Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Obama กับวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน

Obama กับวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 18 มีนาคม 2555 ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี Barack Obama ได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมประจำปี American Israel Public Affairs Committee (AIRC) ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ที่สำคัญของชาวยิวในสหรัฐฯ และได้ประกาศท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯ ในประเด็นปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่าน คอลัมน์โลกปริทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้ ภัยคุกคามจากอิหร่าน Obama ได้กล่าวว่า ไม่มีรัฐบาลไหนของอิสราเอลที่จะยอมให้อาวุธนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของรัฐบาล ที่ขู่ว่าจะลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก และสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายที่จะทำลายล้างอิสราเอล ดังนั้น อิหร่านที่มีอาวุธนิวเคลียร์ จึงกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอลเป็นอย่างมาก ซึ่งก็จะกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯด้วย จริงๆแล้ว ประชาคมโลกก็ต้องการที่จะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ เพราะจะทำให้ระบบการป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ล่มสลาย และมีความเสี่ยง ที่อาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านจะตกไปอยู่ในมือขององค์กรก่อการร้าย และค่อนข้างแน่นอนว่า ประเทศอื่นๆในภูมิภาค จะถูกบีบให้ต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค นโยบายของ Obama Obama จึงได้กล่าวว่า 4 ปีมาแล้ว ที่เขาได้ให้คำมั่นต่อชาวอเมริกันว่า จะใช้อำนาจของสหรัฐฯในทุกๆวิถีทาง เพื่อกดดันอิหร่าน และป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยตอนที่เขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ มาตรการกดดันอิหร่านกำลังระส่ำระสาย อิหร่านได้เดินหน้าเพิ่มศักยภาพแร่ยูเรเนียม โดยปราศจากการกดดันจากประชาคมโลก ในตะวันออกกลาง อิหร่านกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค อิทธิพลของอิหร่านก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ตั้งแต่แรก รัฐบาล Obama ได้บอกกับอิหร่านอย่างชัดเจนว่า อิหร่านมีทางเลือก 2 ทาง ทางแรก คือ กลับเข้าสู่ประชาคมโลก โดยการปฏิบัติตามพันธกรณีในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ อีกทางหนึ่ง คือ การเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอิหร่านก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในตอนแรก Obama ได้พยายามยื่นมือ ด้วยการเสนอนโยบายปฏิสัมพันธ์ แต่อิหร่านก็ปฏิเสธ มาตรการคว่ำบาตร ขณะนี้ มาตรการหลักในการกดดันอิหร่าน คือ มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอิหร่านกำลังถูกกดดันอย่างหนัก รัสเซียและจีนก็เข้าร่วมในการกดดันอิหร่านด้วย โดยในปี 2010 UNSC ได้มีฉันทามติสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ขณะนี้ มาตรการคว่ำบาตรกำลังจะได้ผล เพราะได้ทำให้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านชะลอลง และได้ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านหยุดชะงักในปี 2011 ขณะนี้ มาตรการคว่ำบาตรมุ่งไปที่ธนาคารกลางอิหร่าน และคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันจากอิหร่าน พันธมิตรของสหรัฐฯทั้งในยุโรปและเอเชีย ก็ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในปีนี้ รัฐบาลอิหร่านจะโดนมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นมากขึ้น Obama เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสของการแก้ปัญหาด้วยมาตรการทางการทูตยังคงมีอยู่ สหรัฐฯและอิสราเอลประเมินว่า ขณะนี้อิหร่านยังไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในเดือนกรกฎาคม EU จะเริ่มมาตรการคว่ำบาตร ไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน มาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม Obama ยอมรับว่า ในที่สุดแล้ว มาตรการคว่ำบาตรก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ 100% Obama จึงได้กล่าวว่า ถึงที่สุดแล้ว ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯจะไม่ทิ้งทางเลือกใดๆทั้งสิ้น ซึ่งทางเลือกเหล่านั้นมีตั้งแต่ มาตรการทางการเมืองในการโดดเดี่ยวอิหร่าน มาตรการทางการทูตในการสร้างแนวร่วม มาตรการทางเศรษฐกิจในการคว่ำบาตร และมาตรการทางทหารในการเป็นทางเลือกสุดท้าย Obama ได้ตอกย้ำว่า เมื่อจำเป็น เขาจะไม่ลังเลในการใช้กำลังทางทหารเพื่อปกป้องสหรัฐฯและผลประโยชน์ของสหรัฐ แต่ Obama ก็ได้กล่าวว่า จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี โดยเฉพาะหากเลือกทางเลือกในการทำสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบมากมาย ดังนั้น เขาจึงกล่าวในตอนท้ายและสรุปว่า เพื่อความมั่นคงของอิสราเอล ของสหรัฐฯ และของโลก ขณะนี้ ยังไม่ถึงเวลาที่จะทำสงคราม ขณะนี้ คงจะต้องให้เวลาให้กับมาตรการคว่ำบาตร ในตอนท้าย Obama สรุปว่า ขณะนี้ คงจะถึงเวลา ที่อดีตประธานาธิบดี Teddy Roosevelt ได้เคยแนะว่า “Speak softly, carry a big stick” ซึ่งก็หมายความว่า มาตรการขณะนี้ ควรจะเป็นการพูดจากัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรมีการขู่ด้วย กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน คงยังน่าจะไม่เกิดขึ้นในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ ขณะนี้ จึงน่าจะเป็นการใช้มาตรการทางการทูต และการใช้มาตรการกดดันอิหร่านต่อไป ในขณะเดียวกัน ก็มีการขู่ว่าจะโจมตีอิหร่านเป็นพักๆ ซึ่งน่าจะเป็นเกมการกดดันอิหร่านเพื่อให้ยอมยุติโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ในอนาคต หากมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรประสบความล้มเหลวทั้งหมด เมื่อถึงเวลานั้น โอกาสของการเกิดสงครามก็คงจะเป็นไปได้มากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: