สรุปสถานการณ์โลก ปี 2554 (ตอนจบ)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 6 – วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2555
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ตอนที่แล้ว ผมได้สรุป ประมวลเหตุการณ์สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาไปแล้ว ตั้งแต่อับดับ 10 จนถึงอันดับ 6 คอลัมน์ในวันนี้ จะมาสรุปต่อ ตั้งแต่อันดับ 5 จนถึงอันดับ 1
อันดับ 5 : เกาหลีเหนือ
เหตุการณ์สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ เรื่องที่เกี่ยวกับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะข่าวการเสียชีวิตของผู้นำเกาหลีเหนือ คือ Kim Jong-Il เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ปีที่แล้ว ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลใจต่อประชาคมโลก ถึงอนาคตของรัฐบาลเกาหลีเหนือ และเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ในยุคหลัง Kim Jong-Il
ตั้งแต่มีการสถาปนาประเทศเกาหลีเหนือเมื่อปี 2545 เกาหลีเหนือก็อยู่ภายใต้การนำของตระกูล Kim โดย Kim Il-Sung ได้ปกครองเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 1945-1994 ต่อมา Kim Jong-Il บุตรชายได้เป็นผู้นำต่อ ตั้งแต่ปี 1994 มาจนถึงปลายปี 2011 โดยผู้นำของเกาหลีเหนือคนใหม่ คือ Kim Jong-Un บุตรชายของ Kim Jong-Il ซึ่งมีอายุเพียง 27 ปี และแทบจะไม่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศเลย แม้ว่า Kim Jong-Il จะได้พยายามที่จะสร้างบุตรชายของเขา คือ Kim Jong-Un ให้เป็นผู้นำ มาตั้งแต่ปี 2008 โดยได้รับการแต่งตั้งให้มียศนายพล และมีตำแหน่งระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็ได้มีข่าวว่า ผู้นำทหารหลายคนต่อต้าน Kim Jong-Un ซึ่งในแง่ของบุคลิกภาพและบารมีนั้น Kim Jong-Un ยังคงดูขาดอยู่มาก และดูอ่อนวัย และไร้ประสบการณ์ จึงทำให้ประชาคมโลกหวั่นวิตกถึงอนาคตของเกาหลีเหนือว่า อาจเกิดความวุ่นวายทางการเมือง และอาจเกิดการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะจากฝ่ายทหาร ซึ่งอาจส่งผลกระทบ นำไปสู่สงครามเกาหลีครั้งใหม่ และอาจกระทบต่ออาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้
อันดับ 4 : Arab Spring
สำหรับสถานการณ์โลกอันดับ 4 คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับ ในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Arab Spring โดยในช่วงต้นปี ได้เกิดเหตุการณ์ลุกฮือขึ้นต่อต้านผู้นำเผด็จการในตูนิเซีย อียิปต์ และอีกหลายประเทศในโลกอาหรับ
แต่ที่เป็นประเด็นร้อนที่สุด คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลิเบีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ได้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของ Gaddafi ซึ่งได้ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1969 จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ฝ่ายกบฏได้ยึดเมืองอันดับ 2 ของลิเบีย คือ Benghazi ไว้ได้ ต่อมา ในเดือนมีนาคม UNSC ได้ออกข้อมติบังคับเขตห้ามบิน และจะใช้มาตรการทุกทางในการปกป้องพลเรือน จากการโจมตีของฝ่าย Gaddafi หลังจากนั้น กองกำลังนาโต้ ซึ่งได้ไฟเขียวจาก UNSC จึงได้ปฏิบัติการโจมตีกองกำลังของ Gaddafi โดยเน้นการทิ้งระเบิด เพื่อช่วยเหลือฝ่ายกบฏ จนมาถึงเดือนสิงหาคม หลังจากที่นาโต้ได้ทิ้งระเบิดถล่มเป็นเวลานานถึง 5 เดือน ฝ่ายกบฏก็สามารถบุกเข้ายึดกรุงตริโปลีไว้ได้ และต่อมา ได้จับตัวและสังหาร Gaddafi ในที่สุด
อับดับ 3 : การก่อการร้ายในยุคหลัง Bin Laden
สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ สถานการณ์การก่อการร้ายสากล ซึ่งในปีที่แล้ว ไฮไลท์อยู่ที่การสังหาร Bin Laden
Osama Bin Laden เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากการเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ 2001 โดยรัฐบาล Bush อ้างว่า Bin Laden ผู้นำ al-Qaeda เป็นผู้วางแผนในการก่อวินาศกรรมในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ปฏิบัติการไล่ล่า Bin Laden ได้ดำเนินมาเกือบ 10 ปี โดยมีข่าวว่า Bin Laden ได้หลบซ่อนตัวอยู่ในแถบเทือกเขาบริเวณพรมแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน แต่ในที่สุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีที่แล้ว ก็ได้มีข่าวแพร่ไปทั่วโลกว่า Bin Laden ได้ถูกสังหารแล้ว โดยหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ที่เมือง Abbottabad ใกล้กรุง Islamabad เมืองหลวงของปากีสถาน
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของ Bin Laden ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อสถานการณ์การก่อการร้ายสากล และไม่ใช่จุดจบของการก่อการร้าย การก่อวินาศกรรมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะขณะนี้ ขบวนการก่อการร้ายได้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรย่อยๆอยู่มากมาย ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีอุดมการณ์ร่วมกัน คือ อุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง ที่มีเป้าหมายในการขจัดอิทธิพลของตะวันตกให้ออกไปจากโลกมุสลิม และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้น แม้ว่า สหรัฐฯจะทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาเป็นเวลา 10 ปี แล้ว แต่สงครามกลับยืดเยื้อ และการก่อการร้ายก็เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก แนวคิดของ Bin Laden และ al-Qaeda ก็ได้เป็นอุดมการณ์ที่แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม
อันดับ 2 : การประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ การประชุมภาวะโลกร้อนที่อัฟริกาใต้
ปัญหาภาวะโลกร้อน ถือได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของโลกปัญหาหนึ่ง แต่ก่อนหน้านี้ การประชุมภาวะโลกร้อน ที่กรุงโคเปนเฮเกน ในปี 2009 ก็ประสบความล้มเหลว โดยมี 3 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรก คือ รูปแบบของข้อตกลง ประเทศยากจนต้องการต่ออายุพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศร่ำรวยต้องการสนธิสัญญาฉบับใหม่ เรื่องที่ 2 คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 และเรื่องที่ 3 คือ จำนวนเงินช่วยเหลือประเทศยากจน โดยประเทศยากจนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจ่ายเงิน 1% ของ GDP
สำหรับการประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุดที่เมือง Durban ประเทศอัฟริกาใต้ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว นับว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ที่จะให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ ให้เสร็จภายในปี 2015 และจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2020 โดยข้อตกลงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิก ซึ่งจะแตกต่างจากพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับประเทศอุตสาหกรรม หรือประเทศร่ำรวยเท่านั้น
นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการตกลงจัดตั้ง Green Climate Fund กองทุนวงเงิน 1 แสนล้านเหรียญต่อปี ที่ประเทศร่ำรวยจะช่วยเหลือประเทศยากจนภายในปี 2020
อันดับ 1 : วิกฤต Eurozone
สำหรับสถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ในรอบปีที่ผ่านมา คือ เรื่อง วิกฤต Eurozone
วิกฤตหนี้ของยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินยูโร 17 ประเทศ ที่เรียกว่า Eurozone นั้น ในปีที่แล้ว เป็นปัญหาเข้าขั้นวิกฤต และมีแนวโน้มจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ โดยในตอนแรก รัฐบาลที่ประสบภาวะหนี้สิน ได้แก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ต่อมา วิกฤตได้ลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมา เยอรมนีและฝรั่งเศส ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของ EU ได้เข้าช่วยกรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ แต่การที่วิกฤตได้ลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน ทำให้เยอรมนีและฝรั่งเศสตกอยู่ในสถานะหนักมาก ในแง่เงินที่จะเข้าไปช่วยกอบกู้วิกฤตของอิตาลีและสเปน
ได้มีความพยายามกอบกู้วิกฤต ทั้งในกรอบของ EU IMF และ G20 รวมทั้งธนาคารกลางยุโรป แม้ว่า จะได้ประกาศจะซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีและสเปนแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ต่อมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอด Eurozone ขึ้นหลายครั้งในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถกอบกู้วิกฤตได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการประชุมสุดยอด EU ครั้งล่าสุด ในช่วงเดือนธันวาคม เยอรมนีกับฝรั่งเศสพยายามผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ของ EU เพื่อให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้น แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะอังกฤษได้ออกมาคัดค้าน
วิกฤต Eurozone ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก โดยได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากขึ้นเรื่อยๆว่า กำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่หรือไม่ โดยยังไม่มีความแน่นอนว่า มาตรการกอบกู้วิกฤต โดยเฉพาะของ EU จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้หรือไม่ ดังนั้น โอกาสที่จะวิกฤต Eurozone จะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่ ก็อาจเป็นไปได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น