Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ

ประชาคมโลกกับการช่วยเหลือเฮติ
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 22 - วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2553

เฮติ : ประเทศที่มีแต่ความโชคร้าย

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ขนาดความรุนแรง 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งทำให้เมืองหลวงของเฮติ คือ Port-Au-Prince พังพินาศเกือบทั้งเมือง ขณะนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่แน่นอน แต่มีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะสูงถึง 200,000 คน สำหรับผู้ที่รอดชีวิตก็ประสบปัญหาอย่างหนัก ขาดทั้งน้ำ อาหาร ที่อยู่อาศัย จำนวนประมาณ 3.5 ล้านคน

หายนะของเฮติในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเฮติที่มีแต่ความโชคร้าย ในช่วงที่ผ่านมา เฮติได้ประสบกับภัยพิบัติ รวมทั้งความวุ่นวายทางการเมือง และเศรษฐกิจมาโดยตลอด เฮติเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา ทุก ๆ ปี จะมีพายุเฮอริเคนถล่มอยู่ประจำ ในปี 2004 ถูกพายุเฮอริเคนถล่มถึง 4 ลูก ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน

นอกจากโชคร้ายจากภัยพิบัติแล้ว เฮติยังประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองมาโดยตลอด โดยในปี 1990 ได้มีการเลือกตั้งและ Jean-Bertrand Aristide ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนก็ถูกทำรัฐประหาร ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมีการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง โดยมีประชาชนถูกสังหารไปหลายพันคน ในช่วงปี 1994 จึงได้มีชาวเฮติอพยพหนีออกจากประเทศโดยทางเรือเพื่อที่จะมาที่สหรัฐฯ ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ประธานาธิบดี Clinton ตัดสินใจแทรกแซงทางทหารและล้มระบอบทหารในเฮติ

หลังจากนั้น ได้มีการเลือกตั้งและ Aristide ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2001 แต่หลังจากนั้น ความวุ่นวายและความรุนแรงทางการเมืองได้เกิดขึ้นอีก จนในที่สุด Aristide ได้ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งในปี 2004 และได้มีการส่งกองกำลังสันติภาพของ UN เข้าไป 9,000 คน เพื่อที่จะช่วยฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน ต่อมาในปี 2006 ประธานาธิบดี Rene Preval ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทางสหประชาชาติและองค์กรต่างๆ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือ แต่เฮติก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในภูมิภาค โดยประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อวันไม่ถึง 2 เหรียญ และล่าสุด เฮติก็มาประสบกับหายนะครั้งใหญ่จากแผ่นดินไหวในครั้งนี้อีก

หลังจากเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลของเฮติก็เป็นอัมพาตไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ ประเทศต่าง ๆ จึงได้พยายามเข้าไปช่วย แต่ก็ประสบกับความยากลำบาก ทั้งนี้ เพราะสนามบินชำรุด ท่าเรือถูกทำลาย ถนนหนทางก็เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และขาดแคลนทั้งทรัพยากร พลังงาน และบุคลากร

บทบาทของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ในฐานะอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และเป็นลูกพี่ใหญ่ในภูมิภาค ได้เล่นบทเป็นพระเอกในการช่วยเหลือเฮติ โดยประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศจะให้เงินช่วยเหลือเฮติในเบื้องต้น เป็นเงิน 100 ล้านเหรียญ และยังได้เชิญอดีตประธานาธิบดี George Bush กับ Bill Clinton มาช่วยระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเฮติ ต่อมา เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คือ Hillary Clinton ได้เดินทางไปเฮติ และได้พบปะหารือกับประธานาธิบดี Preval และให้คำมั่นสัญญาว่าสหรัฐจะให้ความช่วยเหลือเฮติอย่างเต็มที่

โดยตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมเป็นต้นมา สหรัฐฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือเฮติดังนี้

· ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินจอดอยู่นอกชายฝั่งเฮติ และส่งเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงความ
ช่วยเหลือฉุกเฉิน

· กระทรวงกลาโหมได้รายงานว่า ได้ส่งทหารเข้าไป 4,200 คน และจะเพิ่มขึ้นอีก 6,300 คน
รวมทั้งสิ้น 10,000 กว่าคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ทหารสหรัฐฯ ได้ไปใช้ท่าเรือที่ Cap Haitian ทางเหนือของเฮติ เพื่อลำเลียงความช่วยเหลือ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ใช้ฐานทัพเรือที่ Guantanamo ที่คิวบา ซึ่งอยู่ใกล้กับเฮติในการเป็นฐานสำคัญในการส่งความช่วยเหลือและบุคลากรไปยังเฮติ

· USAID องค์กรให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ได้จัดตั้งศูนย์กระจายอาหารและน้ำขึ้น 14
จุด รวมทั้งได้มีการจัดตั้งระบบกรองน้ำซึ่งสามารถผลิตน้ำได้ 100,000 ลิตรต่อวัน

· รัฐบาลเฮติได้อนุญาตให้สหรัฐฯเข้าควบคุมจัดการสนามบิน อย่างไรก็ตาม ได้มีเสียง
วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างจากประเทศอื่น ๆ และองค์กรความช่วยเหลือ ที่ไม่สามารถเอาเครื่องบินลงจอดได้ โดยได้มีการกล่าวหาว่า ทางสหรัฐฯจะอนุญาตให้แต่เครื่องบินของสหรัฐฯ และจะเน้นในการเอาคนของสหรัฐฯและอพยพชาวอเมริกันออกจากเฮติ

World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ไม่สามารถเอาเครื่องบินลงจอดได้ เครื่องบินบางลำต้องไปจอดที่ Santo Domingo เมืองหลวงของสาธารณรัฐโดมินิแกน ประเทศเพื่อนบ้านของเฮติแทน และหลังจากนั้น ต้องใช้รถบรรทุกลำเลียงความช่วยเหลือมาทางถนน ซึ่งต้องใช้เวลานานมากเพราะถนนก็อยู่ในสภาพไม่ดี

หลายประเทศได้แสดงความไม่พอใจ โดยเฉพาะ ฝรั่งเศส บราซิล และอิตาลี รวมทั้งสภากาชาด รัฐบาลฝรั่งเศสได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่เครื่องบินของตนลงจอดไม่ได้ ถึงกับรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสได้ทำเรื่องประท้วงไปยังกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ทูตฝรั่งเศสประจำเฮติถึงกับกล่าวว่า สนามบินที่ Port-Au-Prince ได้กลายเป็นสนามบินของสหรัฐฯไปแล้ว

บทบาทของ UN

UN มีกองกำลังรักษาสันติภาพอยู่ในเฮติ และมีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือได้เป็น
อย่างดี อย่างไรก็ตาม ที่ทำการของ UN ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UN เสียชีวิตไปหลายคน จึงทำให้ UN ไม่สามารถมีบทบาทที่ควรจะเป็นได้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมเป็นต้นมา โฆษกของ UN ที่เฮติ ได้กล่าวว่า UN กำลังประสานกับองค์กรอื่น ๆ และกองกำลังรักษาสันติภาพกำลังให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มกราคม Ban Ki-moon เลขาธิการ UN ได้เดินทางไปที่เฮติ และได้กล่าวว่า สถานการณ์ในเฮติถือเป็นวิกฤตการณ์ทางด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงที่สุดในหลายสิบปีที่ผ่านมา UN ตั้งเป้าว่า จะพยายามให้ความช่วยเหลือด้านอาหารให้ได้ 2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งถือเป็นงานที่หนักมาก และทาง UN ได้มีการระดมทุนประมาณ 560 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยประมาณ 3 ล้านคนในอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขออนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อเพิ่มจำนวนกองกำลังรักษาสันติภาพในเฮติด้วย

ในส่วนของ World Food Program หรือ WFP ซึ่งเป็นกลไกของ UN ได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้ประสบภัยประมาณ 60,000 คนในวันที่ 17 มกราคม โดยในวันที่ 16 มกราฯ ได้ช่วยเหลือไป 40,000 คน WFP ตั้งเป้าที่จะให้ความช่วยเหลือเป็น 1 ล้านต่อวัน และเพิ่มเป็น 2 ล้านคนภายใน 1 เดือน นอกจากนี้ WFP มีแผนที่จะสร้างที่พักชั่วคราวให้กับคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย 100,000 คน

ความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ

ในส่วนของ EU ได้ประกาศตั้งวงเงินช่วยเหลือ 474 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ อังกฤษได้ประกาศที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 37 ล้านเหรียญ และฝรั่งเศสประกาศยกเลิกเงินกู้จำนวน 55 ล้านเหรียญของเฮติ และประกาศให้เงินให้ความช่วยเหลือ 14 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ นอร์เวย์ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆที่มีประชากรเพียง 4.8 ล้านคนประกาศให้เงินช่วยเหลือ 17 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ บราซิล เม็กซิโก แคนาดา ฝรั่งเศส โคลัมเบีย รัสเซีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และอีกหลาย ๆ ประเทศได้จัดเครื่องบินลำเลียงความช่วยเหลือและบุคลากรไปยังเฮติ

จะเห็นได้ว่า การให้ความช่วยเหลือเฮติของประชาคมโลกในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของชาวโลกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้เห็นจำนวนเงินที่รัฐบาลไทยประกาศจะให้เงินช่วยเหลือแก่เฮติ ซึ่งเพียงแค่ 20,000 เหรียญ ผมก็รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนกว่าเราเยอะ ก็ยังประกาศให้ความช่วยเหลือมากกว่าเรา คือ 50,000 เหรียญ

ไม่มีความคิดเห็น: