Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์ตะวันตก ปี 2012

ยุทธศาสตร์ตะวันตก ปี 2012 ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 9 – วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2555 เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา Philip Gordon อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ที่ International Institute for Strategic Studies กรุงวอชิงตัน ดี ซี ในหัวข้อ “The United States and Europe: Meeting Global Challenges” ซึ่งสุนทรพจน์ดังกล่าว ถือเป็นการประกาศยุทธศาสตร์ของตะวันตกล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุป วิเคราะห์ สุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้ ตะวันตกในสมัยรัฐบาล Bush และ Obama Gordon ได้กล่าวในตอนแรกว่า เอกภาพของตะวันตกมีปัญหาในสมัยรัฐบาล Bush โดยมีความแตกแยกกันหลายเรื่อง อาทิ สงครามอิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียก็ตกต่ำลงอย่างมาก ต่อมา ในสมัยรัฐบาล Obama เรื่องเร่งด่วนสำคัญ คือ การสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในโลกตะวันตก Obama กล่าวว่า ยุโรป คือ หุ้นส่วนที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Obama ก็ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับยุโรป โดย Hillary Clinton เดินทางไปเยือนยุโรปเกือบ 30 ครั้ง ในขณะที่ Obama เยือนยุโรปมาแล้ว 10 ครั้ง Gordon ได้กล่าวประเมินว่า 3 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรปดีขึ้นมาก และได้มีความร่วมมือในการแก้ปัญหาของโลกต่างๆ ดังนี้ อัฟกานิสถาน ขณะนี้ มีกองกำลังนาโต้ปฏิบัติการอยู่ในอัฟกานิสถาน ซึ่งประกอบด้วยทหารจากยุโรป เกือบ 40,000 คน ซึ่งถือเป็นกองกำลังนาโต้ที่มีจำนวนมากที่สุด นาโต้ยึดหลักการ “in together, out together” คือ อยู่ก็อยู่ด้วยกัน ถ้าถอนก็ถอนออกมาด้วยกัน เรื่องการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014 จะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการประชุมสุดยอดนาโต้ ในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ ที่ชิคาโก ลิเบีย สำหรับในกรณีของลิเบีย ตะวันตกก็ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยตะวันตกได้ผลักดันข้อมติของ UNSC และต่อมาสหรัฐฯได้ร่วมกับกองกำลังนาโต้ ในการโจมตีกองกำลังของ Gaddafi ขณะนี้ สหรัฐฯกำลังร่วมมือกับยุโรปในการเปลี่ยนผ่านลิเบียไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย อิหร่าน เช่นเดียวกัน ในกรณีของอิหร่าน ตะวันตกก็ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ อิหร่านกำลังแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯและยุโรปได้ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทางการทูต แต่อิหร่านก็ไม่สนใจ ต่อมา ตะวันตกจึงต้องดำเนินยุทธศาสตร์ 2 ช่องทาง คือ เปิดช่องทางการเจรจาพร้อมกับกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตร EU ร่วมมือกับสหรัฐฯอย่างใกล้ชิด ใน UNSC ใน IAEA และล่าสุด EU ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ไม่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน และอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอิหร่าน ซีเรีย ท่าทีของตะวันตก คือ เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ที่รัฐบาล Assad ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายต่อต้าน ตะวันตกได้ร่วมมือกันผลักดันมาตรการคว่ำบาตร และมาตรการทางการทูต ในเวที UN เพื่อขอการสนับสนุนจากประชาคมโลก ให้ยุติการใช้ความรุนแรงโดยทันที ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว Clinton ร่วมกับผู้นำยุโรป และผู้แทนจาก 60 ประเทศ ประชุมกันที่ตูนิเซีย เพื่อประสานท่าทีในการแก้ปัญหาซีเรีย ซึ่งในเรื่องนี้ ก็เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯกับยุโรปร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ยุโรป สำหรับปัญหาในคาบสมุทรบอลข่าน สหรัฐฯได้ร่วมมือกับ EU อย่างใกล้ชิด และสามารถผลักดันให้มีการทำข้อตกลงระหว่างเซอร์เบียกับโคโซโวได้สำเร็จในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียนั้น ตะวันตก มีสวิตเซอร์แลนด์เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งได้มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างคู่กรณี และนำไปสู่การเชิญรัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO สำหรับในกรณี วิกฤต Eurozone นั้น สหรัฐฯกับ EU ได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด Obama ได้หารือกับผู้นำยุโรปอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ คือ Timonthy Geithner ก็ติดต่อกับรัฐมนตรีคลังของยุโรปอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน Gordon ได้กล่าวว่า สหรัฐฯยินดีที่ผู้นำยุโรปสามารถผลักดันมาตรการกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการประชุมสุดยอด EU ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ผลักดันให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น และให้ประเทศที่ประสบกับภาวะหนี้สิน โดยเฉพาะกรีซ อิตาลี และสเปน มีมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง นาโต้ สำหรับนาโต้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพันธมิตรทางทหารของตะวันตกที่สำคัญที่สุด ก็กำลังจะมีการประชุมสุดยอดครั้งใหม่ที่ชิคาโก ในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะนี้ นาโต้มีสมาชิกถึง 28 ประเทศ และมีบทบาทสำคัญในยุโรป และได้ขยายบทบาทออกไปนอกยุโรปด้วย โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน อัฟริกา และลิเบีย โดยในการประชุมที่ชิคาโก เรื่องสำคัญ น่าจะเป็นแผนการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014 ในตอนท้ายของสุนทรพจน์ Gordon ได้กล่าวว่า ยังมีความร่วมมือของตะวันตกอีกหลายเรื่องที่เขาไม่มีเวลาได้กล่าวถึง อาทิ บทบาทของตะวันตกในการส่งเสริมประชาธิปไตยในอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ความสัมพันธ์กับจีนที่กำลังผงาดขึ้นมา รวมทั้งเรื่องเกาหลีเหนือ ภาวะโลกร้อน และปัญหาของโลกอีกมากมายหลายเรื่อง กล่าวโดยสรุป สุนทรพจน์ของ Gordon ได้ชี้ให้เห็นว่า ตะวันตก ซึ่งมีสหรัฐฯและยุโรป เป็นแกน ยังคงมีบทบาทครอบงำการเมืองโลกและเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก ตะวันตกก็คงจะครอบงำโลกต่อไปอีกนาน และประเด็นปัญหาของโลกในทุกๆเรื่อง ก็จะมีตะวันตกเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเหล่านี้เกือบทั้งหมด

ไม่มีความคิดเห็น: