การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ตอนที่ 1)
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยในช่วงนี้เป็นขั้นตอนของการเลือกตัวแทนพรรค การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีนี้จะเป็นปีพิเศษ เพราะถ้าหาก Hillary Clinton ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก แต่หาก Barack Obama ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรก และหาก John McCain ได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุมากที่สุด คือ 72 ปี
Super Tuesday
การเลือกตั้งขั้นต้นที่เป็นการเลือกตัวแทนของพรรคทั้ง 2 พรรคนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเริ่มจากที่รัฐ Iowa ก่อน แต่มาถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีการลงคะแนนเสียงกันถึง 24 รัฐ ซึ่งถือเป็นวันที่มีความสำคัญมากที่สุด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Super Tuesday
ทางฝากของพรรครีพับลิกันนั้น John McCain ชนะอย่างขาดลอย โดยชนะคู่แข่งอย่าง Huckabee และ Romney ซึ่งทั้ง 2 คนก็มาแย่งคะแนนกันเอง ในรัฐเล็ก ๆ ส่วน McCain ชนะในรัฐใหญ่ เช่น รัฐ New York , California และรัฐในบริเวณที่เรียกว่า New England ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ
โดยสรุปแล้ว McCain ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (delegates) ไปได้ถึง 600 คะแนน ในขณะที่ Huckabee ได้เพียง 155 คะแนน และ Romney ได้ 200 คะแนน Huckabee ชนะในรัฐเล็ก ๆ โดยเฉพาะรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เช่น Georgia, Alabama, Louisiana ส่วน Romney ได้คะแนนจากทางตะวันตก คือรัฐเล็กๆ เช่นรัฐ Utah
อย่างไรก็ตาม หลังจาก Romney ได้พ่ายแพ้ในวัน Super Tuesday เขาก็ได้ถอดใจและถอนตัวออกจากการแข่งขัน ในขณะนี้จึงเหลือเพียง McCain และ Huckabee เท่านั้น ซึ่ง McCain ก็นำห่างชนิดที่ Huckabee ไม่มีทางไล่ทัน ดังนั้น McCain ก็คงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันมาสู้กับตัวแทนพรรคเดโมแครตในปลายปีนี้อย่างแน่นอน
McCain ถูกมองว่า มีแนวโน้มมากที่สุดที่จะชนะคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต แต่จุดยืนของ McCain ก็ไม่ค่อยคงเส้นคงวา บางเรื่องก็มีจุดยืนลักษณะสายกลาง บางเรื่องก็เอียงไปทางเสรีนิยม แต่บางเรื่องก็เอียงไปทางอนุรักษ์นิยม อาทิ ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ จุดยืนของ McCain เป็นสายเหยี่ยว หรืออนุรักษ์นิยมขวาจัดอย่างชัดเจน แต่จุดยืนต่อปัญหาภายในประเทศ ด้านปัญหาสังคม กลับไม่เป็นอนุรักษ์นิยม โดยเขามีท่าทีไม่เห็นด้วยกับนโยบายลดภาษีของรัฐบาล Bush และมีท่าทีเมินเฉยต่อการแต่งงานของพวกรักร่วมเพศ และเรื่องการทำแท้ง ซึ่งเรื่องเหล่านี้พวกอนุรักษ์นิยมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ออกมาต่อต้าน McCain และหันไปสนับสนุน Huckabee และ Romney ที่มีจุดยืนเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่า
สำหรับทางฟากพรรคเดโมแครตนั้น ก็เป็นการต่อสู้กันอย่างเข้มข้น ระหว่าง Hillary Clinton และ Obama โดย Obama ได้ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาอย่างมาก โดยชนะ Hillary ในแถบภาคตะวันตกกลาง (Mid West) รัฐทางใต้และรัฐเล็ก ๆ ทางตะวันตก ในวัน Super Tuesday Obama ชนะถึง 13 รัฐ ก่อนหน้านี้ Obama ได้แรงสนับสนุนจากการที่ Edward Kennedy ซึ่งเป็นน้องชายของอดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้ออกมาให้การสนับสนุน Obama อย่างเต็มที่ โดยเปรียบ Obama ว่าเป็น John F. Kennedy คนใหม่ ฐานคะแนนสำคัญของ Obama คือ คนผิวดำ กลุ่มผู้ชายผิวขาว ซึ่งไม่สนับสนุน Hillary เพราะเป็นผู้หญิง และกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มอง Obama ว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และต้องการการเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกา
สำหรับในส่วนของ Hillary นั้น ในวัน Super Tuesday ก็ชนะ Obama ในรัฐใหญ่ๆ โดยเฉพาะในรัฐ California รัฐทางแถบ New England โดยเฉพาะรัฐ Massachusetts ถึงแม้ Hillary จะยังนำ Obama อยู่ แต่ก็นำอยู่ไม่มาก คะแนนนำของ Hillary ตกลงไปเรื่อย ๆ เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว Hillary นำ Obama อยู่ถึง 2 ต่อ 1 คือประมาณ 40% ต่อ 20% แต่ขณะนี้ Obama ไล่กวดขึ้นมาเกือบจะเท่ากันแล้ว คือ ประมาณ 44% ต่อ 42% ฐานเสียงสำคัญของ Hillary คือ กลุ่มผู้หญิง และกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเม็กซิกัน ที่เราเรียกว่า Latinos
ดังนั้น ในช่วงที่เหลือ ทั้งสองคนก็คงจะต่อสู้กันอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งอาจยืดเยื้อไปจนถึงการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนสิงหาคม
จุดแข็งของ Obama คือ การพูดในลักษณะปลุกกระแสได้อย่างดี Obama มีความสามารถพิเศษในการกล่าวสุนทรพจน์ ซึ่ง Hillary ดูเหมือนจะสู้ไม่ได้ในเรื่องนี้ แต่จุดแข็งของ Hillary คือ การมีประสบการณ์ และมีข้อมูลในเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของ Hillary คือ ต้องพยายามดึงเอา Obama มาถกเถียงกันในลักษณะโต้วาทีสองต่อสอง และ Hillary ก็จะใช้ความสามารถที่เหนือกว่าในการวิพากษ์วิจารณ์แนวนโยบายของ Obama ซึ่งมีจุดอ่อนคือ เลื่อนลอยและเป็นอุดมคติ ในขณะที่นโยบายของ Hillary ดูจะเป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติในโลกของความเป็นจริงได้มากกว่า
แนวโน้ม
สำหรับสถานการณ์ล่าสุดนั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Obama ก็ชนะ เพิ่มขึ้นอีก โดยชนะในรัฐ Louisiana, Nebraska ,Washington และ Maine ทำให้ขณะนี้ Hillary นำ Obama อยู่เพียงไม่กี่สิบคะแนน Hillary ได้คะแนนอยู่ในขณะนี้ 1084 คะแนน ในขณะที่ Obama ได้ 1057 คะแนน คนที่ได้ 2025 คะแนน จะถือว่าชนะได้เป็นตัวแทนพรรค เพราะฉะนั้น ยังจะต้องต่อสู้กันอีกหลายยก
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบผลการเลือกตั้งในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในรัฐ Maryland, Virginia และเขต Washington D.C. ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้ว Obama น่าจะชนะในทั้ง 3 เขตนี้ เพราะมีคนผิวดำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นฐานสำคัญของ Obama ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า คะแนนรวมของ Obama จะแซง Hillary จากจุดนี้ไป
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ในวันที่ 4 มีนาคม จะมีการเลือกตั้ง ในรัฐใหญ่ คือ Ohio และ Texas ซึ่งแนวโน้ม Hillary น่าจะชนะและอาจพลิกกลับมานำในคะแนนรวม แต่ก็คงจะนำไม่มาก ซึ่งหลังจากนั้นคงจะต้องไปวัดกันอีกทีในวันที่ 22 เมษายน ที่จะมีการเลือกตั้งในรัฐ Pennsylvania
แต่ในที่สุดแล้ว ผมเดาว่า คะแนนคงจะต่างกันไม่มาก คงจะต้องไปตัดสินกัน ในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือน สิงหาคม ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้น จะมีคณะผู้เลือกตั้งที่ได้รับการเลือกเข้ามากว่า 4,000 คน ซึ่งน่าจะ เป็นคะแนนของ Hillary ประมาณ 2,000 คน และของ Obama น่าจะไล่เลี่ยกันคือประมาณ 2,000 คน
ดังนั้น แนวโน้มจึงมีความเป็นไปได้ว่า การตัดสินเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครต อาจจะต้องตัดสินโดยกลุ่มคน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Super Delegates ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 800 คน Super Delegates มีลักษณะเหมือนมีสถานะเป็น VIP ของพรรค ประกอบด้วย สมาชิกพรรคที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกพรรคที่ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานาธิบดี และอดีตรองประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอื่น ๆ ที่มีตำแหน่งบริหารในระดับสูง แนวโน้มในขณะนี้ คิดว่าเสียงส่วนใหญ่ของ Super Delegates อาจจะเทเสียงส่วนใหญ่ไปทาง Hillary มากกว่าทางฝั่งของ Obama ทั้งนี้ เพราะอิทธิพลของ Bill Clinton ซึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดี และยังมีเครือข่ายในพรรค ซึ่ง Bill Clinton ก็คงจะ lobby ช่วยหาเสียงให้กับ Hillary อย่างเต็มที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น