Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 4)

แนวโน้มสงครามอิสราเอล-อิหร่าน (ตอนที่ 4) คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 25 มีนาคม 2555 สถานการณ์ล่าสุด หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม เพื่อล็อบบี้เรื่องอิหร่าน ต่อมา ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Netanyahu ได้แถลงต่อรัฐสภาของอิสราเอล โดยกล่าวว่า การเยือนสหรัฐฯมีเป้าหมาย 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ ความพยายามที่จะผลักดันให้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่านเป็นประเด็นปัญหาระดับต้นๆของโลก ซึ่งการไปเยือนในครั้งนี้ ก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันในเรื่องนี้ ส่วนเป้าหมายอีกเรื่องหนึ่ง คือ การล็อบบี้รัฐบาลสหรัฐฯให้สนับสนุนอิสราเอลในเรื่องแผนการโจมตีอิหร่าน ซึ่งในเรื่องนี้ Netanyahu ได้กล่าวว่า สหรัฐฯมีท่าทีในเชิงบวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ท่าทีเป็นทางการของสหรัฐฯ คือ ยังไม่สนับสนุนการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล ซึ่ง Netanyahu ก็ได้ประกาศกร้าวกลางสภาอิสราเอลว่า ในที่สุด อิสราเอลอาจจะต้องตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากอเมริกัน โดยเขากล่าวว่า ในอดีต มีหลายครั้งที่อิสราเอลตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจของผู้นำอิสราเอลในปี 1948 คือ David Ben-Gurion ในการประกาศเอกราชของอิสราเอล แม้ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในตอนนั้นจะแนะนำให้รอไว้ก่อน อีกกรณีหนึ่ง คือ การตัดสินใจทำสงครามในปี 1967 ผู้นำอิสราเอลในตอนนั้น คือ Levi Eshkol ไม่สนใจคำเตือนของประธานาธิบดี Lyndon Johnson และเช่นเดียวกัน ในปี 1981 ผู้นำอิสราเอล Menachem Begin ตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิรัก ที่ Osirak โดยที่ประธานาธิบดี Ronald Reagan ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ อิสราเอลกำลังวุ่นอยู่กับฉนวนกาซา โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลได้โจมตีถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา โดยทางกลุ่มก่อการร้ายได้ยิงขีปนาวุธตอบโต้อิสราเอล จำนวนกว่า 200 ลูก ซึ่ง Netanyahu อ้างว่า เป็นขีปนาวุธที่ได้มาจากอิหร่าน ดังนั้น ในสายตาของ Netanyahu ฉนวนกาซา ก็คือ อิหร่าน และในอีกไม่ช้า ฐานการก่อการร้ายของอิหร่านในฉนวนกาซาจะต้องถูกทำลาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ คำถามที่ว่า อิสราเอลจะตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือไม่ และอิสราเอลกล้าที่จะเดินหน้าโจมตีอิหร่าน โดยปราศจากการสนับสนุนจากสหรัฐฯหรือไม่ ขณะนี้ มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆนานา โดยเฉพาะในสื่อของอิสราเอล หนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม ชื่อ Haaretz ได้วิเคราะห์ว่า Netanyahu กำลังเตรียมพร้อมที่จะทำสงครามกับอิหร่าน โดยได้วิเคราะห์ว่า จริงๆแล้ว การประกาศเอกราชในปี 1948 และการทำสงครามในปี 1967 สหรัฐฯก็ได้ส่งสัญญาณแบบไม่เป็นทางการสนับสนุนอิสราเอล หนังสือพิมพ์ดังกล่าว จึงได้วิเคราะห์ว่า Netanyahu ก็อาจจะได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากประธานาธิบดี Obama ในแผนการโจมตีอิหร่าน นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ Israel Hayom ที่มีแนวสนับสนุนรัฐบาล ได้กล่าวเป็นนัยว่า การสูญเสียชีวิตของชาวอิสราเอล จากการตอบโต้ของอิหร่าน หากอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น ก็อาจจะเป็นการสูญเสียที่น้อยมาก หากเมื่อเทียบกับหายนะที่จะเกิดขึ้นกับอิสราเอล หากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์และโจมตีอิสราเอล โดยได้วิเคราะห์ว่า อิสราเอลจะต้องรีบโจมตีอิหร่าน ก่อนที่จะสายเกินไป ก่อนที่อิหร่านจะเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ทั้งหมดไปอยู่ใต้ดิน ดังนั้น แม้ว่าจะมีความยากลำบาก แต่อิสราเอลจะต้องปฏิบัติการดังกล่าว โดยอาจจะไม่ต้องคำนึงถึงว่า อเมริกาจะสนับสนุนหรือไม่ มาตรการคว่ำบาตร ดังนั้น หากดูจากท่าทีของ Netanyahu และท่าทีของสื่อต่างๆในอิสราเอลแล้ว ก็อาจจะประเมินได้ว่า การโจมตีอิหร่านของอิสราเอลมีแนวโน้มที่จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิดสงคราม คือ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งตะวันตกกำลังผลักดันมาตรการให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยขณะนี้ การผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลงต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี การคว่ำบาตรธนาคารกลางอิหร่าน ทำให้อิหร่านไม่สามารถขายน้ำมันสู่ตลาดโลกได้ด้วยช่องทางปกติ อิหร่านจึงต้องใช้วิธีขายน้ำมัน โดยแลกกับเงินตราสกุลอื่นๆที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์หรือยูโร หรือไม่ก็ต้องขายน้ำมันโดยแลกกับสินค้าต่างๆ ในลักษณะเป็น barter trade Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือเรียกย่อว่า SWIFT ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินของโลก ก็ได้ประกาศตัดธนาคารกลางของอิหร่านออกจากระบบ ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว การกระทำดังกล่าว เป็นการโดดเดี่ยวอิหร่านทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถนำเงินเข้าหรือออกจากอิหร่านได้ โดยผ่านทางช่องทางธนาคาร ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ EU ได้ประกาศคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่านไปแล้ว นอกจากนี้ ทางสหรัฐฯได้ออกกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินฉบับใหม่ ซึ่งมีผลทำให้ธนาคารต่างๆไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่านได้ อาจจะเป็นด้วยมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของอิหร่าน จึงทำให้อิหร่านเปลี่ยนท่าทีประนีประนอมมากขึ้น โดยอิหร่านประกาศว่า พร้อมจะเจรจากับสมาชิกถาวรทั้ง 5 (+ เยอรมนี) ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการเจรจาดังกล่าว กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ จึงคงต้องมีการติดตามกันต่อว่า มาตรการคว่ำบาตรจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ในการบีบให้อิหร่านกลับมาเจรจาในเรื่องนี้อีกครั้ง และอิหร่านจะยอมให้ IAEA เข้าไปตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือไม่ หากมาตรการคว่ำบาตรไม่ประสบความสำเร็จ แนวโน้มของสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ก็คงจะเพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: