ข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ ปี 2012
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 – วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2555
ในคอลัมน์โลกทรรศน์ฉบับประจำวันที่ 9 – 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่อง “ข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ ปี 2011” โดยได้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปัจจุบัน สิ่งท้าทายความสัมพันธ์ และความสำคัญของไทยต่อสหรัฐฯ ไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อในหัวข้อ ความสำคัญของสหรัฐฯต่อไทย และข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ ทั้งในระดับทวิภาคี และระดับพหุภาคี ดังนี้
ความสำคัญของสหรัฐฯต่อไทย
สำหรับในแง่ของไทยนั้น สหรัฐฯยังคงมีความสำคัญต่อไทยอยู่หลายเรื่อง ซึ่งจะทำให้ไทยยังต้องให้ความสำคัญต่อสหรัฐฯในยุทธศาสตร์การทูตของไทยต่อไป โดยประเด็นสำคัญ คือ
• สหรัฐฯยังคงเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ระบบโลกยังคงเป็นระบบ 1 ขั้วอำนาจ ที่สหรัฐฯครองความเป็นเจ้า
• ดังนั้น ผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ไทยจะได้จากสหรัฐฯยังมีอีกมาก เริ่มจากผลประโยชน์ทางด้านการเมือง สหรัฐฯยังคงคุมเกมการเมืองโลก มีอิทธิพลในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ดังนั้น ไทยยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งสหรัฐฯอยู่ต่อไป โดยเฉพาะหากไทยต้องการผลักดันเรื่องในเวทีระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในคณะมนตรีความมั่นคง ไทยต้องพึ่งสหรัฐฯในเรื่องความขัดแย้งไทย-กัมพูชา และหากไทยต้องการส่งคนไทยไปเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ ประเทศที่ไทยจะต้องล๊อบบี้ก่อนเพื่อน ก็คือ สหรัฐฯ
• ผลประโยชน์ทางด้านการทหาร ก็ยังคงมีความสำคัญมาก ในการพึ่งพิงกำลังทหารสหรัฐฯ ในการให้หลักประกันความมั่นคงต่อไทย รวมถึงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วย
• สำหรับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นเดียวกัน สหรัฐฯยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย เช่นเดียวกับการลงทุนจากสหรัฐฯ ก็ยังคงมีความสำคัญมาก เงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักของโลก และสหรัฐฯยังคงคุมเกมในระบบเศรษฐกิจโลก ระบบการค้าโลก และระบบการเงินโลกอยู่
• สำหรับผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ ก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ การบริโภควัฒนธรรมอเมริกันของคนไทย และการพึ่งพิงองค์ความรู้และการศึกษาจากสถาบันการศึกษาของสหรัฐฯเป็นหลักของคนไทย
ข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ
จากการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไทยยังคงมีความสำคัญต่อสหรัฐฯอยู่ และสหรัฐฯก็มี
ความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐฯ จะต้องมีเป้าหมายหลักในการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯให้เข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง
ผมขอเสนอยุทธศาสตร์ไทยต่อสหรัฐฯ โดยจะแบ่งเป็นระดับทวิภาคี และระดับพหุภาคี ดังนี้
ระดับทวิภาคี
• ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการคงความเป็นพันธมิตรชั้น 1 ของสหรัฐฯไว้ให้ได้ ตามที่ผมได้กล่าวแล้วว่า ขณะนี้ สหรัฐฯมีตัวเลือก ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่ไทยจะต้องพยายามคงความเป็นพันธมิตรชั้น 1 ไว้ และทำให้ไทยกลับมามีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของสหรัฐฯ
• ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการสร้างสมดุล หรือสร้างดุลยภาพในความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ กับความสัมพันธ์ไทย-จีน
• ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการยกระดับความสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูง และการล๊อบบี้ให้ประธานาธิบดี Obama เดินทางมาเยือนไทย
• เวทีหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯในปัจจุบัน คือ US-Thailand Strategic Dialogue แต่ก็ไม่ค่อยมีความสำคัญ ทั้งนี้เพราะเวทีดังกล่าวเป็นเวทีหารือในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ไทยจะต้องล๊อบบี้ให้สหรัฐฯยกระดับเวทีดังกล่าวขึ้นเป็นเวทีระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
• อีกเรื่องที่ไทยควรผลักดัน คือ การรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งได้สะดุดหยุดลง มาตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาฯ ปี 2006
• นอกจากนั้น ไทยควรมียุทธศาสตร์ในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกๆด้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านการทหาร ด้านการเมืองความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมวัฒนธรรม
ระดับพหุภาคี
สำหรับข้อเสนอยุทธศาสตร์ไทยในระดับพหุภาคีนั้น ไทยควรเน้นประเด็นเหล่านี้
• ไทยควรมียุทธศาสตร์ขยายการซ้อมรบ Cobra Gold ให้เป็นการซ้อมรบในระดับพหุภาคีอย่างเต็มรูปแบบ แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีหลายประเทศได้เข้ามาร่วม ซึ่งก็เป็นการซ้อมรบในระดับพหุภาคีกลายๆอยู่แล้วก็ตาม
• ไทยควรมียุทธศาสตร์ที่จะให้สหรัฐฯใช้ไทยเป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยไทยควรใช้ข้อได้เปรียบที่ผมได้กล่าวไปแล้ว คือ ข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ที่ไทยมีที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
• ข้อได้เปรียบของไทยในการเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไทยน่าจะเอามาใช้ประโยชน์ในการล๊อบบี้ให้สหรัฐฯใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ เป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะกรอบ US-Lower Mekong Initiative ซึ่งเป็นกรอบที่สหรัฐฯริเริ่ม เพื่อขยายอิทธิพลของสหรัฐฯเข้าสู่เขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อแข่งกับจีน
• นอกจากนี้ ไทยควรมียุทธศาสตร์ตอบสนองต่อความหลากหลายของช่องทางและเวทีต่างๆที่สหรัฐฯใช้ในภูมิภาค คือ มีทั้งทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี โดยมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯจะจัดตั้งกรอบความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีมากขึ้น อาทิ สหรัฐฯ-ไทย-ฟิลิปปินส์ และอาจมีหลายกรอบ หลายรูปแบบ ที่สหรัฐฯกำลังศึกษาอยู่ เช่นแนวคิด การประชุม 6 ฝ่าย ซึ่งจะเป็นการหารือระหว่างพันธมิตรหลักๆ 5 ประเทศ กับสหรัฐฯ
• สำหรับในเวทีอาเซียน ไทยควรมียุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯให้ชัดเจน โดยไทยอาจพิจารณาผลักดันการเจรจา FTA อาเซียน-สหรัฐฯ และให้สหรัฐฯเพิ่มบทบาทในเวทีอาเซียน เพื่อถ่วงดุลจีน
• ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังผลักดัน FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP และสหรัฐฯพยายามล๊อบบี้ให้ไทยเข้าร่วม TPP ในประเด็นนี้ ผมมองว่า ไทยควรจะพิจารณาข้อดี-ข้อเสียให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วม FTA ตัวใหม่ที่สหรัฐฯกำลังผลักดัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น