TPP : ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 – วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม 2554
ภูมิหลัง
TPP ย่อมาจาก Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็น FTA ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่สหรัฐฯผลักดันอย่างมาก โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปคครั้งล่าสุดที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศสมาชิก TPP ซึ่งประกอบด้วย 9 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ได้มีการตกลงกันเกี่ยวกับเค้าโครงของข้อตกลง TPP มีการกำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน ที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลง FTA ที่จะมีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ และทันสมัยที่สุด จะนำไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน และครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าในทุกเรื่อง โดยตั้งเป้าว่า จะเร่งรีบบรรลุข้อตกลงและลงนามภายในปี 2012
สำหรับในเรื่องสมาชิกนั้น ญี่ปุ่นได้ประกาศอย่างเป็นทางการที่จะเข้าร่วม TPP รวมทั้งแคนาดา และเม็กซิโก ดังนั้น ขณะนี้ TPP จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จาก 9 ประเทศ เป็น 12 ประเทศ เป้าหมายระยะยาวของสหรัฐฯ คือ จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นจีน) โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ และเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และ TPP จะเป็นเครื่องมือสำคัญของสหรัฐฯในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป
สาเหตุ
คำถามสำคัญ คือ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของสหรัฐฯในการผลักดัน TPP คำตอบของผม คือ สาเหตุหลัก คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ในอนาคต จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนกำลังจะเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก และในขณะที่จีนผงาดขึ้นมา อำนาจของสหรัฐฯก็ตกต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้น ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม เป็นคู่แข่ง และท้าทายการเป็นเจ้าครองโลกของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อยๆ และมองว่า เป้าหมายหลักของจีน คือ การก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค และในระยะยาว ก็จะเป็นเจ้าในระดับโลกด้วย ดังนั้น ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯต่อจีน คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ที่ผ่านมา สหรัฐฯจะเน้นยุทธศาสตร์การปิดล้อมทางทหาร แต่ในปัจจุบัน สหรัฐฯได้ขยายขอบเขตการปิดล้อมครอบคลุมทางเศรษฐกิจด้วย โดย TPP จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
อีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุผลแรก คือ การที่สหรัฐฯผลักดัน TPP เพราะสหรัฐฯกลัวการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรอบอาเซียน+3 ซึ่งอาจพัฒนาเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก โดยจะมีจีนเป็นผู้นำ รวมทั้งแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ในกรอบอาเซียน+3 และยังมี FTA อาเซียน+1 อยู่อีกมากมาย อาทิ FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น พัฒนาการของ FTA เหล่านี้ ไม่มีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วยเลย ดังนั้น เพื่อป้องกันแนวโน้มดังกล่าว สหรัฐฯต้องป้องกันการรวมกลุ่มในเอเชียตะวันออก โดยมีจีนเป็นผู้นำ สหรัฐฯจึงได้ผลักดัน TPP ซึ่งจะเป็น FTA ที่จะมีสหรัฐฯเป็นแกนนำและเป็นผู้นำ
การปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ในช่วงต้นเดือนธันวาคม รัฐบาลสหรัฐฯได้เชิญทูตของประเทศที่เป็นสมาชิก TPP 8 ประเทศ มาร่วมประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี ซี USTR ของสหรัฐฯ คือ Ron Kirk ได้ประกาศว่า ต้องการให้มีการลงนามใน TPP ภายในปี 2012
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม Kevin Brady ประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้เรียกประชุมหารือในเรื่อง TPP และได้กล่าวว่า มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องบรรลุข้อตกลง TPP ให้เร็วที่สุด โดยข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นข้อตกลงสำหรับศตวรรษที่ 21 ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จที่สุด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีน ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ก็ได้จัดประชุมระหว่างประเทศ ที่กรุงปักกิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากจีน และประเทศต่างๆในภูมิภาค เพื่อหารือถึงแนวโน้ม และผลกระทบของ TPP ต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งต่อจีน บรรยากาศในจีนขณะนี้ มีการถกเถียงกันอย่างมากถึงผลกระทบของ TPP หลังจากการประชุมสุดยอด TPP ครั้งล่าสุดที่ฮาวาย
หลายฝ่ายกำลังวิตกกังวลว่า จีนกำลังถูกกีดกันออกจาก TPP โดยจีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจา เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP จากสหรัฐฯ และในอนาคต ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆเลย ที่จะแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯต้องการที่จะเชื้อเชิญจีนให้เข้าร่วม TPP โดยได้มีการวิเคราะห์กันว่า จะมีความยากลำบากอย่างยิ่งต่อจีนที่จะเข้าร่วม TPP โดย TPP จะแบ่งแยกภูมิภาค เหมือนกับเป็นการขีดเส้นแบ่งกลางมหาสมุทร แปซิฟิก และที่น่าเป็นห่วง คือ อาจจะมีการกีดกันประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก รวมทั้งจีน
หรือถ้าหากในอนาคต จีนอยากจะเข้าร่วม TPP ก็คงจะต้องเข้าร่วมตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ เพราะขณะนี้ สหรัฐฯได้ครอบงำ TPP อย่างเต็มตัวแล้ว โดยยังมีความไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงที่จะลงนามกันในปลายปี 2012 นี้ จะมีการเปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในภายหลังได้อย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีการมองกันด้วยว่า ในที่สุด TPP อาจจะมีลักษณะของการเจรจาทวิภาคีทับซ้อนอยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่า ประเทศที่จะเข้าร่วมภายหลัง จะต้องเจรจาหารือทวิภาคีกับสหรัฐฯก่อนที่จะเข้าร่วม TPP และถ้าหากเงื่อนไขเป็นเช่นนั้น ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับประเทศที่จะเข้าร่วมใหม่ โดยเฉพาะกับ จีน จะต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงว่า สภาคองเกรสคงจะไม่อนุมัติ เพราะกระแสต่อต้านจีนในสภาคองเกรส ขณะนี้มีอยู่สูงมาก
Peter Drysdale นักวิชาการชื่อดังของออสเตรเลีย ก็ได้ให้ทัศนะว่า เป้าหมายของ TPP คือ จะเป็น FTA ที่ทันสมัยสำหรับศตวรรษที่ 21 แต่หาก TPP มีการกีดกัน โดยเฉพาะกีดกันตัวแสดงทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเช่น จีน ซึ่งถือได้ว่า เป็นหัวใจของพลวัตรทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก TPP ก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหลักที่จะเป็น FTA ที่ดีที่สุดได้ Drysdale ยังได้เสริมว่า เป้าหมายที่จะบรรลุข้อตกลงภายใน 1 ปีนั้น เร็วเกินไป หาก TPP จะเป็น FTA ที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีตารางเวลา ที่จะให้เวลากับการเจรจาในประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนหลายเรื่อง
ดังนั้น จากแนวคิดของ Drysdale ผมจึงมองว่า การที่สหรัฐฯกีดกันจีน และเร่งรีบทำข้อตกลง น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์เป็นหลัก
ดังนั้น แนวโน้มในอนาคต จากการที่สหรัฐฯใช้ TPP ในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันหนักขึ้น โดยจีนอาจหันมาผลักดัน FTA ในกรอบอาเซียน+3 เพื่อแข่งกับ TPP ของสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้ เพราะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นลูกไล่ของสหรัฐฯมาโดยตลอด ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อ FTA อาเซียน+3 อีกแล้ว แต่กลับมาสนับสนุน FTA ในกรอบอาเซียน+6 แทน เราจึงคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า การแข่งขันในรูปแบบใหม่ในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ ระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะมีวิวัฒนาการไปในทิศทางใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น