Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2555 (ตอนจบ)

แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2555 (ตอนจบ)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพุธที่ 11 มกราคม 2555

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2555 ไปบ้างแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงแนวโน้มสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ดังนี้

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ

ความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องจับตามองในปีนี้ โดยความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดของความขัดแย้งที่สำคัญ คือ

• เกาหลีเหนือ : ในอนาคต รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจล่มสลาย สหรัฐฯอาจส่งทหารเข้าแทรกแซง เพื่อป้องกันการใช้อาวุธร้ายแรง ซึ่งจะทำให้จีนต้องส่งกองกำลังเข้าไปในเกาหลีเหนือ สงครามเกาหลีเหนือ ภาค 2 อาจจะเกิดขึ้น

• ไต้หวัน : จุดที่ 2 ของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ ไต้หวัน โดยหากเกิดสงคราม จะดึงสหรัฐฯให้เข้ามาปกป้องไต้หวัน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย

• ทะเลจีนใต้ : จุดที่ 3 ที่อาจเป็นจุดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือ ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะหากเกิดสงครามระหว่างจีนกับเวียดนาม และจีนกับฟิลิปปินส์ จะดึงสหรัฐฯให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้

• ญี่ปุ่น : ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น อาจเกิดขึ้นในทะเลจีนตะวันออก เป้าหมายของสหรัฐฯ คือ การเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่น ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการลุกลามบานปลายของสงคราม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยป้องปรามสงคราม คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ โดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเกิดสงคราม ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับผลกระทบในทางลบอย่างมากในทางเศรษฐกิจ

อีกเรื่องที่จีนกับสหรัฐฯจะขัดแย้งกัน คือ สงครามค่าเงิน ปีที่แล้ว มีความพยายามผ่านร่างกฎหมายตอบโต้จีน จากการที่จีนมีค่าเงินหยวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ปีนี้ จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มชัดเจนว่า นักการเมืองสหรัฐฯ กำลังใช้นโยบายต่อต้านจีนมาเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างคะแนนนิยม

ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯ คือ ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่ที่ผ่านมา สหรัฐฯเน้นยุทธศาสตร์การปิดล้อมทางทหาร แต่ในปัจจุบันและในอนาคต สหรัฐฯได้ขยายการปิดล้อมครอบคลุมทางเศรษฐกิจด้วย โดยมี TPP เป็นเครื่องมือสำคัญในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ จีนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม TPP แต่การที่สหรัฐฯใช้ TPP ในการปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ จะทำให้จีนกับสหรัฐฯขัดแย้งกันหนักขึ้น จีนจะหันมาผลักดัน FTA ในกรอบของอาเซียน+3 เพื่อแข่งกับ TPP ของสหรัฐฯ การแข่งขันในเชิงภูมิเศรษฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังจะรุนแรงมากขึ้น

ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

สำหรับในภูมิภาค สถานการณ์ความมั่นคงในปีนี้ ที่ต้องติดตาม คือ แนวโน้มความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะในกรณีปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในแง่หนึ่ง จีนต้องการชูสโลแกนการผงาดขึ้นมาอย่างสันติ โดยไม่ต้องการมีปัญหาขัดแย้งกับใคร โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ต้องการเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และการครอบครองทะเลจีนใต้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน แต่จากท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านหวั่นวิตก มหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มอำนาจทางทหารมากขึ้น เพื่อปิดล้อมจีน ประเทศต่างๆในภูมิภาคมีแนวโน้มใกล้ชิดกับสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น เพื่อดึงสหรัฐฯเข้ามาถ่วงดุลอำนาจกับจีน แนวโน้มเช่นนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้บานปลายมากขึ้น สหรัฐฯมีแนวโน้มดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เพื่อปิดล้อมจีนมากขึ้น โดยเฉพาะการประกาศตั้งฐานทัพใหม่ที่เมือง Darwin ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ในปีนี้ ก็จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ คุกรุ่นและร้อนแรงมากขึ้น

Arab Spring

ปีที่แล้ว ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอาหรับ คือ การลุกฮือขึ้นโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Arab Spring แต่คำถามสำคัญ คือ จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในโลกอาหรับ

ในปีนี้ จึงต้องจับตามองว่า กระบวนการประชาธิปไตยจะเดินหน้าไปอย่างไร จากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ หลังจากผู้นำเผด็จการถูกโค่นล้มอำนาจลง หลายกรณี ในตอนแรก แนวร่วมรัฐบาลเผด็จการมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การโค่นเผด็จการ แต่หลังการโค่นเผด็จการได้สำเร็จ ก็มักจะเกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกัน บางครั้งอาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง

ที่น่าเป็นห่วง คือ ในกรณีของ อียิปต์ และลิเบีย โดยเฉพาะในกรณีของลิเบีย ฝ่ายต่อต้าน Gaddafi เป็นการรวมกันของหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่เป็นฝ่าย Gaddafi เดิม ผู้นำชนเผ่าต่างๆ ประมาณ 140 เผ่า และยังมีกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน Gaddafi ด้วย ความขัดแย้งในรัฐบาล NTC ขณะนี้ คือ ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ กลุ่มหัวรุนแรงไม่น้อยได้เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ โดยมองว่า ความวุ่นวายในลิเบีย เป็นการเปิดโอกาสในการบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การโค่นรัฐบาลสายกลาง และจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในลิเบีย ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า ลิเบียในยุคหลัง Gaddafi อาจประสบความวุ่นวาย และไร้เสถียรภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Libyan Islamic Fighting Group กำลังรอจังหวะจากสภาวะอนาธิปไตย เพื่อที่จะเข้ายึดกุมอำนาจรัฐ

ปัญหาภาวะโลกร้อน

แม้ว่า ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว การประชุมภาวะโลกร้อนครั้งล่าสุด ที่เมือง Durban ที่อัฟริกาใต้ จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยได้ตกลงที่จะเจรจาข้อตกลงแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนฉบับใหม่ แทนที่พิธีสารเกียวโต ให้เสร็จภายในปี 2015 และจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม Durban Platform ถือเป็นข้อตกลงที่จะเริ่มการเจรจากันเท่านั้น แต่การเจรจายังไม่ได้เริ่ม และเมื่อมีการเจรจาจริง ก็จะเริ่มมีอุปสรรค ที่จะทำให้การเจรจาประสบความล้มเหลวในอนาคตได้

มี 2 เรื่องใหญ่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ เรื่องแรก คือ รูปแบบข้อตกลง ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่า จะเป็นในรูปพิธีสาร หรือ legal instrument หรือ legal outcome แต่เรื่องที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการเจรจาในปีนี้ คือ การกำหนดปริมาณการปรับลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคงจะมีปัญหาแน่นอน เพราะท่าทีเดิมของประเทศยากจน คือ ต้องการให้ประเทศร่ำรวยปรับลดก๊าซลง 40% ภายในปี 2020 แต่ประเทศร่ำรวยส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: