Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิกฤตซีเรีย

วิกฤตซีเรีย ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม 2555 สถานการณ์และแนวโน้ม สถานการณ์ความวุ่นวายในซีเรีย ได้เข้าสู่ขั้นวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวิกฤตได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานับปีแล้ว รัฐบาล Assad ได้ใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,000 คน ทางฝ่ายตะวันตก อาทิ สหรัฐฯได้ปิดสถานทูต ที่กรุง Damascus ไปตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ UNSC ก็ได้พิจารณาร่างข้อมติของตะวันตก และ Arab League ที่เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรีย ยุติการใช้ความรุนแรง และเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย แต่ร่างข้อมติดังกล่าว ก็ตกไป เพราะรัสเซียกับจีนวีโต้ การวีโต้ของทั้ง 2 ประเทศ ได้รับการประณามอย่างกว้างขวาง ทั้งจากตะวันตกและจากโลกอาหรับ สำหรับแนวโน้มในอนาคต ความล้มเหลวของ UN อาจนำไปสู่การแทรกแซงโดยมหาอำนาจในซีเรีย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง รัสเซียมีฐานทัพเรืออยู่ที่ซีเรีย มีแนวโน้มจะสนับสนุนทางการทหารต่อรัฐบาล Assad อย่างเต็มที่ ซีเรียเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของรัสเซียในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า หากความขัดแย้งลุกลามบานปลาย อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง สุญญากาศแห่งอำนาจ อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มหัวรุนแรงเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ และสงครามกลางเมืองในซีเรีย อาจลุกลามเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ จอร์แดน เลบานอน อิรัก และตุรกี ซีเรียมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครองด้วย ซึ่งล่อแหลมที่จะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มหัวรุนแรง มาตรการทางการทูต จากการที่วิกฤตซีเรียเลวร้ายลงเรื่อยๆ ขณะนี้ จึงมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประชาคมโลกว่า จะตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ในซีเรียอย่างไร ขณะนี้ มีแนวคิดแตกออกเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก มองว่า มาตรการทางการทูต น่าจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด ส่วนอีกแนวทางหนึ่งมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว และไม่มีทางเลือก ที่จะต้องใช้มาตรการทางทหาร ในการโค่นล้มรัฐบาล Assad สำหรับมาตรการทางการทูตนั้น ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจากหลายฝ่าย ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการประชุม Arab League เพื่อหารือในเรื่องนี้ นอกจากนั้น ก็มีการประชุม UNSC แต่ก็ล้มเหลวตามที่กล่าวข้างต้น โดยร่างข้อมติของตะวันตก ถูกวีโต้จากจีนและรัสเซีย ขณะนี้ มาตรการทางการทูตมุ่งไปที่กลุ่มประเทศที่ Nicholas Sarkozy ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสเป็นคนเสนอให้ตั้งขึ้น ซึ่งเรียกกลุ่มนี้ว่า “Friends of Syria” โดยมีประเทศที่เข้าร่วมจากยุโรป อาหรับ และตุรกี กลุ่มนี้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาล Assad ยุติการใช้ความรุนแรง แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า กลุ่ม “Friends of Syria” จะมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างไร แต่แนวโน้ม คือ กลุ่มนี้คงจะเพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อซีเรีย ผลักดันมาตรการคว่ำบาตรในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งโดดเดี่ยวซีเรียในเวทีระหว่างประเทศ และอาจสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล Assad ด้วย Arab League ก็ดูจะมีบทบาทเด่นในเรื่องนี้ สำหรับสถานะของรัสเซีย ก็ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น โดยกลุ่ม “Friends of Syria” อาจดำเนินมาตรการทางการทูตเพื่อให้รัสเซียกดดันรัฐบาล Assad ให้เปลี่ยนถ่ายอำนาจและยุติการใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ เลขาธิการ UN ก็จะมีบทบาทด้วย โดยอาจจะมีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเข้าไปในซีเรีย เพื่อเจรจาหาทางออกทางการทูต มาตรการทางทหาร อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่า มาตรการทางการทูตล้มเหลว และไม่สามารถหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงในซีเรียได้ ดังนั้น จึงได้เริ่มมีข้อเสนอดังขึ้นเรื่อยๆว่า อาจจะต้องใช้มาตรการทางทหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad โดยแนวคิดนี้มองว่า รัฐบาล Assad ได้ใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนไปกว่า 6,000 คนแล้ว รัฐบาล Assad จึงสูญเสียความชอบธรรมในการปกครอง นอกจากนี้ รัฐบาล Assad ยังเป็นพันธมิตรกับอิหร่าน สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย Hezbollah ดังนั้น เป้าหมายหลักของประชาคมโลก คือ การโค่นล้มรัฐบาล Assad โดยมาตรการโค่นล้มรัฐบาล Assad คือ การให้การสนับสนุนทางทหารแก่ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เรียกว่า Free Syrian Army โดยมีการเรียกร้องให้มหาอำนาจให้การสนับสนุนทั้งทางอาวุธและทางการเงินแก่ฝ่ายต่อต้าน เพื่อโค่นล้มรัฐบาล Assad อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลซีเรีย มีรัสเซีย จีน และอิหร่าน ให้การสนับสนุนอยู่ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอถึงขั้นที่จะให้นาโต้ใช้กำลังเข้าโจมตีรัฐบาลซีเรีย เหมือนกับที่ทำกับรัฐบาล Gaddafi ในลิเบีย อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของมาตรการสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน คือ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล Assad เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ โดยปราศจากวิสัยทัศน์ทางการเมืองและผู้นำ ซึ่งก็มีความเสี่ยงสูงมากว่า หลังการโค่นล้มรัฐบาล Assad ฝ่ายต่อต้านอาจจะแย่งชิงอำนาจกันเอง เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอียิปต์และลิเบีย หลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ และเช่นเดียวกับสถานการณ์ในลิเบียและอียิปต์ คือ หลังการโค่นล้มรัฐบาล Assad อาจเกิดสงครามกลางเมือง และอาจเกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลกันว่า หากมีการสนับสนุนทางทหารแก่ฝ่ายต่อต้าน อาจจะเป็นการปลุกเร้าให้รัฐบาล Assad เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งก็อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้ด้วยว่า การแทรกแซงทางทหารจากตะวันตก อาจจะทำให้ความขัดแย้งในซีเรีย ลุกลามบานปลายเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ เลบานอน อิรัก ตุรกี อิสราเอล และอิหร่าน ด้วย กล่าวโดยสรุป ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประชาคมโลก จะมีมาตรการอย่างไร ที่จะมีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับวิกฤตการณ์ในซีเรียที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น: