีย แต่ก็ประสบความล้มเหลว ดังนั้น ขณะนี้ ดูเหมือนกับว่า มาตรการทางการทูต และมาตรการคว่ำบาตรไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงได้มีกระแสเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆให้มีการใช้มาตรการทางทหารเพื่อยุติวิกฤตซีเรีย ทางเลือกที่ 2 : มาตรการทางทหาร ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา John McCain สมาชิกวุฒิสภา พรรครีพับลิกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิบัติการทางทหาร โดยเสนอให้มีการโจมตีทางอากาศต่อกองกำลังของรัฐบาลซีเรีย นอกจากนี้ McCain ยังเสนอให้สหรัฐฯให้การสนับสนุนทางทหารต่อฝ่ายต่อต้าน คือ Free Syrian Army McCain ได้เปรียบเทียบสถานการณ์ในซีเรียกับในลิเบีย โดยในกรณีของลิเบียนั้น กองกำลังนาโต้เมื่อปีที่แล้ว ได้ใช้กำลังทางทหารโจมตีกองกำลังของ Gaddafi จนในที่สุด ก็สามารถโค่นล้มรัฐบาล Gaddafi ลงได้ แต่ในขณะนี้ กลับกลายเป็นว่า นาโต้ยังไม่เห็นด้วยที่จะใช้กำลังทหารกับซีเรีย เช่นเดียวกับรัฐบาล Obama ก็ยังไม่สนับสนุนมาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม แนวคิดการใช้มาตรการทางทหาร ก็ได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ ตุรกี กาตาร์ ตูนีเซีย และซาอุดิอาระเบีย โดยได้เรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางทหาร ในหลายรูปแบบ อาทิ การจัดตั้งเขตปลอดภัย หรือ safe zone การส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปในซีเรีย รวมถึงการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วยตนเอง ในที่สุด ก็คงจะต้องรอสหรัฐฯที่จะเป็นผู้นำในการดำเนินมาตรการทางทหาร โดยตามแผน หากสหรัฐฯจะเข้าแทรกแซง ขั้นแรก สหรัฐฯคงจะต้องช่วยเหลือฝ่ายกบฏ ด้วยการสนับสนุนทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และขั้นต่อมา คือ การจัดตั้งเขต safe zone ซึ่งอาจจะอยู่ตรงบริเวณพรมแดนระหว่างซีเรียกับตุรกี ในการที่จะปกป้องเขต safe zone จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องบินรบและกองกำลังพิเศษ โดยอาจจะมีทหารจากชาติอาหรับและตุรกีเข้าร่วมด้วย เป้าหมายของแผนการนี้ ไม่ใช่เพื่อเป็นการโค่นล้มรัฐบาล Assad แต่เพื่อปกป้องฝ่ายต่อต้านและประชาชน แต่ในระยะยาว ก็อาจจะมีผลในทางอ้อม คือ จะส่งเสริมให้มีฝ่ายต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และจะบีบให้รัฐบาลซีเรียคิดหนักมากขึ้นในการใช้กำลัง และในที่สุด อาจจะบีบให้ยอมหันมาเจรจาหยุดยิง เพื่อยุติสงครามได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการใช้มาตรการทางทหาร ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า การใช้มาตรการทางทหารไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเอง ก็ได้มีการวิเคราะห์ว่า ซีเรีย มีระบบป้องกันทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ มีกองกำลังทหารกว่า 300,000 คน และมีการสะสมอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพอยู่ด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านก็ยังไม่เป็นที่รู้จัก และขาดผู้นำที่ชัดเจน และมีการกลัวว่า หากสหรัฐฯเข้าแทรกแซงทางทหาร อาจทำให้สงครามลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง และอาจดึงอิหร่านและรัสเซียเข้าสู่สงคราม ขณะนี้ UNSC ก็ยังไม่ได้ให้ไฟเขียว ที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้กำลังทางทหารในการโจมตีซีเรีย ทางเลือกที่ 3 : มาตรการใช้ไม้อ่อนและไม้แข็ง จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า หากใช้มาตรการทางการทูตอย่างเดียว ก็คงจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากใช้มาตรการทางทหาร ก็มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ประชาคมโลกจะแสวงหาทางเลือกที่ 3 ที่จะเป็นการผสมผสานกันระหว่างทางเลือกที่ 1 กับทางเลือกที่ 2 คือ มีลักษณะของการใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งไปพร้อมๆกัน มาตรการดังกล่าว ในการใช้ไม้อ่อนนั้น ประชาคมโลกคงจะต้องกดดันซีเรียต่อไป ผ่านทางการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกัน ก็คงจะต้องมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ควรจะต้องมีการใช้มาตรการไม้แข็งไปพร้อมๆกัน โดยจะต้องมีการใช้มาตรการทางทหาร แต่ในระดับที่จำกัดขอบเขต และควรได้รับความร่วมมือและการสนับสนุน จาก Arab League โดยเน้นการสร้างเขตปลอดภัยสำหรับประชาชน หรือ safe zone เพื่อปกป้องประชาชนจากการถูกเข่นฆ่าจากฝ่ายรัฐบาล และเพื่อที่จะทำให้ฝ่ายต่อต้านสร้างเสริมกำลังให้เข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้น มาตรการทางทหารจึงควรมีลักษณะจำกัดขอบเขต และเป็นไปตามหลักการของ UN ที่เรียกว่า Responsibility to Protect หรือ R2P ซึ่งมีหลักการว่า ประชาคมโลกสามารถเข้าแทรกแซงได้ หากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือ การก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: