Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Obama ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

ลงใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 1 วันศุกร์ที่ 25 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2552

Obama ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ของสหรัฐฯ ได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธในยุโรป ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ เมื่อเทียบกับของในสมัยรัฐบาล Bush คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของแผนการดังกล่าว และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนนโยบายของ Obama

ภูมิหลัง

ในสมัยรัฐบาล Bush ความสัมพันธ์สหรัฐกับรัสเซียมีความตึงเครียดมากและต้นตอของความขัดแย้งเรื่องหนึ่งคือ แผนการของ Bush ที่จะจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป โดยที่แผนจะติดตั้งระบบตรวจสอบและทำลายขีปนาวุธที่โปแลนด์จำนวน 10 เครื่อง และระบบเรดาร์ตรวจจับขีปนาวุธที่สาธารณรัฐเช็ก โดย Bush อ้างว่า ระบบดังกล่าวจะสามารถป้องกันภัยคุกคามจากอิหร่านซึ่งกำลังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลยิงไปได้ไกลถึงยุโรป

แต่สำหรับรัสเซียนั้น ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการของ Bush อย่างรุนแรง ถึงแม้ Bush จะบอกว่าระบบดังกล่าวจะมุ่งเป้าไปที่อิหร่านไม่ใช่รัสเซีย แต่รัสเซียก็ไม่เชื่อและมองว่า การที่สหรัฐฯอ้างภัยคุกคามจากอิหร่านนั้น ดูจะเป็นการอ้างที่เกินเลยจากความเป็นจริงและคิดว่าวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ การมุ่งเป้ามาที่รัสเซียนั่นเอง Putin จึงได้ออกมาขู่ว่า แผนการของสหรัฐฯจะเป็นการยั่วยุให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธครั้งใหม่และเท่ากับเป็นการบีบให้รัสเซียจะต้องหันขีปนาวุธนิวเคลียร์มุ่งเป้าไปที่ยุโรป

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียในภาพรวมนั้นเป็นผลมาจากการผงาดขึ้นมาของรัสเซียที่จะมาท้าทายระเบียบโลกของสหรัฐฯ แต่ตั้งแต่การล้มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้รัสเซียอ่อนแอ ทำให้ตะวันตกรุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ ในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย รัสเซียมองว่ากำลังถูกปิดล้อมจากตะวันตก แต่ขณะนี้สถานะของรัสเซียกลับดีขึ้นมาก อันเป็นผลพวงจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้รัสเซียต้องการที่จะผงาดมาอีกครั้งหนึ่ง และกลับมาเป็นมหาอำนาจในระดับโลกอีกครั้ง ในขณะที่รัฐบาล Bush ก็มองว่ารัสเซียกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ท้าทายและเป็นศัตรูของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง Obama ได้มาเป็นประธานาธิบดี ก็มีแนวนโยบายใหม่ที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย สำหรับ Obama เรื่องหนึ่งที่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ก็คือ การยกเลิกแผนการจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป


ท่าทีของ Obama

ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา Obama จึงได้ประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งดังกล่าวแต่ Obama ก็พยายามที่จะพูดในทำนองที่ว่า การยกเลิกแผนไม่เกี่ยวอะไรกับรัสเซีย โดยในการแถลงข่าว Obama ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า ภัยคุกคามที่สำคัญของสหรัฐฯในปัจจุบันคือ ภัยคุกคามจากขีปนาวุธและ Obama ก็เห็นด้วยกับ Bush ที่มองว่าโครงการขีปนาวุธของอิหร่านเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม Obama ได้มีคำสั่งให้มีการทบทวนแผนการการป้องกันขีปนาวุธในยุโรปใหม่ และผลก็คือจะให้ยกเลิกแผนเก่าของ Bush โดยจะมีแผนใหม่ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าแผนเก่าของ Bush Obama กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องนี้มี 2 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ ได้มีการประเมินโครงการขีปนาวุธของอิหร่านใหม่ ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า ภัยคุกคามในขณะนี้ยังเป็นเพียงแค่ภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยใกล้และพิสัยกลาง ดังนั้นแผนใหม่ของ Obama จะเน้นระบบป้องกันขีปนาวุธพิสัยใกล้และกลาง ซึ่งจะต่างจากแผนของ Bush ที่จะเน้นป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล สำหรับปัจจัยที่ 2 ได้มีความคืบหน้าในเทคโนโลยีการป้องกันขีปนาวุธ ซึ่งแผนใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพ


อย่างไรก็ตาม Obama ได้กล่าวต่อว่า สหรัฐฯจะร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งรวมถึง โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก โดยบอกว่า ได้หารือกับผู้นำทั้งสองประเทศเกี่ยวกับการยกเลิกแผนเก่าและตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อไป รวมทั้งพันธกรณีภายใต้มาตรา 5 ของ NATO ที่บอกว่า การโจมตีประเทศสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่ง เท่ากับเป็นการโจมตีทั้งหมด และในตอนท้ายของคำกล่าว Obama ก็ได้กล่าวว่า ได้ยืนยันกับรัสเซียว่า ข้อห่วงใยของรัสเซียต่อระบบป้องกันขีปนาวุธของ Bush นั้น ซึ่งมองว่า รัสเซียเป็นเป้านั้นไม่เป็นความจริง โดยย้ำว่า ภัยคุกคามที่เป็นเป้าคือโครงการขีปนาวุธของอิหร่าน

ผลกระทบ

· โปแลนด์และเช็ก
ภายหลัง Obama ประกาศยกเลิกแผนระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรป ก็ได้มีเสียง
วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ในโปแลนด์และเช็ก ได้วิจารณ์ท่าทีของ Obama อย่างรุนแรง โดยหนังสือพิมพ์ในโปแลนด์ถึงกับโจมตีว่า การกระทำดังกล่าวของ Obama ถือเป็นการทรยศหักหลัง โดยสหรัฐฯขายโปแลนด์ให้กับรัสเซียและแทงโปแลนด์ข้างหลัง โปแลนด์และเช็กเป็นห่วงว่า การตัดสินใจของ Obama เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯจะลดความสำคัญของความมั่นคงในยุโรปตะวันออก จริง ๆ แล้วทั้งโปแลนด์และเช็กไม่ได้กลัวขีปนาวุธจากอิหร่าน แต่มองว่า การอนุญาตให้รัฐบาล Bush มาติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธนั้นจะเป็นการดึงเอาอเมริกามาเพื่อเป็นหลักประกันต่อภัยคุกคามจากรัสเซียมากกว่า


· พรรครีพับริกัน
สำหรับพรรครีพับริกันซึ่งขณะนี้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็ได้ออกมาโจมตีการตัดสินใจ
ของ Obama อย่างรุนแรง โดย John McCain ซึ่งเป็นคู่แข่งของ Obama ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ได้กล่าวว่า การตัดสินใจของ Obama เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง ส่วน John Bolton อดีตทูตสหรัฐฯประจำ UN ในสมัย Bush ซึ่งเป็นสายเหยี่ยวตัวยง ได้ประกาศกร้าวว่า การตัดสินใจของ Obama ในครั้งนี้ ผู้ชนะคือ รัสเซียและอิหร่าน และคิดว่าเป็นวันที่เลวร้ายมากสำหรับความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และสำหรับคนอื่น ๆ ที่คัดค้าน ก็มองว่า การยกเลิกแผนการของBush เป็นการกระทำที่โง่เขลา และไม่คิดว่า การตัดสินใจของ Obama ในครั้งนี้จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียได้ โดยทั่วไปแล้ว ขณะนี้กำลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของ Obama ว่าอ่อนแอและเน้นไม้อ่อนเกินไป


· รัสเซีย
ผมมองว่า ถึงแม้ว่า Obama จะปฏิเสธ แต่วาระซ่อนเร้นที่สำคัญของการยกเลิกแผน
ระบบป้องกันขีปนาวุธในครั้งนี้ ก็เพราะต้องการปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยรัฐบาล Obama น่าจะมองว่า การยกเลิกแผนจะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การปรับความสัมพันธ์กับรัสเซีย และจะนำไปสู่การที่รัสเซียจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอิหร่าน หรือ อัฟกานิสถาน

และท่าทีล่าสุดของรัสเซีย ก็คือการที่ประธานาธิบดี Medvedev ได้ออกมากล่าวภายหลังการตัดสินใจของ Obama ว่ารัสเซียไม่ได้มีการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯในเรื่องนี้ แต่ก็ได้ส่งสัญญาณในเชิงบวกว่า สหรัฐฯ รับฟังความเห็นของรัสเซียมากขึ้น รัสเซียก็ควรที่จะรับฟังความเห็นของสหรัฐฯเช่นกัน โดยการทดสอบท่าทีของรัสเซีย คงจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพราะจะมีการหารือระหว่างอิหร่านกับสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งทางเลขาธิการ NATO คือ Anders Forgh Rasmussen ก็ได้ประกาศหวังว่ารัสเซียจะเข้าร่วมในการเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่าน เพื่อให้อิหร่านยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

เราก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การเดินเกมครั้งนี้ของ Obama เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่

1 ความคิดเห็น:

soymilk กล่าวว่า...

ขอบคุณนะคะ