Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิกฤติอิสราเอล-ปาเลสไตน์

วิกฤติอิสราเอล-ปาเลสไตน์
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 17 วันศุกร์ที่ 16-วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2552

ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ได้เกิดขึ้นอีกเมื่อช่วงต้นปีนี้ โดยในครั้งนี้ อิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก เพื่อที่จะทำลายล้างกลุ่ม Hamas โดยกลุ่ม Hamas ได้ตอบโต้ด้วยการยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล อิสราเอลได้บอกว่าการโจมตีฉนวนกาซานั้น ได้มุ่งเป้าไปที่ฐานที่มั่นของ Hamas แต่ฐานของ Hamas ก็อยู่ในเขตที่มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีประชาชน เด็กและผู้หญิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ยอดล่าสุดก็เข้าใกล้หลักพันคนเข้าไปทุกทีแล้ว จากการกระทำของอิสราเอล ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงไปทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม

ภูมิหลัง

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นั้น ยืดเยื้อ ยาวนาน โดยเริ่มมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อได้มีการจัดตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นในดินแดนซึ่งเคยเป็นดินแดนของชาวปาเลสไตน์ ตั้งแต่นั้นมา ได้มีการต่อสู้รบพุ่งกันมาตลอดเพื่อแย่งชิงดินแดน โดยทางชาติอาหรับได้ร่วมกับปาเลสไตน์ในการรบกับอิสราเอลมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะอิสราเอลได้ ขณะเดียวกัน อิสราเอลก็อยู่ในสถานะไม่มีเสถียรภาพ เพราะชาวปาเลสไตน์บางส่วนได้เข้าร่วมกับขบวนการก่อการร้าย Hamas และ Hizbullah และปฏิบัติการก่อการร้ายต่ออิสราเอลมาโดยตลอด

ได้มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ หรือมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐ แต่ก็ล้มเหลวมาโดยตลอด ความพยายามครั้งล่าสุด เมื่อช่วงปลายปี 2007 โดยรัฐบาล Bush ได้จัดการประชุมสุดยอด เพื่อสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่เมือง Annapolis โดยอิสราเอลและปาเลสไตน์ตกลงเจรจาที่จะทำสนธิสัญญาสันติภาพ ภายในสิ้นปี 2008 อย่างไรก็ตาม การเจรจาก็ล้มเหลวในที่สุด เพราะทางฝ่ายอิสราเอลไม่สามารถที่จะยุติการก่อสร้างในเขต West Bank และยอมแบ่งแยกกลุ่มเยรูซาเล็ม ส่วนทางฝ่ายปาเลสไตน์ รัฐบาล Abbas ก็ไม่สามารถควบคุมกลุ่ม Hamas ซึ่งยังคงปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง Hamas ถือได้ว่าเป็นตัวการทำลายการเจรจาสันติภาพในครั้งนี้ เพราะ Hamas ไม่พอใจอย่างมากที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจา ความรุนแรงในฉนวนกาซาภายใต้การนำของ Hamas ได้ทวีความรุนแรงขึ้น และสงครามครั้งใหม่ก็เกิดขึ้น เมื่อ Hamas ยิงจรวดมาตกในเขตอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ จนอิสราเอลทนไม่ไหวจึงต้องโจมตีฉนวนกาซา และหมายมั่นที่จะทำลายกลุ่ม Hamas ให้สิ้นซาก

สำหรับเป้าหมายของอิสราเอลในครั้งนี้ คือต้องการทำลายฐานที่มั่นของ Hamas ให้สิ้นซาก โดยขณะที่ผมเขียนบทความนี้ การสู้รบก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป โดยอิสราเอลกำลังจะส่งทหารราบเข้าไปในเขตฉนวนกาซา เพื่อที่จะเข้าไปให้ถึงฐานที่มั่นของ Hamas และทำลายให้หมดสิ้น แต่อิสราเอลก็รู้ดีว่า ในที่สุดอาจจะเป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดกลุ่ม Hamas ให้หมดไป ในที่สุด ผลของสงครามคราวนี้ อาจจะเป็นแค่เพียงการหยุดยิง กลุ่ม Hamas อาจจะได้รับความเสียหาย แต่ว่ายังคงมีชีวิตอยู่ ในขณะเดียวกัน อิสราเอลก็จะรู้สึกปลอดภัยจากการโจมตีของ Hamas ได้แค่ชั่วคราว

สำหรับกลุ่ม Hamas นั้น ก็มีเป้าหมายที่แน่นอน โดยยุทธศาสตร์คือ การต่อต้านอิสราเอล และเป้าหมายสูงสุดคือ การเอาดินแดนของปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอลมาทั้งหมด ดังนั้น สำหรับHamas แนวการแก้ปัญหาที่จะแบ่งดินแดน เป็นรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์นั้น คงจะยอมรับไม่ได้ ทางเดียวเท่านั้นที่อิสราเอลจะประสบชัยชนะในครั้งนี้คือ การทำลาย Hamas อย่างสิ้นซาก แต่หาก Hamas สามารถอยู่รอด ไม่ถูกทำลายล้าง นั่นก็เท่ากับชัยชนะของ Hamas ซึ่งสถานการณ์นี้ ก็จะกลับไปเหมือนกับสงครามในเลบานอนในปี 2006 ที่อิสราเอลพยายามทำลายล้างกลุ่ม Hizbullah แต่ไม่สำเร็จ และการคงอยู่ของ Hizbullah เท่ากับเป็นชัยชนะของ Hizbullah ต่ออิสราเอล และการคงอยู่ของ Hamas ก็เท่ากับเป็นชัยชนะของ Hamas ต่ออิสราเอลเหมือนกัน

การแก้ไขปัญหา

หลังจากเกิดวิกฤติการณ์ สหรัฐซึ่งน่าจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา แต่กลับเมินเฉย โดยปล่อยให้ทางสหภาพยุโรปและอียิปต์ เป็นหัวหอกในการดำเนินการทางการทูต โดยประธานาธิบดี Bush ได้ประกาศว่า เขาเข้าใจความต้องการของอิสราเอลที่จะปกป้องตัวเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของรัฐบาล Bush ที่ว่าอิสราเอลไม่มีทางเลือกที่จะต้องโจมตี หลังจากที่ถูกกลุ่ม Hamas ยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอล นับตั้งแต่อิสราเอลถอนตัวออกจากฉนวนกาซาในปี 2005

ส่วน Barack Obama ซึ่งต้องรอถึงวันที่ 20 มกราคม ถึงจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่กล้าเข้าไปแทรกแซงนโยบายของรัฐบาล Bush แต่การเฉยเมยของ Obama ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและในยุโรป อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า เมื่อ Obama เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาคงจะปรับเปลี่ยนนโยบายสหรัฐต่อตะวันออกกลาง โดยคงจะมีความพยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

ในส่วนของสหภาพยุโรป ก็ได้มีความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงคราม โดยเฉพาะประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ก็พยายามเล่นบทบาทนำ จุดยืนของ EU คือ การเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการทางทหารโดยอิสราเอล ในขณะเดียวกัน ก็ให้กลุ่ม Hamas ยุติการยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอล

และเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้ตกลงในข้อมติ เรียกร้องให้มีการหยุดยิง และให้อิสราเอลถอนทหารออกจากฉนวนกาซา การลงมติในครั้งนี้ ทางสหรัฐงดออกเสียง จึงทำให้ข้อมติอันนี้ ผ่านที่ประชุม แต่ตอนแรกมีการคาดการณ์กันว่า สหรัฐคงจะ veto ข้อมติดังกล่าว เพื่อให้อิสราเอลมีเวลาบดขยี้กลุ่ม Hamas อย่างไรก็ตาม การที่อเมริกางดออกเสียง อาจจะแสดงให้เห็นว่า แรงกดดันนานาชาติและฉันทามติได้เกิดขึ้น ซึ่งมองว่า ความรุนแรงในครั้งนี้ ควรจะยุติได้แล้ว

ข้อมติดังกล่าว น่าจะเพิ่มแรงกดดันให้อิสราเอลยุติการดำเนินการทางทหารต่อกลุ่ม Hamas อย่างไรก็ตาม อิสราเอลกลับเฉยเมยต่อข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง โดยอ้างว่า อิสราเอลไม่สามารถยุติการปฏิบัติการทางทหารได้ เพราะทางฝ่าย Hamas ยังคงยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทางฝ่ายปาเลสไตน์และ Hamas ก็ปฏิเสธข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงเช่นเดียวกัน

สำหรับท่าทีของกลุ่มประเทศอาหรับ ก็ดูจะเฉื่อยชาและไม่สามารถมีท่าทีร่วมได้ ทั้งนี้เพราะอาหรับได้แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ต่อต้านอิสราเอลอย่างเต็มที่ ซึ่งมี อิหร่าน ซีเรีย กลุ่ม Hizbullahในเลบานอน และกลุ่ม Hamas ในขณะที่ชาติอาหรับอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่ม pro ตะวันตก และต้องการมีสันติภาพกับอิสราเอล ซึ่งได้แก่ อียิปต์ จอร์แดน รัฐบาลของนาย Abbas ในเขต West Bank และซาอุดีอาระเบีย

กล่าวโดยสรุป ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในครั้งนี้ คงจะเป็นอีกฉากหนึ่งของสงครามอันยืดเยื้อยาวนานระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่คงจะหาข้อยุติได้ยากเต็มที ผลกระทบจากสงครามคราวนี้ ก็คือ อาจทำให้กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ พังทลายลง ก่อนหน้านี้ เคยมีความหวังว่า ปัญหานี้ อาจจะแก้ด้วยการยอมรับรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ ซึ่งจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ แต่สถานการณ์ในขณะนี้ ได้ทำให้ความหวังดังกล่าวดูริบหรี่ลงทุกที

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้ประโยชน์มากๆค่ะ