แนวโน้มสถานการณ์โลก ปี 2555 (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2554
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ เป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ผมจึงจะขอวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2555 ซึ่งมีสถานการณ์หลายเรื่อง ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ดังนี้
เกาหลีเหนือ
เรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ สถานการณ์ในเกาหลีเหนือ ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของ Kim Jong-Il ในช่วงเดือนธันวาคม Kim Jong-Un ก็ได้สืบทอดอำนาจต่อ แต่โดยที่ Kim Jong-Un มีอายุเพียง 27 ปี และขาดประสบการณ์และบารมี จึงทำให้สถานการณ์ล่อแหลมมาก ที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นในเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาล และเกิดสงครามเกาหลีครั้งใหม่ขึ้น
มีหลายปัจจัยที่อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย ปัจจัยแรก คือ Kim Jong-Un อาจจะต้องการพิสูจน์ว่า เขามีความสามารถและบารมี ด้วยการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ในคาบสมุทรเกาหลี
ปัจจัยการเมืองภายในก็ค่อนข้างล่อแหลม ที่จะนำไปสู่ความวุ่นวาย เพราะการขาดประสบการณ์ของ Kim Jong-Un และปราศจากฐานอำนาจทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ผู้นำทหารกระด้างกระเดื่อง และอาจโค่นล้มรัฐบาลของ Kim Jong-Un ได้
ดังนั้น ปัจจัยในเชิงลบมีหลายปัจจัย ซึ่งจะนำไปสู่ worst-case scenario คือ อาจเกิดการต่อสู้ทางการเมืองภายในกลุ่มผู้ปกครอง และอาจมีการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลจากประชาชน หรืออาจมีการเผชิญหน้ากับเกาหลีใต้ ซึ่งอาจลุกลามใหญ่โตจนอาจกลายเป็นสงคราม
ซึ่งหากเกิด scenario นี้ขึ้นจริง ก็อาจดึงให้มหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐฯได้
วิกฤต Eurozone
อีกเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในปีหน้า คือ เรื่องวิกฤตหนี้ยุโรป หรือวิกฤต Eurozone ซึ่งในปีนี้ สถานการณ์ลุกลามบานปลาย และทรุดหนักลงเรื่อยๆ แม้จะมีมาตรการต่างๆออกมา แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะกอบกู้วิกฤตนี้ได้ โดยมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้วิกฤต Eurozone ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหญ่
ปัจจัยประการแรก คือ มีความเป็นไปได้ว่า Eurozone อาจแตกสลาย โดยเริ่มจากมีบางประเทศถอนตัวออกจาก Eurozone ซึ่งประเทศแรกน่าจะเป็นกรีซ ยังไม่มีความแน่นอนว่า กรีซจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายได้หรือไม่ และธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้หรือไม่
และหากกรีซล้มละลาย ก็อาจเกิดภาวะ domino effect ทำให้วิกฤตลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งขณะนี้ ก็เริ่มมีปัญหาบ้างแล้ว ในอนาคต หากวิกฤตลุกลามบานปลายเข้าสู่ทั้ง 2 ประเทศ กองทุน EFSF ซึ่งขณะนี้มีเงินอยู่เพียง 5 แสนล้านล้านยูโร ก็จะไม่สามารถเข้าไปกอบกู้อิตาลีและสเปนได้
อีกปัจจัย คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่า จะมีการเพิ่มทุน 1 แสนล้านยูโร แต่อาจไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านยูโร
อีกปัจจัย คือ สถานการณ์ความเชื่อมั่นของ Eurozone ทรุดหนักลงเรื่อยๆ S&P ได้คาดการณ์ว่า มีโอกาสถึง 50% ที่สมาชิก Eurozone 6 ประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี อาจถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง
อิหร่าน
สถานการณ์โลกจุดที่ 3 ที่จะต้องจับตามอง คือ อิหร่าน โดยในปีนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ที่เกี่ยวกับอิหร่าน คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน และการที่ IAEA ประกาศว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ในปีหน้า มีแนวโน้มว่า ปัญหาอิหร่านจะกลายเป็นวิกฤต ทั้งนี้ เพราะ Obama ได้ออกมาประกาศกร้าวว่าจะตอบโต้อิหร่าน ด้วยมาตรการตอบโต้ทุกรูปแบบ รวมทั้งมาตรการตอบโต้ทางทหาร นอกจากนี้ ในปีหน้า เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ Obama คงจะถูกกดดันอย่างหนักที่จะต้องแข็งกร้าวต่ออิหร่าน มิเช่นนั้น จะถูกพรรครีพับลิกันโจมตีในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
และตั้งแต่ IAEA ประกาศว่า อิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็ได้มีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆในสหรัฐฯ ที่จะให้รัฐบาลใช้กำลังทางทหารโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน เพื่อเป็นการตัดไฟต้นลมก่อนที่จะสายเกินไป
การก่อการร้ายสากล
ในปีหน้า ปัญหาการก่อการร้าย ยังจะคงเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลกต่อไป แม้ว่า ปีนี้ สหรัฐฯจะสามารถสังหาร Bin Laden ได้สำเร็จ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะเป็นจุดจบของการก่อการร้าย การก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมจะยังอยู่กับเราไปอีกนาน ซึ่งในปีหน้า สถานการณ์การก่อการร้ายจะมีอยู่หลายมิติด้วยกัน
มิติแรก คือ มิติขององค์กร al-Qaeda ซึ่งเป็นแกนกลางของการก่อการร้ายสากล al-Qaeda ได้ปรับองค์กรจากการรวมศูนย์เป็นการกระจายตัว ขณะนี้ มีสาขาย่อยทั่วโลก ในลักษณะ franchise มียุทธศาสตร์ที่เรียกว่า one man one bomb ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่จะมีระเบิดฆ่าตัวตาย ก็มีอยู่สูง
ในอัฟกานิสถานและในปากีสถาน ก็มีความร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น ระหว่าง al-Qaeda กับ Taliban และในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะโลกอาหรับ แม้ว่า จะมี Arab Spring แต่ al-Qaeda ก็กำลังรอจังหวะสภาวะสุญญากาศแห่งอำนาจ และฉวยโอกาสจากสภาวะดังกล่าว เข้ายึดกุมอำนาจรัฐ
แนวร่วมขององค์กร al-Qaeda ในโลกมุสลิมมีอยู่มากมายหลายกลุ่ม อาทิ al-Qaeda in the Arabian Peninsula กลุ่ม Al-Shabaab ในโซมาเลีย กลุ่ม al-Qaeda in the Islamic Magherb ทางตอนเหนือของอัฟริกา กลุ่ม Lashkar e-Tayyiba ในอินเดียและปากีสถาน กลุ่ม al-Qaeda in Iraq และกลุ่ม Jemaah Islamiyah หรือ JI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งกลุ่ม Abu Sayyaf ในฟิลิปปินส์
(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น