Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ไทย กับหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” (ตอนที่ 1)

ไทย กับหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ถึงปัญหาเกี่ยวกับหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยจะได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของหลักการนี้ และวิวัฒนาการมาถึงปัจจุบันที่ความหมายของหลักการนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะที่มาเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชน และเรื่องอำนาจอธิปไตย โดยในตอนแรก ผมจะได้กล่าวถึงหลักการที่เปลี่ยนไปในระดับโลก และตอนต่อไป จะมาดูในบริบทของอาเซียน และจะวิเคราะห์ถึงจุดยืนและท่าทีของไทย ต่อหลักการดังกล่าว

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในอดีต

หลักการนี้เกิดขึ้นมาพร้อมกันสนธิสัญญา Westphalia ตั้งแต่ ปีค.ศ.1648 คือการเป็นที่มาของการเกิดรัฐชาติ ก่อนหน้านั้น อำนาจอยู่ในมือของศาสนาจักรในยุโรป ในยุคนั้น คำว่าประเทศไม่มี เพราะว่าอาณาจักรหรือกษัตริย์ อำนาจต้องขึ้นอยู่กับวาติกัน สันตะปาปา พอเกิดสนธิสัญญา Westphalia ขึ้นมา สัญญานี้บอกว่า ต่อไปนี้ จะมีการกำหนดเป็นรัฐชาติขึ้นมา (ซึ่งก็คือประเทศในปัจจุบัน) และมีกติกาว่า ประเทศต้องมีอำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยหมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ถือเป็นเรื่องภายในของประเทศนั้น คนอื่นไม่เกี่ยว จึงเกิดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น กิจการภายใน เป็นอำนาจของประเทศนั้น ถ้าเข้าไปแทรกแซง ก็เป็นการล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้น

นี่เป็นการกำหนดกติกาใหม่ขึ้น เพื่อไม่ให้ศาสนาจักร ผู้นำศาสนาที่กรุงโรม เข้ามาแทรกแซงอำนาจของกษัตริย์ในสมัยนั้น จึงเกิดหลักเกณฑ์นี้ขึ้นมา ต่อมาหลักเกณฑ์นี้แผ่ขยายออกไป จากการมีรัฐชาติเกิดขึ้นในยุโรป ตอนหลังเมื่อยุโรปล่าอาณานิคม แล้วเกิดเป็นเมืองขึ้นทั่วโลก พอเมืองขึ้นเหล่านี้เป็นเอกราช เมืองขึ้นเหล่านี้ก็เดินตามยุโรป สร้างเป็นรัฐชาติขึ้นมา ตอนนี้มี 190 กว่าประเทศ เป็นหน่วยทางการเมืองที่สำคัญที่สุด เรื่องที่สำคัญคืออำนาจอธิปไตย ก่อนหน้านั้นไม่มีพรมแดนตายตัว พอมีรัฐชาติขึ้นมา มีการตีเส้น มีพรมแดนชัดเจน และมีรัฐบาลกลางเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้น ในพื้นที่สี่เหลี่ยมของประเทศนี้คือ เป็นเรื่องของประเทศนี้ ประเทศอื่นไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่ง นี่คือหัวใจของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ตอนหลัง ก็พัฒนากลายเป็นหลักการสากล

การเปลี่ยนแปลงของหลักการในระดับโลกในปัจจุบัน

แต่ต่อมา ก็เกิดปัญหาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เยอรมันนาซีฆ่าชาวยิว 6 ล้านคน แล้วถ้าเรายึดหลักการนี้ว่า มันก็เรื่องของฉัน ฉันจะฆ่าใครยังไงก็ได้ ที่อยู่ในประเทศฉัน คนอื่นไม่เกี่ยว ถ้าฉันจะฆ่าชาวยิว 6 ล้านคนก็เป็นเรื่องของฉัน การยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขึ้น เพราะฉะนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเริ่มเปลี่ยน เริ่มมีการตั้ง UN เริ่มมีการทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นมา ก่อนหน้านี้ สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องภายในประเทศ เป็นเรื่องระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองภายในประเทศ คนอื่นไม่เกี่ยว แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากมี UN หลังจากมีปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชน คำว่า สิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นสากล หมายความว่า ถ้ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ จะอ้างว่านี่เป็นเรื่องภายในของฉัน คนอื่นไม่เกี่ยวต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาคมโลกก็มีสิทธิที่จะเข้าไปแทรกแซง เพื่อที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน
ดังนั้น ความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน จึงเป็นการบั่นทอนหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน

เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาคมโลกบอกว่า รัฐบาลจะเอาเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในมาอ้างไม่ได้ หากรัฐบาลเข่นฆ่าประชาชน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ต่อมาในช่วงหลังสงครามเย็น เมื่อประมาณเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดสงครามในลักษณะใหม่ คือสงครามไม่ได้เกิดระหว่างประเทศ A กับประเทศ B แต่กลายเป็นสงครามระหว่างคน 2 กลุ่มภายในประเทศ และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นมาก มีลักษณะที่รัฐบาลกลายเป็นกลไกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสียเอง ตัวอย่างเช่นสงครามใน บอสเนีย เซอร์เบีย โคโซโว ติมอร์ โซมาเลีย ก็เริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาว่า เกิดสงครามขึ้นภายในประเทศ มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศอื่น ก็ต้องปล่อยให้ฆ่ากันไป สงครามบอสเนียก็ต้องปล่อยให้ฆ่ากันไป จะตายเป็นแสนเป็นล้าน ก็เป็นเรื่องภายในประเทศ แต่ตอนนี้ มนุษยชาติเริ่มพัฒนามาถึงจุดที่ว่า เรามีประชาคมโลกเกิดขึ้นแล้ว UN และ NATO รู้สึกว่า ปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องเข้าแทรกแซง ถ้ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และจะมายึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในไม่ได้อีกแล้ว

เพราะฉะนั้น ในช่วงที่ผ่านมา concept ของคำว่า “อำนาจอธิปไตย” เริ่มเปลี่ยน คือในอดีต ถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็น absolute sovereignty ยุ่งไม่ได้ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา concept เปลี่ยนในลักษณะว่า อำนาจอธิปไตยเปลี่ยนได้ ถอดถอนได้ อำนาจอธิปไตยไม่ใช่ absolute อีกต่อไป แต่กลายเป็น conditional sovereignty เริ่มมีกติกาใหม่เกิดขึ้นในโลก ว่า ถ้ารัฐบาลดี ประพฤติตัวดี รัฐบาลนั้นจะมีอำนาจอธิปไตย จะไม่มีใครเข้าไปแทรกแซง แต่ถ้ารัฐบาลทำตัวไม่ดี เข่นฆ่าประชาชน เป็นกลไกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสียเอง รัฐบาลนั้น อำนาจอธิปไตยนั้น จะถูกถอดถอน และประชาคมโลกก็มีสิทธิเข้าไปแทรกแซง
UN ก็เข้าไปแทรกแซง มีconcept เกิดขึ้นเรียกว่า humanitarian intervention หรือการแทรกแซงด้วยหลักการมนุษยธรรม UN ใช้หลักการนี้ คณะมนตรีความมั่นคงก็ใช้หลักการนี้หลายครั้ง

สำหรับระดับของการแทรกแซงก็มีหลายระดับ ถ้าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเล็กน้อย เช่นการไม่ให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้ง หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อก็ยังไม่ต้องแทรกแซงอะไรกันมาก แต่ถ้าไปถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฆ่ากันตายเป็นแสนเป็นล้าน อันนี้คงจะไม่ได้แล้ว ต้องแทรกแซงแล้ว ตัวอย่างเช่น ตอนนี้เหมือนกับว่าทาง UN ก็แทรกแซงพม่า แต่ก็แทรกแซงเล็กน้อยด้วยการส่ง Gambali ไปเจรจา แต่ไม่ได้มีมาตรการที่จะไปลงโทษ ยังไม่มีมาตรการว่า จะต้องส่งทหารเข้าไปล้มรัฐบาลทหารพม่า

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า ทำไมบางที UN หรืออเมริกาถึงเข้าไปแทรกแซง ทำไมบางกรณี UN หรือ อเมริกาถึงเฉยๆ คำตอบก็คือ ต้องย้อนกลับไปดูเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีผลประโยชน์ของอเมริกาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ อเมริกาจะได้ประโยชน์อะไร ในการเข้าไปแทรกแซง นอกจากเรื่องสิทธิมนุษยชนมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของคาบสมุทรบอลข่าน มีผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ เพราะอเมริกาต้องการเข้าไปในบอลข่าน เพื่อลดอิทธิพลของรัสเซีย เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐ อเมริกาจึงอยากเข้าไปยุ่งในโคโซโว ในบอสเนียมาก เพราะเข้าไปแล้วจะได้มีอิทธิพลมากขึ้น แต่ในกรณีของ Rwanda มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนตายเป็นล้านในปี 1994 แต่ตอนนั้น อเมริกากลับเฉยๆ ก็เพราะว่า Rwanda ไม่มีผลประโยชน์อะไรให้อเมริกา ก็เลยเหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ
และก็ต้องดูด้วยว่า จะแทรกแซงได้หรือแทรกแซงไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เข้าไปแทรกแซงในประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ ถ้าประเทศเล็กก็แทรกแซงได้ง่าย แต่สำหรับประเทศใหญ่ ประเทศมหาอำนาจ ถามว่า ใครจะกล้าเข้าไปแทรกแซงในจีนหรือในรัสเซีย ใครจะกล้าเข้าไปในทิเบต ใครจะกล้าเข้าไป Chechnyaในรัสเซีย ใครจะกล้าเข้าไปยุ่ง ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปยุ่ง อันนี้เลยเป็นการเลือกปฏิบัติ คือ บางกรณีที่แทรกแซงได้ บางกรณีก็แทรกแซงไม่ได้


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความ