Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวโน้มสงครามอิสราเอล - อิหร่าน (ตอนที่ 3)

แนวโน้มสงครามอิสราเอล - อิหร่าน (ตอนที่ 3) คอลัมน์โลกปริทรรศน์ 11 มีนาคม 2555 แนวโน้มสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ยังคงมีความเป็นไปได้สูง โดยอิสราเอลกลัวว่า อิหร่านจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง จึงจะต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการรีบโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านก่อน สุนทรพจน์ของ Netanyahu สถานการณ์ล่าสุด นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล คือ Benjamin Netanyahu ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยได้ไปกล่าวสุนทรพจน์ ในการประชุมประจำปีของ American Israel Public Affairs Committee ซึ่งเป็นองค์กรล็อบบี้ที่สำคัญของชาวยิวในสหรัฐฯ โดยในการเดินทางมาในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะหาเสียงสนับสนุนจากทางฝ่ายสหรัฐฯ ทั้งจากรัฐสภา และจากรัฐบาล Obama ให้เห็นด้วยกับจุดยืนของอิสราเอล เกี่ยวกับอันตรายของโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในสุนทรพจน์ดังกล่าว Netanyahu ได้เรียกร้องให้ประชาคมโลก ตระหนักถึงอันตรายที่อิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยหากอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านอาจโจมตีอิสราเอลได้ เขาจึงย้ำว่า อิสราเอลมีสิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องตัวอง และขณะนี้ อิสราเอลก็กำลังพิจารณาทางเลือกทุกทาง ในการป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ Netanyahu บอกว่า ขณะนี้ อิสราเอลกำลังรอว่า การเจรจาทางการทูต จะประสบความสำเร็จหรือไม่ และกำลังรอว่า มาตรการคว่ำบาตร จะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อิสราเอลกำลังจะรอไม่ไหวแล้ว เพราะอิหร่านกำลังจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ แต่ขณะนี้ อิสราเอลก็ตกลงที่จะยอมให้เวลากับกระบวนการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลก็มีความรับผิดชอบที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามจากอิหร่าน อิสราเอลให้ความสำคัญกับพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอล แต่ถ้าหากมาถึงจุดที่จะเป็นความเป็นความตายของอิสราเอล อิสราเอลก็คงจะต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่า อิสราเอลคงยังไม่กล้าที่จะใช้กำลังทางทหารโดยลำพัง โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐฯและประเทศตะวันตก ต่างก็เห็นตรงกันว่า ขณะนี้ควรให้เวลากับมาตรการคว่ำบาตร สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ไม่สนับสนุนมาตรการทางทหารในขณะนี้ ประเทศตะวันตกเหล่านี้กำลังใช้ความพยายามทางการทูต เพื่อกดดันไม่ให้อิสราเอลโจมตีอิหร่าน การหารือระหว่าง Netanyahu กับ Obama ในการเยือนสหรัฐฯครั้งนี้ Netanyahu ได้พบปะกับ Obama ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา หลังการหารือ ได้มีการแถลงข่าว โดยผู้นำทั้งสอง ตกลงที่จะประสานงานกันในเรื่องอิหร่านมากขึ้น ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ผู้นำทางทหารของอิสราเอลจะเดินทางมาเยือนสหรัฐฯเพื่อหารือในเรื่องนี้กับทางฝ่ายสหรัฐฯ และได้มีการแถลงยืนยันว่า ขณะนี้ อิสราเอลยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะโจมตีอิหร่าน ในระหว่างการหารือ Obama ได้บอก Netanyahu ว่า อิสราเอลและสหรัฐฯมีเป้าหมายตรงกัน คือ การป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ Obama ได้กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีเวลาให้กับกระบวนการทางการทูต และสหรัฐฯก็กำลังพิจารณาทางเลือกทุกทาง รวมทั้งทางเลือกในการใช้กำลังทางทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วย แต่ Obama ได้กล่าวแสดงกังวลว่า การโจมตีอิหร่าน อาจจะส่งผลกระทบหลายเรื่อง อาทิ ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจโลก และจะเป็นการทำลายโอกาสของการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยกระบวนการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตร Obama ยังได้กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ขณะนี้ควรใช้มาตรการทางการทูตและการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ Obama เน้นว่า การทูตน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้ ส่วน Netanyahu ก็ได้บอกกับ Obama ว่า อิสราเอลยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะโจมตีอิหร่าน การมาเยือนสหรัฐฯในครั้งนี้ของเขา ก็เพื่อขอให้สหรัฐฯใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นกับอิหร่าน อย่างไรก็ตาม Netanyahu ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า แม้ว่าขณะนี้ เขาจะรอและให้เวลากับกระบวนการทางกาทูต แต่อิสราเอลคงจะรอได้อีกไม่นาน กล่าวโดยสรุป ผลการเยือนสหรัฐฯของผู้นำอิสราเอลในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตอันใกล้ อิสราเอลจะยังไม่โจมตีอิหร่าน โดยน่าจะรอมาตรการทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรว่า จะมีผลเป็นอย่างไร แต่อย่างที่ Netanyahu กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อิสราเอลคงจะรอได้อีกไม่นาน เพราะอิสราเอลมองว่า โอกาสของการทำลายโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านน้อยลงทุกที เพราะอิหร่านกำลังเคลื่อนย้ายโรงงานนิวเคลียร์ไปอยู่ในภูเขาที่ลึกลงไปมาก จนอาจจะไม่สามารถโจมตีทำลายได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ดูจะเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และดูจะมีโอกาสมากขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางการทูต และโอกาสของสงครามและการโจมตีอิหร่านของอิสราเอล ก็ดูลดลงไปในระดับหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: